สถานีวิทยุโทรทัศน์ส่วนกลางแห่งประเทศจีน (China Media Group หรือ CMG) จัดเสวนาเรื่อง "โอกาสประชาคมโลกจากการปฏิรูปเชิงลึกของจีนยุคใหม่" เมื่อวันที่ 31 กรกฏาคม 2567 ที่ห้องประชุมปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เพื่อให้ประชาคมโลกเข้าใจนโยบายดำเนินการปฏิรูปเชิงลึกของประเทศจีนหลังการประชุมเต็มคณะครั้งที่ 3 ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ชุดที่20 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อกลางเดือนกรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา

โดยภายในงานได้เปิดคลิปจาก นายเซิ่น ไห่สง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสื่อสารมวลชนและผู้อำนวยการ China Media Group (CMG)  และ  ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ อธิการดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU)   นายหลี่ เฟิง รองผู้อำนวยการ และ บรรณาธิการใหญ่ CMG ASIA-PACIFIC ร่วมกล่าวต้อนรับ   นายหาน จื้อเฉียง  เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้ปาฐกถาหลัก   นอกจากนี้ยังมีแขกผู้มีเกียรติและผู้ปาฐกถา อาทิ นายพีร์ ชูศรี รองผู้อำนวยการ  และ นายลิขิต วรานนท์ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาและสร้างดาวเทียม   สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  นายไกรสินธุ์ วงศ์สุรไกร กรรมการเลขาธิการสภาธุรกิจไทยจีน  กรรมการรองเลขาธิการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ดร.วิรุฬห์ พิชัยวงศ์ภักดี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางไทย-จีน  ดร.กำพล มหานุกูล นายกสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน   และผู้บริหาร DPU นักเรียนนักศึกษาทั้งไทยและจีนเข้าร่วมงานจำนวนมาก ซึ่งภายในงานได้มีการจัดแสดงภาพผลงานสร้างสรรค์ของนักเรียนนักศึกษาในหัวข้อ “ความทันสมัยที่มีอัตลักษณ์ของจีนในสายตาของฉัน” อีกด้วย

“ทันสมัยแบบจีน” ขับเคลื่อนความฟื้นฟู

นายเซิ่น ไห่สง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสื่อสารมวลชนและผู้อำนวยการ China Media Group (CMG) กล่าวผ่านคลิปวิดีโอว่า CMG  มุ่งมั่นที่จะบอกเล่าเรื่องราวของการปฏิรูปและการเปิดประเทศของจีน รวมถึงเรื่องราวของความทันสมัยแบบจีนมาโดยตลอด  ซึ่งความทันสมัยแบบจีนเป็นเจตนารมณ์ของผู้นำประเทศในการยึดถึงประชาชนเป็นศูนย์กลางความถูกต้อง และยึดมั่นในงานบริหารประเทศ โดยมีแนวคิดการปฏิรูปอย่างเป็นระบบ ที่รวบรวมภูมิปัญญาและประสบการณ์อันมีค่าของชาวจีนเข้าไปด้วยกัน

“นับเป็นสิ่งสำคัญในการปฎิรูปประเทศจีนในทุกๆ ด้าน และถือเป็นการปฎิวัติครั้งที่ 2ของจีน ซึ่งแนวคิดทันสมัยแบบจีนจะขับเคลื่อนความฟื้นฟูและพัฒนาประเทศจีนให้รุ่งเรืองทุกด้าน รวมถึงการผลักดันในประเทศต่างๆ เพราะขณะนี้ทุกประเทศต่างเผชิญความท้าทายทางด้านเทคโนโลยี และอุตสาหกรรมต่างๆ ในฐานะเราเป็นสื่อสมัยใหม่ เราพร้อมสร้างสะพานและสายสัมพันธ์ระหว่างจีนกับทั่วโลกอย่างแข็งขัน เพื่อการแลกเปลี่ยน การเจรจา และการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน  เพื่อให้ทุกคนทั่วโลกเห็นความทันสมัยแบบจีน หวังว่าจะเป็นพันธมิตรที่ดีและพันธกิจร่วมกันในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และส่งเสริมการในการสร้างประชากรที่มีอนาคตและความเจริญร่วมกัน” นายเซิ่น กล่าว

ปฏิรูปเชิงลึกอย่างรอบด้าน

นายหลี่ เฟิง รองผู้อำนวยการ และ บรรณาธิการใหญ่ CMG ASIA-PACIFIC กล่าวว่า การที่จีนตัดสินใจที่จะปฏิรูปเชิงลึกอย่างรอบด้าน และผลักดันการทำให้เกิดความทันสมัยแบบจีน ไม่เพียงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นโอกาสที่หาได้ยากสำหรับโลก ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถพิสูจน์ได้จากกระบวนการปฏิรูปและเปิดประเทศของจีนในช่วง 40 กว่าปีที่ผ่านมา และจากประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-จีน ฉะนั้น เวทีการประชุมแลกเปลี่ยนระหว่างจีนและไทยในครั้งนี้ จะเป็นการหารือร่วมกันเพื่อสร้างความทันสมัยแบบจีน และความร่วมมือรอบด้านระหว่างจีนกับไทย

