จากกรณีที่มีสื่อมวลชน นำเสนอข่าวว่า มีเกษตรกรพบปลาหมอมายันปะปนอยู่กับปลาหมอคางดำในวังกุ้งในพื้นที่อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ ทำให้เกษตรกรเกิดข้อกังวลเกี่ยวกับการระบาดของปลาทั้งสองชนิด นั้น
วันที่ 25 ก.ค.67 นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ทั้งปลาหมอมายันและปลาหมอคางดำเป็นปลาต่างถิ่นรุกรานที่มีรายชื่อใน 13 ชนิดต้องห้ามตามข้อกำหนดมาตรา 65 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ที่ห้ามมิให้ผู้ใดนำเข้า ส่งออก นำผ่าน เพาะเลี้ยง หรือมีไว้ในครอบครองตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงวันที่ 27 พฤษภาคม 2564 ซึ่งหากผู้ใดฝ่าฝืนจะถูกดำเนินคดีตามมาตรา 144 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากนำไปปล่อยในที่จับสัตว์น้ำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สำหรับปลาหมอมายัน (Mayan cichlid) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Mayaheros urophthalmus (Günther, 1862) เป็นปลาพื้นเมืองมีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบอเมริกากลาง ลักษณะลำตัวมีแถบสีดำ 7 แถบ มีจุดสีดำเด่นอยู่ที่บริเวณโคนหาง ตัวเต็มวัยมีขนาด 8-22 เซนติเมตร น้ำหนักสูงสุดประมาณ 600 กรัม อาศัยได้ทั้งในน้ำจืดและน้ำกร่อย มีการขยายพันธุ์ช้าเนื่องจากมีพฤติกรรมการสืบพันธุ์แบบวางไข่ อีกทั้งยังเป็นปลากินเนื้อที่กินสัตว์น้ำขนาดเล็กเป็นอาหาร ซึ่งแตกต่างจากปลาหมอคางดำที่กินอาหารได้หลากหลายชนิดกว่า นอกจากนี้ปลาหมอมายันยังมีความทนทานในการปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมได้น้อยกว่าปลาหมอคางดำ อย่างไรก็ตาม สำหรับข้อกังวลเรื่องการรวมกลุ่มและผสมข้ามสายพันธุ์ของปลาสองชนิดนี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เนื่องจากอยู่ต่างสกุลกัน
ในกรณีเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงพบปลาดังกล่าวในบ่อ ให้ดำเนินการกำจัดและควบคุมตามแนวทางการควบคุมเช่นเดียวกับปลาหมอคางดำ โดยขั้นตอนการเตรียมบ่อก่อนปล่อยลูกพันธุ์สัตว์น้ำทุกครั้ง ควรดำเนินการตากบ่อให้แห้ง โรยปูนขาว และใช้ถุงกรองสำหรับกรองน้ำก่อนเข้าบ่อเพื่อป้องกันไม่ให้ไข่และลูกปลาขนาดเล็กของสัตว์น้ำชนิดอื่นเข้าสู่บ่อเพาะเลี้ยง จากนั้นทำการหว่านกากชาเพื่อกำจัดปลาและสัตว์น้ำอื่นที่ไม่ต้องการออกจากบ่อเลี้ยง ปล่อยให้กากชาหมดฤทธิ์ แล้วจึงปล่อยลูกพันธุ์สัตว์น้ำลงเลี้ยงได้
อธิบดีกรมประมงกล่าวในตอนท้ายว่า กรมประมงได้สั่งการให้สำนักงานประมงจังหวัดสมุทรปราการและสำนักงานประมงจังหวัดข้างเคียงดำเนินการสำรวจการแพร่กระจายของปลาหมอมายันในแหล่งน้ำธรรมชาติและบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจแก่เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง เกี่ยวกับการกำจัดปลาชนิดนี้ออกจากแหล่งน้ำ ดังนั้น หากพบเห็นเหตุการณ์ดังกล่าวขอให้แจ้งสำนักงานประมงจังหวัดหรือสำนักงานประมงอำเภอในท้องที่ทุกแห่ง