“ศาลอาญา”ยกคำร้องไม่อนุญาตให้ ‘ทักษิณ’ เดินทางไปรักษาตัว”ดูไบ” ระบุอาการป่วยมีแพทย์ในประเทศ ตรวจรักษาประจำอยู่แล้ว ส่วนการไปพบบุคคลสำคัญเป็นเรื่องส่วนตัวไม่มีเหตุจำเป็น ด้านแอป”ทางรัฐ”ล่ม! หลังคนแห่ใช้ก่อนดีเดย์เปิดลงทะเบียน”ดิจิทัลวอลเล็ต” 1 ส.ค. ขณะที่ สภาถกเดือด! งบเพิ่มดิจิทัลวอลเล็ตวาระ 2-3 วงเงิน 1.22 แสนล้าน “ก้าวไกล”ลากไส้แหล่งที่มาเงินไม่ตรงกัน จับโป๊ะแจก1หมื่นปั่นกระแสกระตุ้นศก.
เมื่อวันที่ 31 ก.ค.67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศาลอาญา รัชดาฯ เมื่อวันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมา นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จำเลยในคดีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ได้ยื่นคำร้องขอเดินทางออกนอกราชอาณาจักร โดยศาลมีคำสั่งให้นัดไต่สวนคำร้องในวันที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมา และมีคำสั่งในวันเดียวกัน
โดยวันนัดฟังคำสั่ง โจทก์ จำเลย ทนายจำเลยมาศาล หลังจากศาลได้ไต่สวนพยานแล้วมีคำสั่งในทางไต่สวนสรุปได้ความว่า จำเลยได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณาและห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร จำเลยมีความประสงค์เดินทางออกนอกราชอาณาจักรไปพำนักอยู่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ดูไบ) ระหว่างวันที่ 1-16 ส.ค.67 เพื่อพบแพทย์ซึ่งเคยตรวจรักษาอาการป่วยของจำเลยเกี่ยวกับปอดอักเสบเรื้อรัง ระบบหายใจและหลอดเลือดหัวใจ เอ็นไหล่ขวาฉีกขาด และหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน ในสถานพยาบาลที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในวันที่ 2 และ 8 ส.ค.67 โดยช่วงเวลาที่จำเลยพำนักอยู่ที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จำเลยยังมีนัดหมายกับบุคคลสำคัญหลายคน เกี่ยวด้วยภารกิจส่วนตัวของจำเลยหลายเรื่อง จำเลยจะเดินทางกลับเข้ามาในราชอาณาจักรก่อนวันนัดตรวจพยานหลักฐานซึ่งศาลนัดไว้ในวันที่ 19 ส.ค.67
ศาลเห็นว่าแม้จำเลยอ้างตนเองเป็นพยานเบิกความยืนยันถึงความจำเป็นที่ต้องเดินทางออกนอกราชอาณาจักร โดยมีเอกสารหลักฐานจากแพทย์สนับสนุน และนัดพบบุคคลสำคัญหลายคน โดยช่วงเวลาที่จำเลยพำนักอยู่ ณ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นช่วงเวลาก่อนกำหนดนัดตรวจพยานหลักฐานก็ตาม แต่อาการป่วยของจำเลยเป็นโรคที่เกิดแก่บุคคลทั่วไป และแพทย์ในประเทศไทยตรวจรักษาเป็นประจำอยู่แล้ว
การเดินทางไปพบบุคคลสำคัญของจำเลยเป็นเรื่องส่วนตัวของจำเลย ทั้งไม่มีพยานหลักฐานยืนยันชัดแจ้งถึงความจำเป็นดังกล่าว ประกอบกับช่วงระยะเวลาที่เดินทางใกล้กับวันนัดตรวจพยานหลักฐานในชั้นนี้ไม่สมควรอนุญาตให้จำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักร
วันเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญ ออกเอกสารข่าวแจ้งว่า ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้นัดอ่านคำวินิจฉัยกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (ผู้ร้อง) โดยนายทะเบียนพรรคการเมืองยื่นคำร้องกรณีมีหลักฐานอันควรเชื่อว่าพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้อง) มีพฤติการณ์กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเข้าลักษณะกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันเป็นเหตุแห่งการยุบพรรคผู้ถูกร้อง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) ในวันที่ 7 สิงหาคม 2567
รวมทั้งกรณีประธานวุฒิสภาส่งคำร้องสมาชิกวุฒิสภา(สว.) 40 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่ กรณีนำความกราบบังคมทูลเพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 14 สิงหาคม 2567
ทั้งนี้ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณที่ทำการศาลรัฐธรรมนูญ คุ้มครองประโยชน์สาธารณะ และเพื่อให้การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และมีประสิทธิภาพ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งดังนี้ กำหนดบุคคลให้เฉพาะผู้ร้อง ผู้ถูกร้อง ผู้รับมอบอำนาจ หรือผู้รับมอบฉันทะ หรือผู้ที่ศาลรัฐธรรมนูญอนุญาต รวมทั้งเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น อยู่ในห้องพิจารณาคดี เพื่อรับฟังการอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันดังกล่าว และให้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจัดให้มีช่องทางการรับฟังการอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน และสื่อมวลชน
