แนวปะการังเป็นระบบนิเวศที่สำคัญอย่างยิ่งต่อชีวิตในมหาสมุทร สิ่งมีชีวิตในทะเลกว่าร้อยละ 25 พึ่งพาแนวปะการัง รวมถึงผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ตามแนวชายฝั่ง ชาวประมง และบริโภคอาหารทะเลไม่เพียงเท่านั้น บางครั้งปะการังก็ถูกเรียกว่า “ป่าฝนแห่งท้องทะเล” เนื่องจากความสามารถในการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ส่วนเกินที่มนุษย์ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ ดังนั้นหากปะการังเกิดการฟอกขาวสิ่งมีชีวิตที่พึ่งพาแนวปะการังจะค่อย ๆ ล้มตายเพราะเมื่อใดก็ตามที่เราเห็นสีขาวบนปะการังก็เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปได้เลยว่า “ปะการังกำลังตาย”

ปะการังยังถูกใช้เป็นตัวบ่งชี้คุณภาพใต้ท้องทะเล เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของปะการังสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมใต้ท้องทะเล คงปฎิเสธไม่ได้ว่าสาเหตุของความเสื่อมโทรมส่วนใหญ่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น น้ำทิ้งจากเขตชุมชน ตะกอนจากชายฝั่ง ขยะตกค้างในแนวปะการัง อาทิ ผืนอวนที่ปกคลุมแนวปะการังที่เกาะโลซิน ความเสียหายของปะการังจากการเคลื่อนย้ายปะการังในกิจกรรมดำน้ำแบบ Sea Walker การทำประมงตกปลาที่ทำให้เกิดการเหยียบย่ำปะการังบริเวณน้ำตื้น และการทิ้งสมอในแนวปะการัง การท่องเที่ยวหนาแน่นที่ขาดการบริหารจัดการตามหลักวิชาการที่เหมาะสม ทำให้สภาพแวดล้อมในพื้นที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการฟื้นตัวของแนวปะการังและหากปะการังหักหรือถูกทำลายการเจริญเติบโตนั้นช้ามาก ปะการังเขากวางเติบโต 8-12 เซนติเมตร/ปี ปะการังโขด หรือ ปะการังสมองเติบโต 0.5-2 เซนติเมตร/ปี เมื่อแนวปะการังเผชิญกับเหตุการณ์ฟอกขาวบ่อยครั้งและรุนแรงมากขึ้น เวลาที่ปะการังจะใช้ในการฟื้นตัวก็จะสั้นลงเรื่อย ๆ หรืออาจไม่มีเวลาให้ได้ฟื้นตัวเลย


จากข้อมูลข้างต้นการอนุรักษ์และการฟื้นฟูแนวปะการังจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้ทรัพยากรแนวปะการังของประเทศสามารถดำรงสภาพความสมบูรณ์อยู่ได้ แนวปะการังในหลายพื้นที่สามารถฟื้นตัวเองได้ตามธรรมชาติ ถ้าหากไม่มีสิ่งรบกวน ปะการังก็สามารถแตก-หน่อเจริญเติบโตแพร่ขยายในพื้นที่นั้นได้วิธีการฟื้นฟูปะการัง ได้แก่

การฟื้นฟูโครงสร้างทางกายภาพ : เป็นการปรับปรุงคุณภาพของสภาพแวดล้อมรอบๆ แนวปะการัง เช่น การกำจัดมลพิษ การลดปริมาณตะกอน การฟื้นฟูแนวชายฝั่ง และการอนุรักษ์พื้นที่ปะการัง

การขยายพันธุ์ปะการัง : เป็นการเพาะเลี้ยงปะการังในสถานที่ควบคุมและนำกลับคืนสู่แนวปะการัง วิธีการขยายพันธุ์ปะการัง ได้แก่ การขยายพันธุ์แบบอาศัยเพศ การขยายพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ และการขยายพันธุ์แบบพันธุวิศวกรรม

การปกป้องปะการัง : เป็นการปกป้องปะการังจากภัยคุกคามต่างๆ เช่น กิจกรรมของมนุษย์(การทำประมง การท่องเที่ยว) ภัยภิบัติทางธรรมชาติและโรคระบาดต่างๆ

มิสทิน (MISTINE) ถือเป็นอีกแบรนด์หนึ่งที่ร่วมขับเคลื่อนอย่างจริงจังโดยจับมือกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เพื่อร่วมรณรงค์เผยแพร่และประชาสัมพันธ์สนับสนุนกฎหมายไม่ใช้สารต้องห้ามในครีมกันแดดที่ก่อให้เกิดอันตรายเข้าไปท่องเที่ยวในพื้นที่แนวปะการังของไทยและเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมใจอนุรักษ์ส่งเสริมการรักษาและฟื้นฟูแนวปะการัง ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมเศรษฐกิจการท่องเที่ยวให้ยั่งยืนโดยการท่องเที่ยวนั้นต้องไม่ทำร้ายปะการังและระบบนิเวศทางทะเล จากการลงพื้นที่จริงในรอบปีที่ผ่านมาทั้งเกาะราชาใหญ่ จังหวัดภูเก็ต และเกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี พบว่ามีทั้งปะการังฟอกขาว และขยะหลากหลายประเภทในท้องทะเลเกิดผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมกับสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล มิสทินยังคงจะดำเนินโครงการฯดีๆแบบนี้อย่างต่อเนื่องและหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราทุกคนจะตระหนักถึงความสำคัญของระบบนิเวศทางทะเล

แน่นอนว่าหลายๆคนมองว่า ปะการัง ระบบนิเวศทางทะเลเป็นเรื่องไกลตัวรอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาแก้ไขก็ได้ หากเป็นแบบนั้นอาจไม่ทันเวลาหรือสายเกินไปจนไม่สามารถกอบกู้ระบบนิเวศทางทะเลกลับมาได้อีกแล้ว ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่ทุกคนต้องร่วมมือกันช่วยเหลือป้องกันมิให้เกิด “ปะการังฟอกขาว” เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและช่วยกันฟื้นฟูพร้อมอนุรักษ์และรักษาระบบนิเวศทางทะเลกลับมาสวยงามและอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง

-ขอขอบคุณข้อมูลประกอบจาก : https://km.dmcr.go.th/home

-ขอขอบคุณภาพจาก : ชมรมครูดำน้ำไทย และทีมอาสาสมัครดำน้ำเกาะเต่า