วันที่ 31 ก.ค.2567 เวลา 10.40 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร  ที่มีนายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง ทำหน้าที่ประธานในการประชุมได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 พ.ศ... วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท ในวาระ 2 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ ผ่านโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ ที่มีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และรมว.คลัง เป็นประธานประธานกมธ. พิจารณาแล้วเสร็จ



ทั้งนี้ในการพิจารณาของกมธ.ฯไม่พบการแก้ไขในรายละเอียดของมาตราใดๆ แต่มีกมธ.ที่สงวนความเห็นไว้ทั้งสิ้น 7 คน และสส.ที่แปรญัตติรวม 22 คน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่ประชุมได้อภิปรายเป็นรายมาตรา โดยในส่วนของมาตรา3 ว่าด้วย การตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม 1.22 แสนล้านบาท ที่แม้กมธ.ไม่แก้ไข แต่มีกมธ.จากฝ่ายค้านที่เสนอความเห็นให้ปรับลด โดยโดยนายนพณัฐ มีรักษา กมธ.พรรคก้าวไกล ขอสงวนความเห็นว่า การตราร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ พบว่ามีปัญหาข้อกฎหมาย คำถามคือครม.มีความจำเป็นอะไร ถ้าคำตอบคือเพื่อหาเงินไปใช้กับโครงการเงิน ทุกฝ่ายทราบดีไม่ได้แจกในปีงบประมาณนี้ ดังนั้น ย่อมไม่มีความจำเป็นใดที่จะต้องร่างงบเพิ่มเติมในปี 2567 จึงทำให้การร่างกฎหมายนี้ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเงินการคลังของรัฐ เพราะฉะนั้นการเปิดให้ลงทะเบียนแล้วอ้างว่าเป็นการก่อหนี้ผูกพันไม่เคยมีมาก่อน การบอกว่าเงินหมื่นบาทเป็นสัญญาให้ เลยเกิดปัญหา เพราะสัญญาให้จะสมบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“ต่อให้เปิดลงทะเบียน แต่ยังไม่ส่งมอบเงิน ก็ต้องถือว่าสัญญาไม่สมบูรณ์ ฟ้องต่อศาลไม่ได้ ขณะเดียวกัน ถ้ากระทรวงคลังยืนยันว่าเป็นหนี้จริงๆ ถ้ารัฐบาลแจกไม่ทันในไตรมาสหนึ่งของงบ 2568 แปลว่าผิดนัดชำระหนี้ ประชาชนมีสิทธิ์ฟ้องร้องให้จ่ายเงิน 1 หมื่นบาทแก่ตนเองใช่หรือไม่ ทั้งนี้ หากในอนาคตมีปัญหาเรื่องใช้จ่ายงบประมาณ ผู้เกี่ยวข้องอ้างไม่รู้ในประเด็นกฎหมายเหล่านี้ไม่ได้” กมธ.ก้าวไกล กล่าว

ด้านนายสิทธิพล วิบูลย์ธนากุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ในส่วนของการประเมินผลกระทบในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต จับโป๊ะได้ในการประชุมคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) เมื่อวันที่ 30 ก.ค. ได้ตั้งคำถามต่อผู้แทนกระทรวงการคลัง ถึงสาเหตุของการประเมินผลกระทบของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต กลับไปอยู่ที่ 1.2% - 1.8% ซึ่งผู้แทนกระทรวงการคลังชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรว่า ตัวเลขดังกล่าวขึ้นอยู่กับ 4 เงื่อนไข คือ แหล่งที่มาของเงิน เงื่อนไขของโครงการ จำนวนผู้เข้าร่วม และพฤติกรรมการใช้จ่าย

นายสิทธิพล กล่าวด้วยว่า ประเด็นที่ต้องขีดเส้นใต้ คือ แหล่งที่มาของเงินที่คำนวณ มาจากเงินอัดฉีดใหม่เข้าระบบเศรษฐกิจ ไม่ได้มาจากการนำเงินที่ใช้จ่ายภายใต้ภารกิจอื่น หมายความว่าตัวเลขที่ 1.2%-1/8% เป็นสมมติฐานว่าเป็นเงินใหม่ทั้งหมด ดังนั้นตัวเลขดังกล่าวจึงมีปัญหา 2 เรื่อง คือ 1.แหล่งที่มาของเงิน ที่ชัดเจนแล้วคือไม่ใช่เงินใหม่ทั้งหมด เพราะใช้จากงบเพิ่มเติม 1.22 แสนล้านบาท และในร่างพ.ร.บ.งบประมาณ 2568 วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท รวมเป็นเงิน 2.7 แสนล้านบาท คิด 60% ของ 4.5 แสนล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 1.7แสนล้านบาท เป็นเงินเก่าโยกงบจากโครงการเดิม

นายสิทธิพล กล่าวด้วยว่า 2.การขัดกันระหว่างสิ่งที่กระทรวงการคลังชี้แจงในกรรมาธิการ และรัฐมนตรีแถลงเมื่อวันที่ 26 ก.ค. พบว่า เป็นตัวเลข 1.2%-1.8% เป็นตัวเลขที่ประเมินเมื่อวันที่ 10 เม.ย. ไม่ตรงกับปลัดกระทรวงการคลัง และผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังให้ข้อมูลกับกมธ. ที่ระบุว่า เดิมผลการประเมินโครงการทำให้เศรษฐกิจขยายตัว 1.8% แต่จากการประเมินใหม่ผลคือส่งผลคือโครงการส่งผลต่อเศรษฐกิจ 0.9%

