แม้จะตระหนกตกใจกันไปบ้าง แต่เมื่อตั้งหลักกันได้ ล้วนเอ่ยปากแทบไปเสียงเดียวกันว่า ไม่ได้เหนือความคาดหมายสักเท่าไหร่
นั่นคือ เสียงของชาวอเมริกันที่มีต่อเหตุการณ์พยายามลอบสังหารนายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างการกล่าวปราศรัยรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งที่เมืองบัตเลอร์ รัฐเพนซิลเวเนีย ท่ามกลางผู้คนพลพรรครีพับลิกัน ที่มารวมตัวกันฟังอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง เมื่อช่วงบ่ายของสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
โดยเหตุการณ์พยายามลอบสังหาร ปรากฏว่า อดีตประธานาธิบดีทรัมป์ ไม่ได้ถูกสังหารสมดั่งใจของผู้ลั่นไก ซึ่งคนร้ายใช้ปืนไรเฟิลกึ่งอัตโนมัติ เป็นอาวุธสังหาร แต่กระสุนปืนพลาดเป้าไปถูกประชาชนที่มาฟังการปราศรัย จนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย และมีผู้บาดเจ็บสาหัส 2 ราย ส่วนอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งเป็นเป้าสังหาร ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยที่ส่วนบนของใบหูข้างขวาเท่านั้น รับการรักษาที่โรงพยาบาลไม่กี่ชั่วโมง ก็กลับบ้านได้ ขณะที่ คนร้ายถูกเจ้าหน้าที่ของหน่วยพิทักษ์อารักขาประธานาธิบดี หรือซีเคร็ทเซอร์วิส วิสามัญฆาตกรรม ใช้อาวุธปืนยิงสวนจนถึงแก่ชีวิต
ทราบชื่อคนร้ายที่ถูกระบุในภายหลังว่า “นายโธมัส แมทธิว ครุกส์” อายุ 20 ปี อาชีพเป็นพนักงานของสถานดูแลผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยระยะพักฟื้น หรือเนอร์ซิงโฮม แห่งหนึ่งในรัฐเพนซิลเวเนีย
เป็นที่น่าเสียดายว่า ถ้าหากเจ้าหน้าที่หน่วยซีเคร็ทเซอร์วิส สามารถ “จับเป็น” แทนที่จะ “จับตาย” ก็น่าจะสอบปากคำนายโธมัส แมทธิว ครุกส์ จนได้รู้เบื้องหน้า เบื้องหลัง ตลอดจนแรงจูงใจ ในการก่อเหตุสะเทือนขวัญครั้งนี้
โดยในเหตุสะเทือนขวัญครั้งนี้ ต้องบอกว่า หาใช่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในแวดวงการเมืองของสหรัฐฯ ไม่ ทว่าได้เกิดขึ้นมาหลายครั้งแล้วในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ ช่วงที่ผ่านมา แถมมิหนำซ้ำยังเป็นเหตุการณ์สะท้านขวัญผู้คนได้ยิ่งกว่า เพราะปรากฏว่า เป็นถึงระดับ “ประธานาธิบดีของประเทศ” ด้วยซ้ำ ที่ถูกคนร้ายลอบสังหารจนถึงแก่ชีวิต แบบถึงแก่ชีวิตในขณะที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอยู่เลยทีเดียว ไม่ใช่เป็น “อดีตประธานาธิบดี” เหมือนอย่างนายทรัมป์ และก็ได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ทั้งใน ในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ นั้น ประธานาธิบดีของประเทศ ถูกคนร้ายลอบสังหารจนเสียชีวิตถึง 4 คนด้วยกัน ได้แก่
นายอับราฮัม ลินคอล์น เมื่อปี 1865 (พ.ศ. 2408)
นายเจมส์ การ์ฟิลด์ ในปี 1881 (พ.ศ. 2424)
นายวิลเลียม แม็คคินเลย์ ในปี 1901 (พ.ศ. 2444)
และนายจอห์น เอฟ.เคนเนดี ในปี 1963 (พ.ศ. 2506)
นอกจากนี้ สหรัฐฯ ก็ยังมีประวัติศาสตร์ว่า ประธานาธิบดีถูกคนร้ายพยายามลอบสังหารแต่รอดชีวิตมาได้ ได้แก่
นายธีโอดอร์ รูสเวลท์ เมื่อปี 1912 (พ.ศ. 2455) ซึ่งเขาถูกอาวุธปืนยิงเข้าที่หน้าอก จนได้รับบาดเจ็บ
