สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ซี่งอยู่ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ขับเคลื่อนงานส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน ในรูปแบบเกษตรอินทรีย์ ผ่านการดำเนินโครงการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ในเขตปฏิรูปที่ดิน โดยเล็งเห็นว่าเกษตรอินทรีย์ เป็นระบบการเกษตรที่เน้นความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ ลดการใช้ปัจจัยการผลิตจากภายนอก และไม่ใช้สารเคมีเพื่อการเกษตร เน้นการปรับปรุงบำรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ รวมถึงยังช่วยทำให้สินค้าเกษตรมีมูลค่าสูงขึ้นได้ โดยการส่งเสริมให้ความรู้ ความเข้าใจ และฝึกทักษะการทำเกษตรอินทรีย์ให้แก่เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน
สวนภูตาดโฮมออร์แกนิค อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ในเขตปฏิรูปที่ดินที่ได้รับการอบรม และให้ความรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรอินทรีย์ ซึ่งเป็นการทำการเกษตรด้วยวิธีทางธรรมชาติ หลีกเลี่ยงการปนเปื้อนของสารเคมีทั้งทางดิน ทางน้ำ และทางอากาศ โดยนางรจนา เขื่อนขัน เจ้าของสวนภูตาด กล่าวว่า “พื้นที่ตรงนี้เราได้ยื่นขอเอกสารสิทธิ์กับทางสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดเชียงราย ในการใช้ที่ดินเพื่อทำการเกษตร หลังจากยื่นขอสิทธิ์แล้ว ส.ป.ก. ก็ได้มีส่วนเข้ามาช่วยสนับสนุนเราในเรื่องของการให้องค์ความรู้ มีการส่งไปฝึกอบรมเรียนรู้ในเรื่องของหลักกสิกรรมธรรมชาติ เกษตรอินทรีย์ เกษตรทฤษฎีใหม่ ศาสตร์พระราชาในเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียง และยังช่วยผลักดันให้เป็นศูนย์เรียนรู้ต้นแบบให้กับคนในพื้นที่ ส.ป.ก. ที่อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเหมือนกัน ในเรื่องของการทำการเกษตรอินทรีย์และการบริหารจัดการดิน น้ำ ป่า ทำให้สวนภูตาดเป็นสวนที่มีพื้นที่สีเขียวขจี เพราะมีการจัดสรรการเกษตรที่เป็นระบบ การทำการเกษตรแบบธรรมชาติให้พืชจัดการกับพืช โดยจะปลูกพืชผักสลับกันเพื่อไม่ให้เกิดโรคและหลีกเลี่ยงพวกหนอนแมลง เน้นในเรื่องของการปรับปรุงบำรุงดิน ถ้ามีดินที่ดีพืชก็จะมีการเจริญเติบโต ซึ่งปุ๋ยที่ใช้จะเป็นปุ๋ยที่ได้มาจากมูลสัตว์ที่ทางสวนเลี้ยงเอง โดยเรามีการนำเอาความรู้ในเรื่องของการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่มาใช้ซ้ำ หมุนเวียนภายในสวนตามโครงการต่าง ๆ ที่ทางสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดเชียงราย ได้นำมาเผยแพร่และบอกกล่าวความรู้ให้แก่เกษตรกร ”
ทั้งนี้ โครงการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ในเขตปฏิรูปที่ดินของ ส.ป.ก. มีเป้าหมายหลัก คือ การส่งเสริมภาคการเกษตรของประเทศและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน โดยเริ่มจากการพัฒนาเกษตรกรสร้างความรู้ ความเข้าใจ และเพิ่มทักษะการผลิตในระบบเกษตรอินทรีย์ให้แก่เกษตรกรผ่านกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม เพื่ออนุรักษ์และปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมให้กลับมาสมบูรณ์ เปลี่ยนแปลงห่วงโซ่อาหารที่ถูกทำลายจากสารเคมีให้กลับมามีสภาพที่ดีขึ้น ช่วยลดต้นทุนการผลิต ทำให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น ผลผลิตที่ได้มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค นอกจากนี้ ยังช่วยลดการนำเข้าปุ๋ยเคมีและสารเคมีกำจัดศัตรูพืชลงได้