พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยและทรงคำนึงถึงความอยู่ดีมีสุขของประชาชนเป็นสำคัญ พระองค์มีพระราชปณิธานแน่วแน่ที่จะทำให้ประเทศชาติมั่นคงประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ด้วยมีพระราชประสงค์ที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และแนวพระราชดำริต่าง ๆ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้แก่ประชาชน และพัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้า โดยไม่เลือกเชื้อชาติ ชนชั้น หรือวรรณะ แม้ราษฎรจะอยู่ห่างไกล หรือไร้สัญชาติ หากอยู่ภายใต้ขอบขัณฑสีมาของพระองค์ ก็ล้วนได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานความช่วยเหลือให้มีกินมีอาชีพ สามารถพึ่งพาตนเองได้ และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างทั่วถึง
นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กรมประมงเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ได้ร่วมสนองงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริตามพระราชปณิธาน สืบสาน รักษา ต่อยอด ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์มาอย่างต่อเนื่อง โดยยึดหลักตามแนวพระราชดำริ เพื่อให้เกิดการทำงานที่เหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทในแต่ละพื้นที่ ที่นำมาซึ่งการแก้ไขปัญหาความทุกข์ยากของพสกนิกรที่ประกอบอาชีพด้านการประมง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งราษฎรกลุ่มชาวชาติพันธุ์ในถิ่นทุรกันดารที่อาศัยอยู่ตามแนวชายแดนของประเทศไทย ที่มีความจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาเช่นเดียวกับราษฎรในพื้นที่อื่นที่ยังขาดแคลนทรัพยากร ราษฎรมีความยากจน พื้นที่ยังได้รับการพัฒนาไม่ทั่วถึงเนื่องจากห่างไกลความเจริญ อีกทั้งยังมีความแตกต่าง ทั้งด้านความเชื่อ ศาสนา วัฒนธรรม และภาษาในสื่อสาร ให้ได้รับการสนับสนุนพัฒนาให้เกิดการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อีกทั้งนำไปสู่การปลูกจิตสำนึกของการรักษาหวงแหนอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำธรรมชาติ เช่น โครงการพัฒนาพื้นที่โครงการหลวง โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ (ดอยดำ) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ โครงการยามชายแดนบ้านมะโอโค๊ะ ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตากและโครงการพัฒนาชุมชนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ จังหวัดกาญจนบุรี เป็นต้น
อธิบดีกรมประมงกล่าวถึง โครงการพัฒนาชุมชนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ จังหวัดกาญจนบุรี ว่าเป็นอีกโครงการหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชปณิธานสืบสาน รักษา ต่อยอดพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการบำบัดทุกข์ และบำรุงสุขให้แก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ตามแนวชายแดนของประเทศไทย ห่างไกลความเจริญ มีความยากลำบากในการดำรงชีวิต ซึ่งเป็นชุมชนชาวกะเหรี่ยงที่ตั้งรกรากถิ่นฐานอยู่ที่บ้านสาละวะ – บ้านไล่โว่ ตำบลไล่โว่ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนให้เป็นแหล่งมรดกโลกจากองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือยูเนสโก (UNESCO) และเป็นชุมชนที่อยู่ในพื้นที่มาก่อนการประกาศให้เป็นพื้นที่มรดกโลก แต่เนื่องด้วยเป็นชุมชนที่มีพื้นที่ติดกับชายแดนประเทศเมียนมาร์ ทำให้มีปัญหาทั้งด้านคมนาคม สาธารณสุข สาธารณูปโภค การศึกษา และเศรษฐกิจ ชุมชนชายแดนแห่งนี้จึงสมควรได้รับการพัฒนาควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อความมั่นคงของประเทศ โดยการบูรณาการการพัฒนาชุมชนระหว่างหน่วยงานภาครัฐและชุมชน เพื่อให้ได้รับการพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างสมดุลและยั่งยืน
