อาการเจ็บเข่า เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในทุกเพศทุกวัย สาเหตุของอาการปวดเข่านั้นมีหลากหลาย ขึ้นอยู่กับช่วงวัย การใช้งาน และปัจจัยอื่น ๆ บทความนี้จึงชวนมารู้และเข้าใจเกี่ยวกับสาเหตุที่พบบ่อยของอาการเจ็บเข่าในแต่ละวัย พร้อมแนวทางการรักษาอย่างถูกต้อง เพื่อช่วยให้คุณสามารถดูแลสุขภาพข้อเข่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อาการเจ็บเข่าในเด็ก และการรักษา
วัยเด็ก เป็นช่วงวัยที่มักเล่นโลดโผนโดยขาดความระมัดระวัง ดังนั้นจึงอาจได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุได้ง่าย อย่างไรก็ตาม อาการเจ็บเข่าบางอย่างในเด็กก็สามารถเกิดจากโรคบางอย่างได้เช่นกัน จึงควรเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่ที่จริงต่อไป
สาเหตุที่พบบ่อย
- อุบัติเหตุ : หกล้ม กระแทก ถูกของหนักทับ
- โรครูมาตอยด์ในเด็ก : เป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรัง เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันทำลายข้อต่อตัวเอง นอกจากนี้ เด็กยังอาจมีอาการปวดกระดูกจากโรคข้ออักเสบจากการติดเชื้ออีกด้วย เช่น โรคข้อสะโพกอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย หรือปวดกระดูกจากโรคที่เป็นแต่เกิด เช่น โรคสะโพกบิดผิดรูปตั้งแต่กำเนิด
การรักษา
- กรณีอุบัติเหตุ : แพทย์จะประเมินความรุนแรงของอาการบาดเจ็บ อาจต้องใส่เฝือก หรือผ่าตัด
- กรณีโรครูมาตอยด์ในเด็ก : แพทย์จะสั่งยารักษาเฉพาะโรค หรือในกรณีที่เป็นโรคข้ออักเสบ แพทย์จะสั่งยาต้านการอักเสบ ยาแก้อักเสบ หรือทำกายภาพบำบัด ส่วนกรณีที่เป็นโรคสะโพกบิด อาจต้องผ่าตัดแก้ไข
อาการเจ็บเข่าในวัยรุ่น และการรักษา
วัยรุ่น เป็นช่วงวัยที่มีอัตราการเผาผลาญที่ดี และมีความพร้อมที่จะสร้างความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อ จึงเป็นช่วงวัยนี้ที่สนุกสนานกับการเล่นกีฬาได้ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นกีฬาประเภทเล่นเดี่ยว หรือกีฬาประเภททีมที่อาจมีการกระทบกระทั่งกันเกิดขึ้น จึงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอาการเจ็บเข่าได้
สาเหตุที่พบบ่อย
- การเล่นกีฬา : ประเภทกีฬาที่ส่งแรงกระทบกระเทือนต่อหัวเข่ามาก ๆ เช่น ฟุตบอล บาสเก็ตบอล วิ่ง
- โรค Osgood-Schlatter : โรคปุ่มกระดูกหน้าแข้งอักเสบ หรือปุ่มกระดูกใต้หัวเข่าอักเสบ เชื่อว่าเกิดจากการบาดเจ็บเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างเรื้อรัง และจัดเป็นโรคที่เกิดจากการใช้งานมากเกินไป อาการเจ็บเข่าจะเป็นมากเวลาคุกเข่า พบได้ในวัยรุ่นที่เล่นกีฬา
- โรค Sinding-Larsen-Johansson : หรือ Jumper's Knee กระดูกอ่อนบริเวณหัวเข่าอักเสบ อาการปวดมักเป็นที่ส่วนล่างของลูกสะบ้า พบในวัยรุ่นที่เล่นกีฬาหนัก ๆ มาก ๆ
การรักษา
- หากเกิดจากการเล่นกีฬาหนัก อาจต้องพักการเล่นกีฬา หรือประคบเย็น หรือใช้อุปกรณ์เสริม เช่น การพันเข่า หรือการกินยาแก้อักเสบ ร่วมกับการทำกายภาพบำบัด
- กรณีโรค Osgood-Schlatter หรือ Sinding-Larsen-Johansson ควรพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำ และการรักษาออร์โธปิดิกส์
อาการเจ็บเข่าในวัยทำงาน และการรักษา