นายเจอรัลด์ ฟอร์ด ซึ่งรายนี้ถูกคนร้ายพยายามลอบสังหารถึง 2 ครั้ง ภายใน 17 วัน ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อปี 1975 (พ.ศ. 2518) แต่รอดชีวิตมาได้
นายโรนัลด์ เรแกน ถูกคนร้ายลอบยิง แต่รอดชีวิตมาได้อีกเช่นกัน เมื่อปี 1981 (พ.ศ.2524) ทั้งนี้ ในกรณีของนายเรแกน ซึ่งถูกลอบยิงสังหารหลังรับตำแหน่งประธานาธิบดีได้เพียง 60 กว่าวันนั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมือง แต่ก็ทำให้คะแนนนิยมพุ่งสูงขึ้นเป็นอย่างมาก
และล่าสุด ก็เป็นรายของอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ ถูกลอบยิงจนได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยตามที่กล่าวแล้วข้างต้น
นอกจากนี้ ในความรุนแรงทางการเมืองของสหรัฐฯ ก็ยังมีบุคคลที่มีตำแหน่งสำคัญในทางการเมืองอื่นๆ ถูกทำร้ายก็มี
อย่างในรายของ “นางแนนซี เปโลซี” ซึ่งดำรงตำแหน่ง “ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ” แห่งพรรคเดโมแครต เมื่อปี 2022 (พ.ศ. 2565) ถูกคนร้ายบุกเข้าไปบ้านพักในนครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย แต่โชคดีที่เธอไม่อยู่บ้าน ทว่า นายพอล เปโลซี สามี เป็นผู้รับเคราะห์แทน เพราะคนร้ายได้ทำร้ายร่างกายจนได้รับบาดเจ็บสาหัส ทั้งนี้ จากการสอบปากคำของคนร้ายหลังถูกจับกุม ได้ระบุว่า เขาเป็นคนมีแนวคิดทางการเมืองแบบฝ่ายขวา ต้องการเข้าไปทำร้ายนางแนนซี เป็นเป้าหมายสำคัญ ด้วยการใช้ค้อนทุบบริเวณสะบ้าหัวเข่าให้แตก แต่เมื่อไม่เจอนางแนนซี จึงทุบสามีของเธอแทน
โดยเหตุรุนแรงทางการเมืองของสหรัฐฯ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา บรรดานักวิเคราะห์แสดงทรรศนะว่า ทวีความดุเดือดมากขึ้น อันเป็นผลจากความแตกแยกทางความคิดทางการเมืองของผู้คนชาวอเมริกัน ส่วนหนึ่งก็มาจากการใช้วาทกรรมที่ก่อให้เกิดความเกลียดชังกันเองของผู้คนในชาติ
พร้อมกันนั้น ก็ชี้นิ้วกล่าวโทษไปที่นายทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่เพิ่งถูกคนร้ายพยายามลอบยิงสังหารเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า เป็นนักการเมืองที่ใช้วาทกรรมที่สร้างความเกลียดชังระหว่างผู้คนในชาติด้วยกันเองอย่างน่าสะพรึง ยกตัวอย่าง กรณีเหตุจลาจล 6 มกราคม 2021 (พ.ศ. 2564) ที่ผู้คนลุกฮือบุกเข้าไปป่วนถึงอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ หรือสภาคองเกรส อย่างที่ไม่เคยเห็นกันมาก่อน เป็นต้น
นอกจากนี้ ในการสำรวจความคิดเห็นของชาวอเมริกันเกี่ยวกับความรุนแรงทางการเมือง ซึ่งดำเนินการสำรวจโดยโครงวิจัยป้องกันความรุนแรง แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เมื่อไม่นานมานี้ ก็ได้ผลออกมาเป็นที่น่าสะพรึงว่า กว่า 1 ใน 10 ของชาวอเมริกัน หวั่นเกรงว่า ความรุนแรงทางการเมืองอาจลุกลามบานปลายกลายเป็น “สงครามกลางเมือง” ของสหรัฐฯ เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในระหว่างปี 1861 – 1865 (พ.ศ.2404 – 2408) ซึ่งสงครามกลางเมืองในครั้งนั้นคร่าชีวิตชาวอเมริกันด้วยกันเองรวมแล้วกว่า 2.6 แสนคน