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเล็งเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติโดยไม่ละเลยคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน จึงทรงมีพระราชดำริให้ก่อตั้งโครงการพัฒนาชุมชนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ จังหวัดกาญจนบุรี อีกทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมรับโครงการพัฒนาชุมชนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ จังหวัดกาญจนบุรี ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยได้พระราชทานแนวทางการทำงานให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
กรมประมง จึงร่วมสืบสานพระราชปณิธานความห่วงใยคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน จึงได้ดำเนินกิจกรรมด้านประมงเพื่อร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวชาติพันธุ์ซึ่งเป็นชุมชนชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่บ้านสาละวะ – บ้านไล่โว่ ตำบลไล่โว่ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 2563 มาจนถึงปัจจุบัน โดยในปี 2567 สำนักงานประมงจังหวัดกาญจนบุรี มีแผนการดำเนินงานในพื้นที่บ้านสาละวะ – บ้านไล่โว่ ดำเนินการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ ภายใต้โครงการส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อบริโภคในครัวเรือน โดยสนับสนุนปัจจัยการผลิตในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เช่น พันธุ์สัตว์น้ำ (ปลากินพืช ปลาดุก และกบ) อาหารสัตว์น้ำ อุปกรณ์ในการเลี้ยงสัตว์น้ำ (แผ่นพลาสติกปูบ่อ และกระชัง) พร้อมทั้งให้ความรู้เรื่องการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อรายครัวเรือน มีเกษตรกรเป้าหมาย จำนวน 60 รายต่อปี เพื่อให้เกษตรกรมีอาหารโปรตีนบริโภคภายในครัวเรือน สามารถลดรายจ่ายในครัวเรือน และมีความรู้ความเข้าใจสามารถนำความรู้ไปใช้ในเรื่องการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ รวมถึงการส่งเสริมการเลี้ยงปลาในบ่อโรงเรียนและบ่อปลาชุมชน จำนวน 5 แห่ง เพื่อให้เกษตรกรและเด็กนักเรียนมีปลาไว้บริโภคทั้งภายในชุมชน และภายในโรงเรียน
โดยมีการกำหนดตัวชี้วัดเชิงคุณภาพด้านการมีอาหารโปรตีนบริโภคภายในครัวเรือน สามารถลดรายจ่ายในครัวเรือนได้จำนวนไม่น้อยกว่า 500 บาท/ครัวเรือน/ปี จากการดำเนินงานที่ผ่านมา พบว่า การเลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อของเกษตรกรสามารถลดรายจ่าย ได้ดังนี้ 1) การเลี้ยงกบ ได้ผลผลิตเฉลี่ยครัวเรือนละ 30 กิโลกรัม เกษตรกรสามารถขายได้กิโลกรัมละ 100 บาท ลดรายจ่ายได้ 3,000 บาท/ครัวเรือน/ปี 2) การเลี้ยงปลาดุก ได้ผลผลิตเฉลี่ยครัวเรือนละ 30 กิโลกรัม เกษตรกรสามารถขายได้กิโลกรัมละ 60 บาท ลดรายจ่ายได้ 1,800 บาท/ครัวเรือน/ปี และ 3) การเลี้ยงปลากินพืช ได้ผลผลิตเฉลี่ยครัวเรือนละ 20 กิโลกรัม เกษตรกรสามารถขายได้กิโลกรัมละ 40 บาท ลดรายจ่ายได้ 800 บาท/ครัวเรือน/ปี
นับเป็นความสำเร็จที่กรมประมงได้ดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพด้านการประมงให้กับกลุ่มชนชาวชาติพันธุ์ในถิ่นทุรกันดารทั่วประเทศ ให้ได้มีอาหารโปรตีนจากสัตว์น้ำไว้บริโภคในครัวเรือน สามารถลดรายจ่ายในครอบครัว สามารถพึ่งพาตนเองได้ ทำให้ไม่ต้องอพยพย้ายถิ่นฐาน ออกจากพื้นที่ เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้คนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน ซึ่งทั้งหมดคือ ความห่วงใยของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีต่อประชาชนชาวไทย ไม่ว่าจะอยู่แห่งหนใดของผืนแผ่นดินไทย จะทรงพระราชทานความช่วยเหลือ โดยทรงเน้นย้ำเรื่องการรักษากฎหมายที่เกี่ยวข้อง คำนึงถึงความเป็นพื้นที่เขตมรดกโลก และให้ความเท่าเทียมกันในเรื่องหลักมนุษยธรรมขั้นพื้นฐานที่ประชาชนพึงได้รับ รวมถึงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมของชุมชนเป็นสำคัญ