ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติไม่รับคำร้อง “BTSC” กรณีกล่าวหา“ปปช.” ชี้มูลมิชอบ คาดเชื่อมโยงกรณีจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวปี 55 ระบุหากคิดว่าถูกละเมิดสิทธิ สามารถใช้สิทธิร้องศาลอื่นได้อีก

ที่ศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 31 ก.ค.67 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยในคดีที่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จํากัด (มหาชน) หรือ BTSC และคณะ(ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ว่า การกระทำของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ที่นำข้อเท็จจริงเรื่องเดียวกันกับที่พนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องผู้ร้องทั้งสาม ขึ้นไต่สวนอีกครั้ง โดยการไต่สวนเกินกว่าระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด และมีมติวินิจฉัยชี้มูลความผิดผู้ร้องทั้งสามเป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่สุจริต ไม่เที่ยงธรรม มีอคติ ไม่เป็นไปตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 มาตรา 23 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 147ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 26   และมาตรา 29 และสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดหรือยกเลิกการกระทำที่ละเมิดสิทธิ และเสรีภาพของผู้ร้องทั้งสาม  

เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องเป็นการที่ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิด และการไต่สวนผู้ร้องทั้งสาม อันเป็นการกระทำโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมาย หากมีการกระทำผิดขั้นตอนใดและผู้ร้องทั้งสามเห็นว่าเป็นการกระทำละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพ ผู้ร้องทั้งสามสามารถใช้สิทธิตามกระบวนการยุติธรรมต่อศาลอื่นได้ เป็นกรณีที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญได้กำหนด กระบวนการร้อง หรือผู้มีสิทธิขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยไว้เป็นการเฉพาะแล้ว ตาม  พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 47(2) ซึ่งมาตรา 46 วรรคสาม บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา ดังนั้น ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีนี้คาดว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับการที่คณะกรรมการป.ป.ช.ได้มีมติชี้มูลความผิด ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และพวกรวม 12 ราย ในคดีจ้าง BTSC เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ในปี 2555 เข้าข่ายผิดกฎหมาย ซึ่งในจำนวน 12 ราย ที่ถูกชี้มูล มีบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จํากัด ,นายคีรี กาญจนพาสน์ ตำแหน่งกรรมการบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา ตำแหน่งกรรมการบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) รวมอยู่ด้วย

ด้าน สำนักข่าวอิศรา  รายงานถึงการเปิดเผยของ พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย ที่ปรึกษาประธานกรรมการ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ว่า จากคำวินิจฉัยและคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 26 ก.ค.67 ที่ผ่านมา โดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ที่ประกอบด้วยตุลาการศาลปกครอง 50 คน ผลของการพิจารณาศาล 107 หน้า ในส่วนของ BTS สามารถสรุปได้ 5 ประเด็น ดังนี้ 1.กรุงเทพมหานคร (กทม.) และบจ.กรุงเทพธนาคม (KT) ในฐานะผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ 2 ตามลำดับ ต้องชำระค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 ให้ BTSC หรือไม่ คำตอบก็คือ ต้องจ่าย เพราะสัญญาจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงทั้ง 2 ฉบับที่ครอบคลุมส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงตากสิน - บางหว้าและช่วงอ่อนนุช - แบริ่ง และส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง - เคหะสมุทรปราการ และช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต อ้างอิงตามคำวินิจฉัยชัดเจนว่า สัญญาดังกล่าวเป็นการจ้างที่มิได้ให้ผู้ฟ้องคดี (BTSC) ซึ่งเป็นเอกชนเข้าร่วมการงาน หมายถึง ไม่ต้องใช้กฎหมาย พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดําเนินการในกิจการของรัฐ (พ.ร.บ.ร่วมทุน) 2535 ประกอบกับผู้ฟ้องคดีได้รับสัมปทานเส้นทางหลัก จึงถือเป็นผู้มีความชำนาญเป็นพิเศษเกี่ยวกับการเดินรถและซ่อมบำรุง รวมถึงการเก็บค่าโดยสาร และเพื่อให้การเดินรถจากส่วนสัมปทานหลักและส่วนต่อขยายเป็นโครงข่ายเดียวกัน จึงเข้าลักษณะการดำเนินการจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษตามข้อบังคับ กทม. เรื่องพัสดุ ดังนั้น สัญญาทั้ง ฉบับไม่เป็นโมฆะ เมื่อสัญญาชอบแล้ว กทม.และ KT ต้องชำระค่าจ้างเดินรถดังกล่าวข้างต้น