“ตามเอกสารทั้ง 2 ฉบับระบุวันที่ 10 เม.ย. แต่ตัวเลขไม่ตรงกัน เพราะฉบับหนึ่งระบุว่า 1.2%-1.8% อีกฉบับ 0.9%  ตกลงมีการทบทวนหรือไม่ ทำไมแถลงข่าวล่าสุดจึงไม่บอกตัวเลขกับประชาชน แสดงว่าต้องมีตัวเลขที่ไม่ตรง ทั้งนี้จีดีพีที่บอกว่าจะโต 1.2%-1.8% คำนวณจากวงเงิน 5 แสนล้านบาทและกู้เงินทั้งหมด รวมถึงเงินจาก ธกส. แต่ปัจจุบันวงเงินลดเหลือ 4.7แสนล้านบาท และเม็ดเงินใหม่ไม่เยอะเท่าเดิม ดังนั้นไม่มีทางกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างที่โฆษณาได้ ทั้งนี้ ได้ถามสภาพัฒนาเศรษฐกิจ ประเมินผลกระทบใหม่หรือไม่ ซึ่งผู้แทนระบุว่า เดิม 0.3% แต่สมมติฐานเม็ดเงินใหม่ต้องกลับไปประเมินใหม่ แต่ผลกระทบจะน้อยลง ซึ่งผมขอให้รัฐบาลชี้แจงตัวเลขดังกล่าว และการกระตุ้นเศรษฐกิจในจำนวนเท่าไร คุ้มกับงบประมาณที่ประเทศต้องใช้หรือไม่ ปัญหาตอนนี้คือกลับไปกลับมา แต่ที่แน่ๆ คือ น้อยลง และเสี่ยงไม่คุ้มกับงบประมาณ” นายสิทธิพล อภิปราย



ต่อมานายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ชี้แจงว่า สำหรับการประเมินตัวเลขทางเศรษฐกิจ ตามตัวเลขที่แถลงเป็นทางการ เมื่อวันที่ 25 ก.ค.ยืนยันที่ 1.2%-1.8% ขยายตัวต่อจีดีพี ทั้งนี้กระบวนการพิจารณาตัวเลขดังกล่าวนั้นขึ้นอยู่กับแหล่งที่มา เงื่อนไข ผู้เข้าร่วม และ พฤติกรรมของผู้ใช้สิทธิ ทั้งนี้เป็นการประมาณการณ์ของผลเศรษฐกิจ หลังจากเติมเงินลงไป ไม่มีโมเดลไหนที่รองรับในเรื่องผลของโครงการได้อย่างชัดเจน เนื่องจากไม่เคยมีโครงการใดๆในประเทศมีข้อจำกัดการใช้ ระยะทาง พื้นที่ กรอบการบังคับใช้ 2 รอบ ดังนั้นอาจไม่มีตัวเลขที่ชี้ชัดเฉพาะให้มั่นใจ ตอนนี้จะเชื่อตัวเลขของใคร ขอให้เดินหน้าโครงการ ส่วนตนเชื่อว่าตัวเลข 1.2%-1.8% เป็นไปได้

“อย่าคิดว่าโครงการใดโครงการหนึ่งของรัฐ เป็นยาวิเศษที่จะปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจได้ ผมไม่ยืนยันว่าดิจิทัลวอลเลตจะเป็นยาวิเศษขนาดนั้น แต่อย่างน้อยด้วยกลไกที่ทำ และข้อมูลที่เก็บ สามารถเห็นโครงสร้างของเศษฐกิจไทย และกำหนดนโยบายที่เป็นประโยชน์ ลดความเหลื่อมล้ำได้ ผมขอย้อนถามไปยังกมธ.ที่สงวนความเห็น หากทำนโยบายที่เป็นของท่าน เช่น เบี้ยผู้สูงอายุที่เติมเงินสด มีความห่วงหรือไม่ว่าเงินจะกระจุกตัวรายใหญ่ เพราะผู้สูงอายุก็เข้าร้านสะดวกซื้อนั้นเช่นกัน ทั้งนี้ไม่มีโครงการใดโครงการเดียวที่เป็นยาวิเศษที่ลงไปทีเดียวปรับโครงสร้างการใช้จ่ายของคนไทยได้ทั้งหมด” นายจุลพันธ์ กล่าว

นายจุลพันธ์ กล่าวอีกว่า แพลตฟอร์มการจ่ายเงิน ได้รับรายงานจากหน่วยงานในชั้นของกมธ. และคณะกรรมการ ยืนยันว่าทันไตรมาสสี่ ปี 67 ดังนั้นต้องเชื่อมั่นใจกระบวนการ แต่หากจะห่วงว่าทำทันหรือไม่ ไม่ใช่เหตุที่จะขอปรับลด เพราะไม่ได้แปลว่าโครงการเดินหน้าไม่ได้ หากจะช้าเพราะผลิตอะไรไม่ทัน สุดท้ายก็ออกไม่ว่า ม.ค.หรือ ก.พ.68 แต่ตนยืนยันว่าไม่เกินเดือนธ.ค.67เงินถึงมือประชาชนแน่นอน