“ผมได้มีโอกาสชื่นชมผลงานศิลปะอันยอดเยี่ยมที่นักเรียนและนักศึกษาชาวไทยได้วาดและออกแบบขึ้นภายใต้หัวข้อ "ความทันสมัยแบบอัตลักษณ์จีนในสายตาของฉัน" ผ่านมุมมองของเยาวชนชาวไทยที่เห็นความสำเร็จในการพัฒนาความทันสมัยแบบจีนซึ่งกำลังเดินควบคู่ไปกับความเจริญของประเทศไทย เป็นการสร้างประโยชน์อย่างไพศาลแก่พี่น้องประชาชนทั้งสองประเทศ ซึ่งในเดือน ก.ค.2568 ประเทศจีนจะมีการเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 50 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนและไทย รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะร่วมกับมิตรสหายชาวไทยเป็นประจักษ์พยานของผลสำเร็จจากความร่วมมือไทย-จีนที่ผลิดอกออกผลอย่างงดงาม” นายหลี่ กล่าว

สร้างความร่วมมือด้านการศึกษา

ด้าน ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) กล่าวว่า การปฏิรูปเชิงลึกของจีนในยุคใหม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมที่ลึกซึ้ง การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ไม่เพียงแต่เปลี่ยนโฉมภูมิทัศน์ของจีนเท่านั้น แต่ยังสร้างโอกาสมากมายสำหรับระดับโลก ทั้งการทำงานร่วมกัน เทคโนโลยี และ นวัตกรรมที่แลกเปลี่ยนกัน  หนึ่งในประเด็นที่น่าจับตามองมากที่สุดคือ การศึกษาของจีน โดยเฉพาะความมุ่งมั่นของจีนต่อความพัฒนาความก้าวหน้าทางการศึกษา อันจะเห็นได้จากการให้ความสำคัญการลงทุนด้านการวิจัย การพัฒนา และความร่วมมือทางวิชาการระหว่างประเทศ อันเป็นการเปิดช่องทางใหม่ๆ สำหรับสถาบันการศึกษาทั่วโลกในการมีส่วนร่วมและสร้างความร่วมมือที่ประสบผลสำเร็จไปด้วยกัน

เศรษฐกิจสังคมนิยม พัฒนาประเทศ

นายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย  กล่าวปาฐกถาว่า DPU มีนักศึกษากว่า 30,000 กว่าคน และในจำนวนดังกล่าวมีนักศึกษาจีน 2,000 กว่าคน รวมถึงจากการเยี่ยมชมผลงานศิลปะของนักศึกษาไทย แสดงให้เห็นว่ามหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นสถาบันการศึกษาที่มีความใกล้ชิดและสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศจีน สำหรับหัวข้อสำคัญของการประชุม “โอกาสประชาคมโลกจากการปฏิรูปเชิงลึกของจีนยุคใหม่” ที่ DPU ครั้งนี้  ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ ทุกประเทศทั่วโลกต่างจับตาถึงการประชุมที่ยิ่งใหญ่ของประเทศจีน อย่าง คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ชุดที่ 20 ครั้งที่ 3

นายหาน กล่าวอีกว่า จากการศึกษามติของการประชุมครั้งนี้ ทำให้ได้รับรู้เกี่ยวกับวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของผู้นำจีน และรับรู้ถึงจิตใจที่กว้างขวางของผู้นำจีนที่มีความมุ่งหวังสร้างความผาสุขให้แก่ประชาคมจีนและประเทศต่างๆ ทั่วโลก จีนได้ยืนยันเดินทางตามเส้นทางพัฒนาสังคมนิยมที่มีการพัฒนาตนเอง ได้เห็นอนาคตที่สดใสของประเทศจีนกับประเทศต่างๆ ในการสร้างความร่วมมือซึ่งกันและกัน  ดัง 5 ประเด็นต่อไปนี้

1.สร้างระบบเศรษฐกิจ ตลาดสังคมนิยมระดับสูง ซึ่งที่ผ่านมาจีนได้ผสมผสานการปฏิรูปเพื่อนำสังคมนิยมที่ประชาชนเป็นเจ้าของไปบัญญัติเส้นทางพัฒนาของประเทศจีนที่มีลักษณะของประเทศจีน และได้รับการยอมรับจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก ประเทศจีนเป็นเศรษฐกิจอันดับ 2ของโลก และได้พัฒนาระบบเศรษฐกิจของโลกโดยขยายตัวมาจากประเทศจีน 30% ติดต่อกันหลายปี ระบบเศรษฐกิจสังคมนิยมของจีน จะปรับปรุง พัฒนาอย่างต่อเนื่อง จะมีประโยชน์ฐานเศรษฐกิจ สร้างความเจริญในเศรษฐกิจของจีน และความก้าวหน้าของเศรษฐกิจโลก