2.การที่ทางผู้ถูกฟ้องคดีอ้างว่า สัญญาจ้างที่ฟ้องกันไม่ใช่สัญญาทางปกครอง ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า สัญญาจ้างเดินรถเป็นสัญญาทางการปกครอง ศาลปกครองสูงสุดสามารถพิจารณาคดีได้ 3.ประเด็นสัญญาจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงนี้ ขัดกฎหมายหรือไม่ ศาลปกครองนำข้อต่อสู้ของ กทม.และ KT พิจารณาแล้ว โดยเสียงข้างมากของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดมีคำวินิจฉัยว่า สัญญาทั้งสองฉบับไม่ขัดกฎหมาย

4.กทม.และ KT มีอำนาจเข้าทำสัญญาหรือไม่ ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาว่า ทั้ง 2 หน่วยงานสามารถทำสัญญาจ้างเดินรถได้ โดยต้องไม่ขัดกับคำสั่งคณปฏิวัติ มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) พ.ร.บ.ร่วมทุน พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร ข้อบัญญัติของกทม. ดังนั้น การลงนามของทั้ง 2 หน่วย จึงชอบแล้ว 5.มีการอ้างถึงกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติแจ้งข้อกลาวหากับผู้เกี่ยวข้องรวมทั้งสิ้น 12 ราย ที่ทำสัญญาจ้าง BTSC เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง ไปจนถึงปี 2585 นั้น ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่าการที่ป.ป.ช.มีมติแจ้งข้อกล่าวหาในประเด็นดังกล่าว ไม่มีผลต่อสัญญา การกล่าวอ้างคณะกรรมการ ป.ป.ช. แจ้งข้อกล่าวหา กทม.และ KT กระทำการทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ป.ป.ช.ยังไม่ได้ชี้มูลความผิด จึงไม่มีผลต่อสัญญาดังกล่าว ส่วนถ้าภายหลังหากป.ป.ช.ชี้มูลถึงสัญญาดังกล่าวแล้ว จริงๆ ประเด็นนี้มีแนวคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในคดีดังหลายๆคดี อาทิ คดีคลองด่าน คดีที่ดินรัชดาภิเษก และคดีของนายก อบจ.สงขลา เป็นต้น

"หลักการของสัญญามีอยู่ว่า 1.การทำสัญญา เป็นไปโดยชอบไหม ผู้ให้และรับสัญญาทำตามสัญญาหรือไม่ ถ้าทำตามสัญญา คู่สัญญาจะต้องมีภาระปฏิบัติตามสัญญา" พ.ต.อ.สุชาติ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่ยกคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดมีวินิจฉัยไปถึงสัญญาจ้างเดินรถนั้น ทาง BTSC จะนำเหตุผลตรงนี้ ยกมาเป็นข้อต่อสู้ในคดีที่ถูก ป.ป.ช.แจ้งข้อกล่าวหาหรือไม่ พ.ต.อ.สุชาติ กล่าวว่า ปัจจุบัน ป.ป.ช.ส่งเรื่องมาที่สำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว โดยทางผู้บริหารของ BTSC ได้ส่งหนังสือขอความเป็นธรรรมที่พนักงานอัยการ เพราะเคยร้องขอและให้การกับ ป.ป.ช.ไป แต่ทางป.ป.ช.ไม่ได้เอาสิ่งที่ให้การไปรวมในสำนวนคดี ทางผู้บริหาร BTSC เพียงแต่ต้องการทราบว่า สิ่งที่กล่าวหานั้น ผู้บริหารทำผิดอะไร ทำผิดกับใคร ทำผิดที่ไหน ทำผิดเมื่อไหร่ และทำผิดอย่างไร แต่ไม่มีคำตอบ วันนี้จึงร้องขอความเป็นไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีคำพิพากษานี้ออกมา ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยประเด็นความผิดคดีอาญาหมดเลย จึงมั่นใจว่า คำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากกับ BTSC หลังจากนี้ BTSC จะส่งคำพิพากษานี้ให้ทางสำนักงานอัยการสูงสุดประกอบในการพิจารณาคดีนี้ด้วย