“แพทองธาร” ยอมรับเป็นคนลบ“เฉลิม” ออกจากไลน์กลุ่มเพื่อไทยเอง อ้างบั่นทอนจิตใจ หลัง “เฉลิม” ส่งข้อความเรื่องย้ายพรรค เผย“ทักษิณ”เปิดบ้านจันทร์ส่องหล้าทำบุญคล้ายวันเกิด ทานข้าว”รมต.-คนสนิท” ด้าน“ภูมิธรรม” ไม่ติดใจ“เฉลิม”พาดพิงปมย้ายพรรค ขอสื่ออย่าขยายความ “อนุทิน'ให้กำลังใจให้นายกฯ หลังศาล รธน.นัดฟังคำวินิจฉัยคุณสมบัติปมตั้ง 'พิชิต' ลั่นไม่เคยคิดนั่งเก้าอี้นายกฯ
เมื่อวันที่ 25 ก.ค.67 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวยอมรับกรณีไลน์ของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ถูกลบออกจากไลน์กลุ่มส.ส.เพื่อไทย หลังจากร.ต.อ.เฉลิมแถลงต้องการให้พรรคขับออกจากพรรค ว่า เป็นคนลบไลน์ของร.ต.อ.เฉลิมออกจากกลุ่มไลน์ส.ส.พรรคจริง เพราะในกลุ่มไลน์ของส.ส.เพื่อไทย จะมีการส่งรายละเอียดการนัดหมายต่างๆ รวมถึงเรื่องเวลาการอภิปรายเรื่องงบประมาณเพื่อให้ส.ส.รับทราบ ซึ่งตนได้เห็นข่าวเมื่อวานก็ไม่อยากให้คนในพรรค โดยเฉพาะคนในกลุ่มไลน์ซึ่งเป็นกลุ่มคนทำงานเกิดความรู้สึกบั่นทอน โดยก่อนหน้านั้น ร.ต.อ.เฉลิมก็มีการส่งข้อความเข้ามานิดหน่อย ตนก็ไม่อยากให้มีประเด็น แล้วทุกคนก็รู้สึกกังวลไปด้วย เมื่อรู้ข่าวว่าเป็นแบบนี้ พรรคจะเป็นอย่างไร ในกลุ่มจะคุยกันอย่างไร ซึ่งข้อความที่ร.ต.อ.เฉลิมส่งมานั้น ก็มีเรื่องการย้ายพรรค ทำให้ทุกคนเริ่มอึดอัดใจ จนคิดว่าหากนำเรื่องนี้ไปปรึกษาคนอื่นว่าเอาออก ก็จะมีความเกรงใจกันเกิดขึ้น จึงคิดว่าลบออกไปดีกว่า แค่นั้นเอง
น.ส.แพทองธาร ยังกล่าวถึงกรณีวันที่ 26 ก.ค.เป็นวันคล้ายวันเกิดปีที่ 75 ของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะมีการเปิดบ้านให้คนที่สนิทใกล้ชิดเข้าไปอวยพรวันเกิดหรือไม่ ว่า ช่วงเช้าจะมีพิธีทำบุญตักบาตรกันในครอบครัว จากนั้นช่วงเที่ยงจะมีคนสนิทมาร่วมรับประทานอาหาร เพราะนายทักษิณไม่ได้ทำบุญเช่นนี้มานานแล้ว แต่ไม่ได้มีการเปิดบ้านให้บุคคลทั่วไปเข้าร่วมและจะไม่เปิดให้สื่อเข้าไปบันทึกภาพภายใน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับกิจกรรมวันคล้ายวันเกิดที่บ้านจันทร์ส่องหล้า นายทักษิณและคนในครอบครัวและญาติพี่น้อง จะร่วมทำบุญเลี้ยงพระเพล 9 รูป จากนั้นจะให้บรรดานักการเมืองใกล้ชิดที่เป็นรัฐมนตรีและกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยบางส่วนเข้าไปร่วมรับประทานอาหารเที่ยง อาทิ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ ,นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกฯ และรมว.คมนาคม ,นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รมช.มหาดไทย ,นายสรวงศ์ เทียนทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ,นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย รวมไปถึง นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด อดีตรมต.ประจำสำนักนายกฯ โดยการเดินทางเข้าบ้านจันทร์ส่องหล้าครั้งนี้จะจำกัดเฉพาะผู้ได้รับเชิญจะให้รถทะเบียนที่กำหนดไว้เข้าไปในบ้านเท่านั้น