พร้อมประกาศกำหนดอาณาบริเวณ หรือพื้นที่ที่กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญและสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติงาน รักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อย ดังนี้ วันพุธที่ 7 สิงหาคม 2567 เวลา 00.01 น. ถึง 23.59 น. สำหรับการอ่านคำวินิจฉัยในคดีคณะกรรมการการเลือกตั้ง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล และวันที่ 14 สิงหาคม 2567 เวลา 00.01 น. ถึง 23.59 น. สำหรับการอ่านคำวินิจฉัยคดีที่ประธานวุฒิสภา ส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4)ประกอบมาตรา 160 (4)และ(5) หรือไม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แอปพลิเคชัน "ทางรัฐ" หรือแอปพลิเคชันที่ต้องใช้ในการลงทะเบียนและยืนยันตัวตน เพื่อเตรียมพร้อมในการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ในวันที่ 1 ส.ค.นี้ ไม่สามารถเข้าใช้งานได้ช่วงเที่ยงวันนี้ โดยเมื่อกดเข้าแอปฯ ขึ้นข้อความระบุว่า "ขออภัยในความไม่สะดวก ระบบอยู่ระหว่างการปรับปรุง เรากำลังพยายามอย่างเต็มที่เพื่อทำให้ระบบกลับมาใช้งานได้ปกติอีกครั้ง กรุณาลองใหม่อีกครั้งในภายหลัง (401)" โดยขณะนี้ชาวโซเชียลส่วนหนึ่งออกมาแสดงความคิดเห็น และตั้งคำถามถึงกรณีที่ไม่สามารถลงทะเบียน หรือยืนยันตัวตนผ่านแอปทางรัฐได้ ส่งผลให้บนแพลตฟอร์ม X แฮชแท็ก #ทางรัฐ พุ่งขึ้นมาติดเทรนด์เป็นอันดับหนึ่ง
ที่รัฐสภา นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาฯคนที่หนึ่ง ทำหน้าที่ประธานในการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ) งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วาระ2 และ 3 วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท ที่ใช้ทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว โดย นายพิชัย ชุณหวิชร รองนายกฯ และรมว.คลัง ในฐานะประธาน กมธ. เสนอร่างดังกล่าวว่า คณะ กมธ. วิสามัญได้เริ่มพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค.67 แล้วเสร็จในวันที่ 25 ก.ค.67 โดยในร่วมกันพิจารณารายละเอียดงบกลางในการใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในการสร้างความเข้มแข็ง วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท และช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพ ยกระดับคุณภาพชีวิตสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพและประชาชน ควบคู่กับการรักษาระดับการบริโภคและการลงทุนในประเทศ รวมถึงความสามารถในการแข่งขันของประเทศผ่านโครงการดิจิทัลวอลเล็ต
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการอภิปรายรายมาตรา ในส่วนของมาตรา3 ว่าด้วยการตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม 1.22 แสนล้านบาท ที่แม้กมธ.ไม่แก้ไข แต่มีกมธ.จากฝ่ายค้านที่เสนอความเห็นให้ปรับลด โดยการอภิปรายของ นายสิทธิพล วิบูลย์ธนากุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ระบุว่า ในส่วนของการประเมินผลกระทบในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต จับโป๊ะได้ในการประชุมคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) เมื่อวันที่ 30 ก.ค.67 ได้ตั้งคำถามต่อผู้แทนกระทรวงการคลัง โดยประเด็นที่ต้องขีดเส้นใต้คือแหล่งที่มาของเงินที่คำนวณ มาจากเงินอัดฉีดใหม่เข้าระบบเศรษฐกิจ ไม่ได้มาจากการนำเงินที่ใช้จ่ายภายใต้ภารกิจอื่น หมายความว่าตัวเลขที่ 1.2%-1/8% เป็นสมมติฐานว่าเป็นเงินใหม่ทั้งหมด ดังนั้นตัวเลขดังกล่าวจึงมีปัญหา 2เรื่องคือ แหล่งที่มาของเงินที่ชัดเจนแล้วคือไม่ใช่เงินใหม่ทั้งหมด เพราะใช้จากงบเพิ่มเติม 1.22 แสนล้านบาท และในร่างพ.ร.บ.งบประมาณ 2568 วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท รวมเป็นเงิน 2.7แสนล้านบาท คิด 60% ของ 4.5 แสนล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 1.7แสนล้านบาท เป็นเงินเก่าโยกงบจากโครงการเดิม
“ปัญหาสองตามเอกสารคือ การขัดกันระหว่างสิ่งที่กระทรวงการคลังชี้แจงในกรรมาธิการ และรัฐมนตรีแถลงเมื่อวันที่ 26 ก.ค. พบว่า เป็นตัวเลข 1.2%-1.8% เป็นตัวเลขที่ประเมิน 10 เม.ย. ไม่ตรงกับปลัดกระทรวงการคลังและผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังให้ข้อมูลกับกมธ. ที่ระบุว่า เดิมผลการประเมินโครงการทำให้เศรษฐกิจขยายตัว 1.8% แต่จากการประเมินใหม่ผลคือส่งผลคือโครงการส่งผลต่อเศรษฐกิจ 0.9% ซึ่งผมขอให้รัฐบาลชี้แจงตัวเลขดังกล่าว และการกระตุ้นเศรษฐกิจในจำนวนเท่าไร คุ้มกับงบประมาณที่ประเทศต้องใช้หรือไม่ ปัญหาตอนนี้คือกลับไปกลับมา แต่ที่แน่ๆ คือ น้อยลง และเสี่ยงไม่คุ้มกับงบประมาณ”