ผู้เฒ่าไร้สัญชาติสุดเศร้า! ตายก่อนได้บัตรประชาชนนับสิบราย เหตุกระบวนการยังล่าช้า “ครูแดง”ชวน “อนุทิน”ลงพื้นที่ดูข้อเท็จจริง พ่อเฒ่าไทยลื้อเผยอยู่ไทย 50-60 ปีขอตายเป็นคนไทย

วันที่ 17 กรกฎาคม 2567 เวลา 10.00 น. ณ ศาลาหมู่บ้านปิยะพร ต.แม่สายมิตรภาพ อ.แม่สาย จ.เชียงราย “ครูแดง” นางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการผู้ก่อตั้งมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) น.ส.เพียรพร ดีเทศน์ เลขาธิการ พชภ.และคณะเจ้าหน้าที่ด้านสิทธิ พชภ. ได้จัดเวทีกระบวนการเพื่อสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพของผู้เฒ่าไร้สัญชาติ ซึ่งสนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมีผู้เฒ่าไร้สัญชาติชาวไตลื้อจากพื้นที่ อ.แม่สาย อ.แม่จัน อ.เชียงแสน อ.เมือง อ.แม่สรวยกว่า 100 คนเข้าร่วม

นางเตือนใจ กล่าวว่าการจัดกระบวนการพูดคุยกับผู้เฒ่าไร้สัญชาติในวันนี้มีกลุ่มผู้เฒ่าที่ได้ยื่นคำร้องขอแปลงสัญชาติเป็นไทย อยู่ระหว่างการรอตั้งแต่ 3 เดือนถึง 4 ปี แต่ยังไม่สำเร็จ จึงเปิดเวทีรับฟังประเด็นข้อติดขัด การดำเนินโครงการเรื่องผู้เฒ่าไร้สัญชาติ ที่ได้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2555 เพื่อให้ชนกลุ่มน้อยหและชาติพันธุ์ที่มาอยู่ในประเทศไทยนานกว่า 40 ปี มีลูกหลานเป็นบุคคลสัญชาติไทย และตั้งรกรากในไทย แต่ยังไม่ได้สัญชาติไทย การดำเนินการของ พชภ.พยายาม “สร้างถนน” ในการขอแปลงสัญชาติ เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษเพราะเป็นกลุ่มเปราะบาง มีถิ่นฐานในประเทศไทยอย่างยาวนาน โดยผู้เฒ่าไร้สัญชาติทั้งประเทศมีจำนวนกว่า 1.1 แสนคน และที่ได้ยื่นคำร้องแปลงสัญชาติไปกว่า 1.6 หมื่นคน โดยในจังหวัดเชียงรายมีประมาณ 1,000 คนที่ยังรออยู่ในขั้นตอนต่างๆ  พบว่าขณะนี้มีผู้ยื่นที่เอกสารผ่านระดับจังหวัดไปแล้วรอการเซ็นอนุมัติจากรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยจำนวนมาก

“ต้องการเชิญ คุณอนุทิน ชาญวีระกุล  รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ลงพื้นที่พบปะกลุ่มผู้เฒ่าไร้สัญชาติ รับฟังข้อมูลจากพื้นที่จากกลุ่มผู้สูงอายุที่ควรได้รับสิทธิในการมีสัญชาติ โดยกระบวนการขั้นตอนการแปลงสัญชาติใช้เวลาที่ยาวนาน ผู้เฒ่าหลายคนยื่นคำร้องแต่ต้องรอจนเสียชีวิตไปแล้ว มีคำร้องที่ตกค้างอยู่ในแต่ละขั้นตอนจำนวนมาก แม้จะมีการแก้ไขอุปสรรค ปรับปรุง กฎหมายพิจารณาสัญชาติแก่ชนกลุ่มน้อยและชาติพันธุ์ ม.10 พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ. 2508 แล้ว แต่ยังมีกระบวนการ กลไก อุปสรรคทางกฎหมายอื่น ๆ ที่รอการปรับปรุงแก้ไข“ ครูแดงกล่าว

นางเตือนใจกล่าวว่า รัฐบาลไทยควรทำแผนปฏิบัติการระดับชาติในเรื่องสถานะบุคคล เพราะประเทศไทยเป็นประเทศรับผู้ลี้ภัยจำนวนมากของโลก ฉะนั้นควรทำให้ชัดเจนกับคนที่มาอยู่ก่อนที่ยังค้างการพิจารณาจำนวนมาก และสถานการณ์ปัจจุบันที่สถานการณ์ความรุนแรงในประเทศพม่า และปัญหาการอพยพจากเหตุอื่น ๆ อีก นอกจากนี้ยังต้องการเสนอให้มีการทบทวนกฎหมายการแปลงสัญชาติ  เช่น การแปลงสัญชาติคนจีนในสมัยรัฐกาลที่ 5 เพราะมีความเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน และเรื่องสัญชาติควรจะมีประมวลกฎหมายเฉพาะเพื่อให้มีการดำเนินการที่ชัดเจนคล่องตัว

นายแอ่น  ลิวไชย นายกสมาคมไตลื้อ กล่าวว่า มีผู้เฒ่าคนไตลื้อจำนวนมากที่ยื่นคำร้องขอแปลสัญชาติหลายคนอยู่มานาน วันนี้ผู้เฒ่าที่มาร่วมประชุมอายุสูงสุดอยู่ที่ 86 ปี การมาร่วมเวทีนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่มีการแจ้งไปและส่งตัวแทนมาประชุม ถ้าประกาศจะมีคนมาฟังอีกเป็นจำนวนมาก เช่น อำเภอแม่สายตอนนี้มียื่นกว่า 600 คน และได้บัตรประชาชนแล้วประมาณ 100 กว่า คน

นายทูล  วงค์ษา ที่ปรึกษาสมาคมไตลื้อเชียงราย กล่าวว่า ที่ อ.แม่สรวย ขณะนี้มีคนยื่นคำร้องผ่านการสอบระดับจังหวัด ส่งไปที่กระทรวงมหาดไทยแล้วจำนวนกว่า 100 คน ตั้งแต่ปี 2560-2567 มีผู้เฒ่าที่ยื่นคำร้องในปี 2560 จำนวน 33 คน ตอนนี้เสียชีวิตไปแล้ว 10 คน  ผู้เฒ่าจำนวนมากมีความสนใจติดตามการสถานะในการยื่นคำร้องว่าจะมีโอกาสได้สัญชาติไทยเมื่อไหร่ เพราะผ่านไปแต่ละวันก็มีความหมายมากสำหรับผู้สูงอายุ

“เราอยู่ที่นี่แล้วก็อยากได้บัตรไทย ขอเป็นคนไทย ตายก็ขอตายเป็นคนไทย เราภาคภูมิใจในความเป็นคนไทย  เรารอคอยตลอดมา 50-60 ปี เรามีความหวังในการรอคอย ที่เรามีบ้านอยู่ มีกิน มีอาชีพ มีครอบครัว ก็เพราะผืนแผ่นดินไทย” นายทูล กล่าว