เมื่อวันที่ 28 ก.ค. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) มีรายงานว่า คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ หรือ ก.พ.ค.ตร. ได้นัดพิจารณาคำร้องอุทธรณ์คำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ของ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ในวันที่ 30 กรกฎาคม 2567 ซึ่งเป็นการนั่งพิจารณาครบองค์คณะ 6 คน ประกอบด้วย 1.นายสมรรถชัย วิศาลาภรณ์ ประธานก.พ.ค.ตร. 2.นายธวัชชัย ไทยเขียว กรรมการ 3.นายวันชาติ สันติกุญชร กรรมการ 4.พล.ต.ท.อาจิณ โชติวงศ์ กรรมการ 5.พล.ต.อ.อำนาจ อันอาตม์งาม กรรมการ และ6.พล.ต.ท.ปัญญา เอ่งฉ้วน กรรมการ ก.พ.ค.ตร. ส่วน พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี หนึ่งในคณะกรรมการได้ยื่นถอนตัวตั้งแต่ที่ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ เริ่มยื่นอุทธรณ์คำสั่งออกจากราชการ เนื่องจากเคยมีข้อพิพาทระหว่างกันหลายเรื่องในอดีต 
       

โดยมีการเปิดโอกาสให้ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ ผู้อุทธรณ์และคู่กรณีคือ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร. ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รรท.ผบ.ตร.) เป็นผู้ลงนามคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน มาชี้แจงด้วยวาจา 

หลังจากนั้นก็จะเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบพยานหลักฐานที่ผู้ร้องนำมาแถลงด้วยวาจาต่อคณะกรรมการ ประกอบกับพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงที่ได้รวบรวมไว้ก่อนหน้านี้แล้ว คาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน 

 

ทั้งนี้หาก ก.พ.ค.ตร.พิจารณาแล้วเห็นว่าคำสั่งให้ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ ออกจากราชการไว้ก่อนไม่ชอบด้วยกฎหมาย สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะต้องมีคำสั่งให้ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ กลับเข้ารับราชการในตำแหน่งเดิมโดยทันที พร้อมคืนสิทธิประโยชน์ย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่มีคำสั่งให้ออกฯ คือวันที่ 18 เมษายน 2567 ในทางกลับกันหาก ก.พ.ค.ตร. วินิจฉัยว่าคำสั่งให้ออกจากราชการฯนั้น ชอบด้วยกฎหมาย พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ ก็สามารถใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองสูงสุดได้ภายใน 90 วันนับตั้งแต่วันที่ทราบ หรือถือว่าทราบคำวินิจฉัยของ ก.พ.ค.ตร.