ด้าน นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ กล่าวถึงกรณีที่ร.ต.อ.เฉลิมตั้งโต๊ะแถลงข่าวเปิดใจในหลายเรื่อง โดยเฉพาะการขอตัดความสัมพันธ์กับนายทักษิณและต้องการให้พรรคเพื่อไทยขับออกจากพรรค ว่า ตนไม่ได้ดูไลฟ์สดตอนแถลง ส่วนในกลุ่มไลน์ของพรรคเพื่อไทยมีความร้อนแรงหรือไม่ หลังมีข่าวน.ส.แพทองธารลบร.ต.อ.เฉลิมออกจากกลุ่มทันที หลังแถลงข่าวนั้น ตนไม่ทราบ เพราะไม่ได้อยู่ในกลุ่มนั้น
สำหรับที่บางช่วงของการแถลงข่าวร.ต.อ.เฉลิมมีการพาดพิงถึงตนนั้น ไม่กล้าติดใจอะไร เพราะร.ต.อ.เฉลิมเป็นผู้ใหญ่ แนะนำอะไรมาก็ต้องฟัง และเป็นผู้ใหญ่อีกคนที่ตนเคารพรักไม่มีอะไรผู้ใหญ่แนะนำ ตักเตือนก็ต้องมาพิจารณาดู และขออย่านำเรื่องนี้ไปขยายความให้เป็นเรื่อง เราอยากให้ผู้ใหญ่ทุกคนรักกันดี ส่วนที่ร.ต.อ.เฉลิมขอร้องให้พรรคขับหรือไล่ออกจากพรรคนั้น อยู่ในโหมดห้ามแสดงความคิดเห็นทางการเมือง และไม่ขอพูดเรื่องนี้
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย กล่าวถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัยคุณสมบัติ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ ปมแต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี ในวันที่ 14 ส.ค.นี้ ได้ให้กำลังใจนายกฯ หรือไม่ ว่า คณะรัฐมนตรีทุกคนถือเป็นบุคคลที่อยู่ใต้บังคับบัญชาของนายกฯ ซึ่งมีความปรารถนาดีต่อนายกฯ และส่งกำลังใจให้นายกฯ ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ และผ่านเหตุการณ์ต่างๆ ไปได้ด้วยดี ซึ่งขณะนี้รัฐบาลกำลังเข้ารูปเข้ารอย โดยงบประมาณรายจ่ายประจำปี 67 ก็ผ่านแล้ว เหลือปี 68 ซึ่งก็คาดว่าจะใช้เวลาอีกไม่นาน อีกทั้งก็มี สว.ชุดใหม่แล้ว เพราะฉะนั้นการพิจารณากฎหมายต่างๆ ก็จะเป็นไปด้วยความสมบูรณ์
ผู้สื่อข่าวถามว่า ได้ประเมินสถานการณ์ในทิศทางลบเช่นการโดนสอยจากตำแหน่งนายกฯ หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า อะไรที่ยังไม่เกิดอย่าเพิ่งไปคิด ซึ่งวินาทีนี้ ก็ยังเป็นรัฐบาลที่บริหารประเทศอยู่ ยังไม่มีอุปสรรค หรือถ้าท่าทีใด ๆ ที่ทำให้เกิดความสะดวก หรือราบรื่น เมื่อถามว่า มีหลายฝ่ายวิเคราะห์ว่านายอนุทินจะสามารถเป็นนายกฯ แทนได้ นายอนุทิน กล่าวว่า ตนไม่เคยคิด ขอทำวันนี้ให้ดีที่สุด ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังทำงานร่วมกันกับนายกฯ และพรรคร่วมรัฐบาลกันเป็นอย่างดี
เมื่อถามว่า งานวันคล้ายวันเกิดนายทักษิณจะไปร่วมหรือไม่ นายอนุทิน ได้ย้อนถามกลับว่า “พรุ่งนี้ไหม เดี๋ยวจะส่งดอกไม้ไปอวยพร” เมื่อถามว่า กรณีโซเชียลมีเดียมีการเผยแพร่คลิปเพลง "คิดถึงลุงตู่" ได้เห็นหรือยัง ยนายอนุทิน ตอบว่า "ยังเลย" พร้อมกับยิ้ม
ที่รัฐสภา พรรคก้าวไกลนำโดย นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการลบล้างผลพวงรัฐประหารจำนวน 3 ฉบับ ต่อประธานรัฐสภา เพื่อให้บรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมรัฐสภา โดยมี ว่าที่ ร.ต.ต.