อาการเจ็บเข่าในวัยทำงาน มักเกิดจากการทำงานหนักเกินไป เช่น ยกของ ยืนหรือเดินนาน ๆ หรืออยู่ในท่าเดิมบ่อยเกินไปในกรณีของชาวออฟฟิศ นอกจากนี้ยังเป็นช่วงวัยที่เริ่มมีความเสื่อมของร่างกาย ดังนั้น อาจเริ่มเผชิญกับปัญหาเข่าเสื่อมได้เช่นกัน
สาเหตุที่พบบ่อย
- การใช้งานข้อเข่าหนัก : ยืน เดิน นั่งนาน ๆ ยกของหนัก
- โรคข้อเข่าเสื่อม : กระดูกอ่อนในข้อเข่าเสื่อมสภาพตามวัย
- โรคข้ออักเสบ : เช่น โรครูมาตอยด์ โรคเก๊าท์
- เส้นเอ็นหรือหมอนรองข้อเข่าอักเสบหรือฉีกขาด
การรักษา
- ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม: หลีกเลี่ยงการใช้งานข้อเข่าหนัก ๆ ลดน้ำหนัก
- การรักษาตามอาการ เช่น กินยาแก้อักเสบ ประคบเย็น พันเข่า กายภาพบำบัด ฉีดยาสเตียรอยด์
- การรักษาด้วยคลื่นความถี่สูง
- การผ่าตัด กรณีข้อเข่าเสื่อมระยะรุนแรง หรือเส้นเอ็น/หมอนรองข้อเข่าฉีกขาด
อาการเจ็บเข่าในวัยชรา และการรักษา
อาการเจ็บเข่าเป็นปัญหาที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ สาเหตุหลักมักมาจากโรคข้อเข่าเสื่อม ซึ่งเป็นภาวะที่กระดูกอ่อนเสื่อมสภาพตามกาลเวลา นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่น ๆ อีกมากมาย จึงควรเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุที่ที่แท้จริง เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป
สาเหตุที่พบบ่อย
- โรคข้อเข่าเสื่อม : เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด เกิดจากการสึกหรอของกระดูกอ่อนในข้อเข่าตามกาลเวลา
- โรคข้ออักเสบอื่น ๆ : เช่น โรครูมาตอยด์ โรคเก๊าท์ โรคสะเก็ดเงิน ทำให้เกิดอาการข้ออักเสบ ปวด บวม แดง ร้อน
- ปัญหาเกี่ยวกับเส้นเอ็นและหมอนรองข้อเข่า : อาจอักเสบหรือฉีกขาด ทำให้ปวด บวม เข่าหลวม หรือรู้สึกเหมือนเข่าล้ม
- ภาวะกระดูกพรุน : กระดูกที่เปราะบางอาจทำให้เกิดอาการปวดเข่า กระดูกหัก หรือข้อเข่าเสื่อมได้ง่ายขึ้น
- น้ำหนักตัว : น้ำหนักตัวที่มากเกินไปจะเพิ่มแรงกดทับข้อเข่า ส่งผลให้อาการปวดเข่ารุนแรงขึ้น
- โรคประจำตัวอื่น ๆ : โรคบางชนิด เช่น โรคเบาหวาน โรคไต โรคความดันโลหิตสูง อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคข้อเข่าเสื่อม
การรักษา
- การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม : เช่น ลดน้ำหนัก หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ส่งผลกระทบต่อข้อเข่า ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ใช้ไม้เท้า หรืออุปกรณ์ช่วยพยุง
- ยา : ยาแก้อักเสบ ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาสเตียรอยด์ (กรณีฉีดเฉพาะจุด)
- กายภาพบำบัด : ฝึกบริหารกล้ามเนื้อรอบข้อเข่า ฝึกยืดเหยียดกล้ามเนื้อ ฝึกการทรงตัว
- การรักษาอื่น ๆ : การฉีดสารหล่อลื่นข้อเข่า การรักษาด้วยคลื่นความถี่สูง
- การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม (กรณีข้อเข่าเสื่อมระยะรุนแรง)
หวังว่าบทความนี้จะให้ความรู้เกี่ยวกับสาเหตุที่พบบ่อยของอาการเจ็บเข่าในทุกช่วงวัย พร้อมแนวทางการรักษาอย่างถูกต้อง เพื่อช่วยให้ทุกคนสามารถดูแลสุขภาพข้อเข่าและบรรเทาอาการปวดได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันเป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น