สหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมโคกก่อ รับการตรวจประเมินรางวัลเลิศรัฐ สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทร่วมใจแก้จน ประจำปี 2567
ที่สหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมโคกก่อ ต.โคกก่อ อ.เมือง จ.มหาสารคาม นายกนก ศรีวิชัยนันท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ภาคีเครือข่าย ภาคเอกชน และ พี่น้องเกษตรกรจังหวัดมหาสารคาม ประธานและคณะกรรมการ กลุ่มแปลงใหญ่โคนม สหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมโคกก่อ จำกัด ให้การต้อนรับคณะกรรมการตรวจประเมินรางวัลเลิศรัฐ สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทร่วมใจแก้จน ประจำปี 2567 ในชื่อผลงาน “แปลงใหญ่โคนมสารคาม ก้าวข้ามวิกฤต ชีวิตมั่งคง ร่วมใจแก้จน” เพื่อตรวจประเมินผลงาน ณ พื้นที่ปฏิบัติงาน กลุ่มแปลงใหญ่โคนม สหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมโคกก่อ จำกัด
พร้อมร่วมตอบข้อซักถามของคณะผู้ตรวจประเมินรางวัลเลิศรัฐ และเยี่ยมชมบู๊ทของหน่วยงานที่ร่วมบูรณาการ แอปพลิเคชั่น เซียนไดรี่ฟาร์ม พัฒนาสูตร อาหารโคนม จากข้าวโพดและมันสำปะหลัง บู๊ทสินค้าวิสาหกิจชุมชน และชม ชิม กิจกรรมต่อยอด ร้านนมหน้าฟาร์ม ที่ได้ดำเนินการแก้ไข ปัญหาความยากจนอย่างต่อเนื่อง มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ รวมทั้งสามารถเป็นต้นแบบ เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ สามารถนําไปปรับใช้ในการแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนและสังคมในการแก้ไขปัญหาความยากจนเป็นสำคัญ
เมื่อปี 2560 สหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมโคกก่อ เข้าร่วมโครงการระบบส่งเสริม เกษตรแบบแปลงใหญ่ โดยใช้ชื่อว่า “แปลงใหญ่โคนม สหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมโคกก่อ จำกัด” และปี 2564 ได้ดำเนินการจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน เชื่อมโยงเครือข่าย ส่งเสริมการบริหารจัดการ ด้วย BCG model และการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร สหกรณ์จังหวัดมหาสารคาม ร่วมส่งเสริมการปลูก ข้าวโพดหลังนา มอบทุนการศึกษาแก่บุตรสมาชิก สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์จังหวัดมหาสารคาม ดูแล ในส่วนของบัญชีฟาร์ม ปศุสัตว์จังหวัดมหาสารคาม การตรวจรับรองมาตรฐานฟาร์ม การจัดการโรค การจัดทำอาหาร TMR ร้านนมหน้าฟาร์ม ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์มหาสารคาม พัฒนาสูตร อาหารโคนมเพื่อเพิ่มปริมาณและคุณภาพน้ำนม
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรมหาสารคาม ส่งเสริมการปลูกมันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หอการค้าจังหวัดมหาสารคาม สนับสนุนด้านการตลาด ธนาคาร เพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ให้การสนับสนุนเงินทุน บริษัท คูโบต้ามหาสารคาม จำกัด ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จัดทำแอปพลิเคชั่น เซียนไดรี่ฟาร์ม โรงเรียนโคกก่อพิทยาคม ร่วมจัดทําหลักสูตร School of milk บริษัทดัชมิลล์ ทํา MOU รับซื้อน้ำนมดิบ และอบต.โคกก่อ ได้บรรจุการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในแผนการส่งเสริมอาชีพของ อบต.
ซึ่งผลจากการดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว ส่งผลให้กลุ่มแปลงใหญ่ ๆ สามารถก้าวข้ามวิกฤตในด้านของการเอาชนะความยากจน โดยพบว่า มิติของรายได้ที่เป็นตัวเงิน มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบกับการทำนาที่ มีรายได้เฉลี่ยไร่ละสองถึงสามพันบาทต่อไร่ต่อปี อาชีพเลี้ยงโคนมมีรายได้เฉลี่ย 12,950 บาทต่อตัวต่อ ปีในปี 2539 23,200 ในปี 2559 และ 36,050 ในปี 2567 รวมทั้งมีการขยายขนาดของฟาร์มอย่าง ต่อเนื่อง ปัจจุบัน มีจำนวนโคนมเฉลี่ย 40 ตัวต่อฟาร์ม