อาพัทธ์ สุขะนันท์ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฏร เป็นผู้รับยื่น โดย นายพริษฐ์ กล่าวว่า ถึงแม้รัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ ได้ให้คำมั่นสัญญาจะผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่กระบวนการในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อาจใช้เวลาอีกอย่างน้อย 1-2 ปี ดังนั้นพรรคก้าวไกลจึงเห็นว่านอกเหนือจากการผลักดันให้การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุดแล้ว รัฐสภาควรดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราในประเด็นที่มีความสำคัญและเร่งด่วนคู่ขนานกันไป ขณะเดียวกัน สว.ชุดใหม่ 200 คน ได้เริ่มปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการแล้ว พรรคก้าวไกล จึงใช้จังหวะนี้ ในการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราชุดแรก เพื่อให้เป็นภารกิจแรกของวุฒิสภาชุดใหม่ ในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่คาดว่า จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้
นายพริษฐ์ กล่าวต่อว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ที่พรรคก้าวไกลยื่นเข้ามาเป็นชุดแรกนั้น มุ่งเน้นไปที่การลบล้างผลพวงของรัฐประหาร ซึ่งน่าจะเป็นประเด็นที่ทุกฝ่ายการเมืองในสภาฯ เห็นพ้องต้องกันมากที่สุด โดยแบ่งร่างดังกล่าวออกเป็น 3 ฉบับ ดังนี้ ร่างที่ 1 ยกเลิก มาตรา 279 ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นมาตราที่ทำให้ประกาศและคำสั่งทุกฉบับของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และหัวหน้า คสช.ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ การยกเลิกมาตรา 279 จะเปิดโอกาสให้ประชาชน โดยเฉพาะผู้เสียหายจากประกาศและคำสั่งคสช. มีโอกาสได้โต้แย้งถึงความชอบด้วยกฎหมายของประกาศ และคำสั่งดังกล่าว ในกรณีที่ประกาศ และคำสั่งนั้นส่งผลต่อการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน
พรรคก้าวไกลจะผลักดันเรื่องการยกเลิกมาตรา 279 ของรัฐธรรมนูญ คู่ขนานกับการผลักดันกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เพื่อดำเนินการยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช.ที่ไม่เป็นประโยชน์กับประชาชน โดยพรรคก้าวไกลได้ยื่นร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช.เข้าสู่สภาฯ ไปแล้วตั้งแต่เดือน ก.ค.66 แต่ถูกตีความว่าเป็นร่างกฎหมายเกี่ยวด้วยการเงิน จึงต้องรอว่านายกฯ จะลงนามรับรองให้เข้าสภาฯ หรือไม่
นายพริษฐ์ กล่าวว่า ร่างที่ 2 คือการเพิ่มหมวด 16/1 ในรัฐธรรมนูญ เรื่องการป้องกันและต่อต้านรัฐประหาร โดยมีสาระสำคัญ 3 ส่วน คือ 1.เติมพลังให้ประชาชนทุกคนในการต่อต้านการรัฐประหาร ไม่ว่าจะเป็นการคุ้มครองสิทธิของประชาชนทั่วไป หรือการกำหนดให้เจ้าหน้าที่รัฐไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่วางแผนยึดอำนาจจากประชาชน 2. เพิ่มความรับผิดชอบให้ทุกสถาบันทางการเมืองร่วมกันปฏิเสธการรัฐประหาร เช่น ห้ามไม่ให้ศาลรัฐธรรมนูญและศาลทั้งปวงรับรองการรัฐประหาร
