27 ผู้เฒ่าชาวอาข่า- จีนยูนนานสุดปลื้มได้ถ่ายบัตรประชาชน อายุมากสุด 93 ปี แม่เฒ่าวัย 80 ดีใจได้บัตรคนไทยตรงวันเกิดพอดี “ครูแดง”เผยผู้สูงอายุอีกนับแสนคนกำลังรอความหวัง เสนอนายก-มท.1 เร่งรัดกระบวนการให้สั้นลงอีก เหตุเป็นกลุ่มเปราะบาง

เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2567 ณ ที่ว่าการอำเภอแม่ฟ้าหลวง อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย คณะทำงานด้านสิทธิสถานะบุคคล มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.)ได้นำผู้เฒ่าไร้สัญชาติ ชาติพันธุ์อาข่า และเชื้อสายจีนยูนนาน บ้านป่าคาสุขใจ บ้านใหม่สันติ  และบ้านห้วยไร่ อ.แม่ฟ้าหลวง จำนวน 27 คน ซึ่งได้รับสัญชาติไทยด้วยการแปลงสัญชาติจากชนกลุ่มน้อยเป็นไทยหลังจากอยู่ในแผ่นดินไทยมาแล้ว 40-50 ปี มาดำเนินการถ่ายบัตรประจำตัวประชาชน โดยมีนางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการที่ปรึกษามูลนิธิ พชภ.และอดีตสมาชิกวุฒิสภา จ.เชียงราย ร่วมให้กำลังใจ

ทั้งนี้ก่อนหน้านี้นายบรรจบ จันทรัตน์ รองธิบดีกรมการปกครองได้มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เรื่องการได้สัญชาติไทย ลงวันที่ 16 มกราคม 2567 ให้ดำเนินการแจ้งอำเภอเมืองเชียงราย อำเภอแม่สาย อำเภอแม่ฟ้าหลวง ในฐานะเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 ออกหนังสือสำคัญการแปลงสัญชาติเป็นไทยให้แก่คนต่างด้าวซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่ได้รับสัญชาติไทย จำนวน 40 ราย ซึ่งเป็นไปตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ลงนามประกาศ เรื่องพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้แปลงสัญชาติเป็นไทย และลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 20 ธันวาคม 2566  

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการถ่ายบัตรเป็นเป็นไปอย่างอบอุ่น โดยลูกหลานของผู้เฒ่าและตัวผู้เฒ่าแต่งชุดประจำเผ่า และต่างมาให้กำลังใจกันด้วยรอยยิ้ม โดยชาวบ้านชาติพันธุ์ทั้ง 3 หมู่บ้านมาถึงที่ว่าการอำเภอตั้งแต่เช้า และมีแม่เฒ่ารายหนึ่งเป็นวันครบรอบวันเกิด 80 ปีพอดีในวันนี้ จึงดีใจปลื้มปิติเป็นอย่างมาก

นายเล่าเอ๋อ แซ่เหว่ย อดีตทหารจีนคณะชาติ อายุ 78 ปี บอกว่าดีใจมากที่วันนี้ได้ถ่ายบัตรประชาชน ตนเองเป็นทหารมาจนแก่แล้ว ลูกก็เป็นคนไทย เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ดีใจที่วันนี้ได้เป็นคนไทย ตอนอายุไม่ถึงยี่สิบปี ตนเป็นทหารเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ ตอนนั้นยังไม่มีหมู่บ้าน พวกเรามาก่อตั้งมีภูมิลำเนาที่แม่ฟ้าหลวง

นายอิ้วหมิน แซ่หยาง อดีตทหารจีนคณะชาติ บอกว่าวันนี้ได้บัตรประชาชนดีใจ อยู่ประเทศไทยมาตลอดชีวิต รู้ว่าเป็นคนไทยมาโดยตลอด แต่ไม่มีบัตรประชาชนก็ไม่มีสิทธิ รู้สึกน้อยใจทำอะไรก็ลำบาก ครั้งนี้ได้มีสิทธิเหมือนเขาบ้าง วันนี้ผู้เฒ่าต่างรู้สึกตื่นเต้น นอนไม่หลับ ตื่นเช้าตีห้าเคาะประตูเรียกลูกให้พามาอำเภอ

นายฟะซิง ศิริยอดอนันต์ ผู้ใหญ่บ้าน บ้านใหม่สันติ ม.12 ต.แม่สลองนอก กล่าวว่าวันนี้มีผู้เฒ่าไร้สัญชาติมา 16 คน ที่หมู่บ้านยังมีรออยู่อีกกว่า 10 คน และมีผู้เฒ่าไร้สัญชาติที่ยังไม่ได้ยื่นคำร้องขอแปลงสัญชาติ เป็นชาวจีนยูนนาน กองพล 93 มาตั้งถิ่นฐานอยู่ประมาณ 58 ปี มาพร้อมทหารเป็นครอบครัวที่มาอยู่ด้วยกัน เป็นอดีตทหารจีนคณะชาติ 3 คน มีมีเสียชีวิตระหว่างรอการแปลงสัญชาติ 1 คน

นางเตือนใจ ดีเทศน์ กล่าวว่า ผู้เฒ่าชาวอาข่า และเชื้อสายจีนยูนนาน 27 รายนี้ เป็นกรณีตัวอย่างของผู้ที่รอความหวังที่จะได้สัญชาติไทย  เพื่อจะได้สิทธิและทำหน้าที่พลเมืองอย่างสมบูรณ์ ซึ่งมีผู้เฒ่าที่มีอายุมากที่สุดคือ นายอายู แย่แบวกู่ อายุ 93 ปี ผู้เฒ่ามีคุณสมบัติที่จะยื่นขอแปลงสัญชาติได้ คือถือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว และใบถิ่นที่อยู่ถาวรตั้งแต่พ.ศ. 2546 