2.ต้องปรับปรุงระบบกลไกนวัตกรรมให้ดี พัฒนาให้มีคุณภาพสูงอย่างรอบด้าน  จีนกำลังพัฒนากำลังผลิตที่มีคุณภาพใหม่ ประเทศจีนพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อพึ่งพาเทคโนโลยีของตนเองมากขึ้นอันนำไปสู่การสร้างพลวัตในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง  และทุกประเทศต่างนิยมพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว โดยเฉพาะพลังงานที่อาจเกิดขึ้นใหม่  จีนมีพลังงานเกิดใหม่เพิ่มเป็น 300 ล้านกิโลวัตต์ มากกว่า 50% ของพลังงานที่เกิดขึ้นใหม่ทั่วโลก ฉะนั้นการพัฒนาเทคโนโลยีของจีน มีบทบาทสำคัญต่อการส่งเสริมการพัฒนาก้าวหน้าเทคโนโลยีทั้งในจีนและโลก และยังเป็นการลดช่องว่างมี การขัดขวางการพัฒนาเทคโนโลยีทั่วโลก  เพราะเป็นเทคโนโลยีต้องเอื้อต่อทุกประเทศ และเปิดกว้าง”นายหาน กล่าว

3. เปิดประเทศให้กว้างมากยิ่งขึ้น เพื่อแสดงให้เห็นถึงการสร้างความทันสมัยของประเทศจีน ซึ่งจีนยินดีที่จะสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ที่จะเปิดกว้างทั่วโลก เชื่อมโยงกับกลไกระเบีบยการค้าการลงทุน และสร้างสภาพแวดล้อมที่โปร่งใส มั่นคง คาดหวังได้ เป็นสากล เน้นการตลาด และมีกฎหมายรองรับ

4.ส่งเสริมวัฒนธรรมที่ดี และทำให้มีพลวัตรมากยิ่งขึ้น พัฒนากลไกระบบวัฒนธรรม ผสามผสานระบบวัฒนธรรมและเทคโนโลยี จะสร้างกลไกในการปฏิบัติอย่างจริงจัง และเกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง  รวมถึงส่งเสริมวัฒนธรรมของเอเชียที่เน้นการปรองดองแบบเพื่อนบ้าน เป็นมิตร เปิดกว้าง แก้ปัญหาและอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข 

และ 5.การสร้างประชาคมที่มนุษยชาติมีอนาคตด้วยกัน ยืนหยัดเส้นทางการพัฒนาที่สันติ และยึดถือหลักการของตนเอง ประเทศจีนและไทยเป็นเพื่อนบ้าน เป็นพี่น้อง และเป็นหุ้นส่วนที่มีอนาคตร่วมกัน ผู้นำของทั้ง 2 ประเทศได้กำหนดที่มีการสร้างอนาคตที่ดีร่วมกันของประเทศจีนและไทย และผลักดันความสัมพันธ์จีนไทยเข้าสู่ยุคใหม่

“ประเทศจีน เราเป็นคู่ค้าอันดับที่ 1ของไทย และเป็นตลาดนำเข้าสินค้าเกษตรมากที่สุดของไทย และเป็นแหล่งนักท่องเที่ยวของไทยที่ใหญ่ที่สุด ดีใจที่ได้เห็นความร่วมมือในทุกด้าน และสร้างประโยชน์ที่แท้จริงของประเทศจีนและไทย เช่น นิคมอุตสาหกรรมไทยที่จ.ระยอง ได้เห็นความร่วมมือจากสถานประกอบการจีนจำนวนมาก ที่สร้างงานให้แก่คนไทยในพื้นที่ 50,000 กว่าคน และมีอีกหลายๆ ที่ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือระหว่างจีนกับไทย รวมทั้งประชาชนทั้ง 2 ประเทศที่มีความกระตือรือร้นอย่างมาก”นายหาน กล่าว

อย่างไรก็ตาม ยอดรวมของเศรษฐกิจจีนประมาณ 18 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ซึ่งตลาดผู้บริโภคของประเทศจีนอยู่ที่ประมาณ 6.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี จีนมีตลาดที่ใหญ่มาก ดังนั้น หากประเทศจีนและไทยมีการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมด้วยรถไฟฟ้าความเร็วสูงจะสร้างประโยชน์ให้การพัฒนาเศรษฐกิจไทยอย่างมหาศาลด้วย