3. ทำให้การทำรัฐประหารมีราคาสำหรับผู้ก่อการ ไม่ว่าจะเป็นการห้ามไม่ให้มีการนิรโทษกรรมคณะรัฐประหาร การกำหนดให้ประชาชนเป็นผู้เสียหายที่ฟ้องผู้ก่อรัฐประหารฐานกบฏได้ โดยปราศจากอายุความ และการทำให้บทบัญญัติในหมวดการป้องกันรัฐประหารทั้งหมดมีสถานะเป็นกฎหมายจารีตประเพณี ที่มีผลใช้บังคับไปโดยตลอดไม่ว่ารัฐธรรมนูญจะถูกฉีกหรือไม่ โดยพรรคก้าวไกลจะผลักดันเรื่องการเพิ่มหมวดป้องกันและต่อต้านรัฐประหารในรัฐธรรมนูญ คู่ขนานกับการผลักดันมาตรการอื่นๆ ที่มีส่วนสำคัญในการป้องกันรัฐประหาร ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันกฎหมายปฏิรูปกองทัพ เพื่อให้กองทัพอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือน หรือการรณรงค์ทางความคิดให้ทุกฝ่ายยึดมั่นในการแก้ไขทุกปัญหาผ่านกลไกทางการเมืองภายในระบอบประชาธิปไตย
นายพริษฐ์ กล่าวอีกว่า ร่างที่ 3 คือการยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนการปฏิรูปประเทศ ผ่านการยกเลิกมาตรา 65 และหมวด 16 ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ การยกเลิกยุทธศาสตร์และแผนดังกล่าวไม่ได้หมายความว่าพรรคก้าวไกลไม่เห็นด้วยกับการที่ประเทศจะมีแผนการพัฒนาหรือแผนการบริหารประเทศ ที่กำหนดวิสัยทัศน์ว่าประเทศนั้นจะเดินหน้าไปในทิศทางใด
นายพริษฐ์ กล่าวว่า เราต้องการยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศฉบับคสช. เนื่องจากเหตุผล 3 ประการ คือ 1. ยุทธศาสตร์และแผนดังกล่าวขาดความชอบธรรมทางประชาธิปไตย เพราะร่างขึ้นในยุคของคณะรัฐประหาร ซึ่ง คสช.เข้ามากำกับควบคุมตลอดกระบวนการ แทนที่จะถูกร่างในยุคของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และด้วยกระบวนการที่ประชาชนมีส่วนร่วมในวงกว้าง 2. ยุทธศาสตร์และแผนดังกล่าวขาดความยืดหยุ่น เพราะใช้วิธีบรรจุกลไกเรื่องยุทธศาสตร์และแผนเข้าไปในรัฐธรรมนูญและกฎหมาย จนนำไปสู่การขยายตัวของรัฐราชการ แทนที่จะเป็นยุทธศาสตร์และแผนที่พรรคการเมืองและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเข้ามาออกแบบ ตามนโยบายและทิศทางการพัฒนาประเทศที่ได้รับอาณัติจากประชาชนผ่านคูหาเลือกตั้ง และ 3. ยุทธศาสตร์และแผนดังกล่าวเสี่ยงจะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งกัน เพราะเปิดช่องให้บางฝ่ายสามารถใช้กลไกขององค์กรอิสระหรือศาลต่างๆ เพื่อลงโทษหน่วยงานรัฐที่อาจเป็นคู่ขัดแย้งกัน ด้วยเหตุผลว่าหน่วยงานดังกล่าวไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญในส่วนของยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ
"หลังจากนี้ พรรคก้าวไกลหวังว่าประธานรัฐสภาจะบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญชุดแรกทั้ง 3 ฉบับ เข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม และเรียกประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวโดยเร็ว และยังหวังว่าสมาชิกรัฐสภาทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และสว.ชุดใหม่ จะให้ความเห็นชอบกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว เพื่อลบล้างผลพวงรัฐประหาร และเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราในประเด็นที่สำคัญและเร่งด่วน คู่ขนานกับการผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว" นายพริษฐ์ กล่าว