วันที่ 21 ก.ค.2567 นายประภาส ปิ่นตบแต่ง สว.สายประชาสังคม เปิดเผยว่า ในการประชุมวุฒิสภาในวันอังคารที่ 23 ก.ค.เพื่อเลือก ประธานวุฒิสภา และรองประธานทั้งสองคน ทางกลุ่มสว.พันธุ์ใหม่มีความชัดเจนแล้วว่าจะเสนอ นส.นันทนา นันทวโรภาส เป็นประธานวุฒิสภา และรองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่งนายแล ดิลกวิทยรัตน์ และนางอังคณา นีละไพจิตร เป็นรองประธานวุฒิสภา คนที่สอง ซึ่งถ้าเป็นไปตามข้อบังคับการประชุมแต่ละคนก็จะต้องแสดงวิสัยทัศน์เชื่อว่านางนันทนา จะแสดงวิสัยทัศน์ในเชิงบวกว่าคุณสมบัติของคนที่เป็นประธานวุฒิสภาควรจะเป็นอย่างไร ส่วนจะได้หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับสมาชิกวุฒิสภาจะมีความเห็นอย่างไรหลังจากฟังการแสดงวิสัยทัศน์ของทั้ง 3 คนแล้ว แต่เชื่อว่าคงจะมีการประนีประนอมกันกับกลุ่มสว. สีน้ำเงิน เพราะฉะนั้นการประชุมในวันที่ 23 ก.ค คงจะราบรื่นไม่มีอะไร และลงมติกันไป
"ผมสนใจตำแหน่งรองประธานวุฒิสภา คนที่สองมากกว่า ว่าสายสีน้ำเงินจะลงมติกันอย่างไร ถ้าไม่ให้สว.พันธุ์ใหม่สักตำแหน่ง เชื่อว่าสังคมและสื่อมวลชนก็คงจะช่วยกันตรวจสอบว่ามีคนที่มีคุณสมบัติที่ดีแล้วไม่เลือก คนที่ยกมือสนับสนุนก็ต้องรับฟังเสียงสังคม ผมคิดว่าสังคมก็เคลื่อนไปแบบนี้ จะไปพลิกฟ้าพลิกแผ่นดินครั้งเดียวคงไม่เป็นอย่างนั้น" นายประภาส กล่าว
เมื่อถามว่าการแบ่งกลุ่มแบ่งก๊วนจะเป็นอุปสรรคในการทำงานของสว.มีปัญหา โดยเฉพาะการพิจารณากฎหมายสำคัญๆและการเลือกองค์กรอิสระ นายประภาส กล่าวว่า ที่ผ่านมาก็เป็นอย่างนี้ ซึ่งการแก้ไข รัฐธรรมนูญก็คงยาก เพราะต้องใช้เสียงสว. 1 ใน 3 คือ 67 คน ซึ่งบางมาตราอาจจะเห็นด้วย อาจจะไม่ต้องแก้ไขหรือยกร่างใหม่ทั้งฉบับ แต่ตนคิดว่ามีหลายมาตราน่าจะเห็นร่วมกันว่าจะต้องมีการแก้ไข อยู่ที่จุดมุ่งหมายว่าต้องการที่จะไปปฏิรูปใหม่ก็ต้องมีการตั้งส.ส.ร เหมือนรัฐธรรมนูญปี 2540 ต้องยอมเสียเวลา ถ้าถามว่ายากก็ยากอยู่แล้ว ที่ผ่านมามีถึง 13 ร่าง ดังนั้นตนคิดว่าคงจะมีแก้การแก้ไขบางมาตรา ที่เป็นปัญหาจริงๆ รวมทั้งการเลือกสว. ที่ผ่านมา น่าจะมีการทบทวนใหม่ แต่ไม่คงไม่ใช่เร็วๆนี้ ต้องให้ทำงานกันไปก่อน อาจจะเป็นช่วงปลายสมัยของสว.ชุดนี้
เมื่อถามว่าจึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่พรรคก้าวไกลเสนอให้มีสภาฯเดียว นายประภาส กล่าวว่า พรรคก้าวไกลพูดเรื่องนี้มาตั้งนานแล้ว เสนอได้แต่แก้ไม่ได้เหมือนเดิม ถ้ามีสภาฯเดียวก็ต้องไปแก้รัฐธรรมนูญ แต่เสียงพรรคก้าวไกลมีอยู่นิดเดียว สว.ก็ถูกคุมได้แล้วจะไปแก้อย่างไร แต่ก็ยังมีเรื่องดีๆมานิดหนึ่งทั้ง 2 ระบบสว.ก็เป็นอย่างนี้มาตั้งแต่หลังรัฐรัฐประหาร ผู้คนก็ยังทนกันมาได้ แต่ก็ยังมีการเปรียบเทียบ กับสว.ชุดที่แล้ว ที่มีการอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ก็มีการเอารัฐมนตรีมาสรรเสริญกัน ครั้งนี้ก็อาจจะมีแต่คงไม่ใช่ทั้งหมด จะมีการทำงานในเชิงตรวจสอบ ก็จะมีสว.ที่ไม่ใช่สีน้ำเงินแม้จะไม่มาก ถ้าขยันทำงาน เป็นชิ้นเป็นอัน เหมือนสว.ที่มาจากการเลือกตั้งปี 2540 ที่ขยันทำงานเข้มแข็ง อย่างนพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ และนายจอห์น อึ้งภากรณ์ แม้จะมีข้อจำกัด แต่ก็ทำให้เห็นผลงานได้
"เพราะฉะนั้นสว.ชุดนี้ก็ยังย่ำอยู่เหมือนเดิมไม่ได้เป็นตามไปตามเจตนารมณ์ของคนที่ร่าง รัฐธรรมนูญ ที่อยากให้ระบบการเลือกแบบนี้ได้ผู้ทรงคุณวุฒิ ตัวแทนกลุ่มอาชีพ ถือว่าประสบความล้มเหลว แต่ก็ไม่ได้ทั้งหมด ดังนั้น.คนในสังคมก็ต้องช่วยกันตรวจสอบรวมถึงหนังสือมวลชนจับจ้องอยู่คงทำอะไรไม่ได้มาก และไม่น่าจะถึงกับปิดประตูตีแมว หรืออยู่ในแดนสนธยา" นายประภาส กล่าว