“กระทรวงมหาดไทยได้ปรับแนวทางการใช้ดุลยพินิจตั้งแต่รัฐบาลชุดก่อน อนุมัติให้แปลงสัญชาติของผู้เฒ่าที่เป็นชนกลุ่มน้อย ทั้งในเรื่องคุณสมบัติ  เรื่องการมีอาชีพที่มั่นคง มีรายได้ การเสียภาษี เรื่องความรู้ภาษาไทยและการมีความประพฤติดี ผู้เฒ่าไร้สัญชาติจึงได้ยื่นคำขอแปลงสัญชาติไทย ตามมาตรา 10 แห่งพรบ.สัญชาติ พ.ศ.2508  เมื่ออำเภอตรวจสอบว่ามีคุณสมบัติครบถ้วน จึงส่งคำร้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายพิจารณา และส่งคำร้องให้คณะทำงานสัมภาษณ์ สังเกตพฤติการณ์ และทดสอบความรู้ภาษาไทย  ของจังหวัดเชียงราย เมื่อ 21 ตุลาคม 2563 จึงส่งเรื่องให้กรมการปกครอง ดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ มากกว่า 14  ขั้นตอน” นางเตือนใจ กล่าว  

กรรมการที่ปรึกษามูลนิธิ พชภ.กล่าวว่า ต่อมา 17 กุมภาพันธ์ 2566 อำเภอแม่ฟ้าหลวง ได้แจ้งให้ผู้เฒ่ามาปฏิญาณตน ตามที่กรมการปกครองแจ้งรายชื่อผู้ได้รับพระบรมราชานุญาตให้แปลงสัญชาติเป็นไทย และส่งหลักฐานไปจังหวัดเชียงราย และจังหวัดส่งหลักฐานไปยังกรมการปกครอง เสนอไปยังกระทรวงมหาดไทยเพื่อลงนามในประกาศ ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2566 จนได้มาถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนในวันนี้ นับระยะเวลา จากคณะทำงานฯ จังหวัดเชียงรายเห็นชอบ จนถึงวันที่จะได้บัตรประจำตัวประชาชนและมีชื่อในทะเบียนบ้านราษฎรไทย เป็นระยะเวลายาวนานถึง 3 ปี 4 เดือน  

“เป็นผลจากการการติดตามประสานงานอย่างใกล้ชิดกับกรมการปกครอง ทำให้ลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นไปได้บางส่วน ทำให้เวลาที่ยาวนานของขั้นตอนลดลงได้บ้าง และได้เห็นรอยยิ้มของผู้เฒ่าในวันนี้” นางเตือนใจ กล่าว  

อดีตสมาชิกวุฒิสภา กล่าวอีกว่าปัจจุบันมีผู้เฒ่าไร้สัญชาติในประเทศไทยจำนวนไม่น้อยกว่า 100,000 คน ซึ่งเป็นผู้ที่ที่มีภูมิลำเนาในประเทศไทยยาวนานกว่า 30 -60 ปี จนกลมกลืนกับสังคมไทย และได้ทำประโยชน์ทางสังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม มีลูกหลานเป็นพลเมืองสัญชาติไทย แต่กลับยังมีสถานะเป็นคนไร้สัญชาติ ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิ  จึงขอเสนอให้นายเศรษฐา  ทวีสิน  นายกรัฐมนตรีและนายอนุทิน ชาญวีระกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กำหนดนโยบายเร่งด่วน แก้ปัญหาผู้เฒ่าไร้สัญชาติซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางที่สุด ให้ได้เข้าถึงสิทธิในสวัสดิการของรัฐ และทำหน้าที่พลเมืองไทย โดยไม่ต้องใช้เวลานานนับ  10 ปี อย่างที่เป็นมาในอดีต  

ทั้งนี้มูลนิธิพชภ. ได้ดำเนินการในการแก้ไขปัญหากลุ่มผู้เฒ่าไร้สัญชาติ  ตั้งแต่ พ.ศ.2555 โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่าผู้เฒ่ากลุ่มที่ไม่ใช่ชาวเขาดั้งเดิม ยื่นคำร้องขอแปลงสัญชาติ ซึ่งพบปัญหาเรื่องคุณสมบัติ หลักฐานการมีภูมิลำเนาต่อเนื่องในราชอาณาจักร เรื่องการมีอาชีพเป็นหลักฐาน รายได้ การเสียภาษี ความรู้ภาษาไทย และการตรวจสอบประวัติด้านความมั่นคงของชาติ อาชญากรรม และยาเสพติด ที่ผ่านมาได้มีการปรับแนวทางประกอบการใช้ดุลยพินิจ ให้แปลงสัญชาติสำหรับผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป แต่ยังมีปัญหาขั้นตอนต่างๆ ยังใช้เวลายาวนานไม่ต่ำกว่า 3 ปี แม้ระยะเวลาจะสั้นลงมาก แต่ยังสามารถลดขั้นตอนลงได้อีก ซึ่งระยะเวลาในการได้รับรองสัญชาติไทยมีคุณค่าอย่างยิ่งกับผู้สูงอายุกลุ่มนี้ นอกจากเรื่องสวัสดิการที่พวกท่านจะได้รับการดูแลแล้ว สิ่งสำคัญคือเรื่องของความภาคภูมิใจในการเป็นคนไทยอย่างสมบูรณ์