มหาสารคามจับมือภาคเอกชนเดินหน้าโครงการหยุดเผาในลุ่มน้ำชี มุ่งสร้างมหานครปลอดการเผา
       

   ที่ห้องสันตรัตน์ โรงแรมตักสิลา อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม นายวิบูรณ์ แววบัณฑิต ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม เป็นประธานเปิดโครงการหยุดเผาในลุ่มน้ำชี ( Chi River No Burn project ) และโครงการเกษตรปลอดการเผา Zero Burn จังหวัดมหาสารคาม “มุ่งสร้างมหาสารคามมหานครปลอดการเผา” ที่จังหวัดมหาสารคาม โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดมหาสารคาม ร่วมกับองค์การวินร็อค อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นองค์กรที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา โดยดำเนินโครงการเรนในประเทศไทย ได้จัดโครงการดังกล่าวขึ้น โดยมีนายกนก ศรีวิชัยนันท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม นายสมพร นามพิลา เกษตรจังหวัดมหาสารคาม นางสาวจิราภรณ์ โชติพาณิช ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการและการเงินโครงการความร่วมมือระหว่างภูมิภาคด้านนวัตกรรมการเกษตร หัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกรในพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง จาก 4 อำเภอ เข้าร่วมโครงการกว่า 100 คน  
       

   โครงการนี้ดำเนินการในพื้นที่ 4 จังหวัดลุ่มน้ำชี ภายใต้ชื่อโครงการไม่เผาในลุ่มน้ำชี ( Chi River No Burn Project ) ได้แก่ ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด และได้ดำเนินกิจกรรมหลัก 4 ด้าน คือ 1) การอบรมเชิงปฏิบัติการ 2) การสร้างเครือข่ายเกษตรกร 3) การสร้างความร่วมมือ 4) การประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ ซึ่งในกิจกรรมเหล่านี้โครงการเรนจะได้สนับสนุนเกษตรกรให้ใช้นวัตกรรมเพื่อลดต้นทุนเพิ่มผลผลิตและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน โดยหลังจากอบรมให้ความรู้แล้ว เกษตรกรต้นแบบจะได้นำความรู้ขยายผลไปยังเพื่อนเกษตรกร ไม่เผาตอซังและมีการส่งเสริมและให้ความรู้ในการใช้จุลินทรีย์ย่อยสลาย จำนวน 50 คน เกษตรกรที่ผ่านการอบรมระดับจังหวัด หากสามารถขยายผลได้เป็น 30 คนแรกของแต่ละจังหวัด จะได้รับรางวัลเป็นบัตรกำนัล (วอยเช่อร์) มูลค่า 10,000 บาทต่อคน ที่สามารถไปแลกปัจจัยการผลิตจากหน่วยงานที่ทางโครงการได้ประสานงานไว้ รวมแล้วคิดเป็น 120 รางวัล คิดเป็นมูลค่า 1,200,000 บาท
       

   นอกจากนี้ หลังเสร็จสิ้นการเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว จะมีการประกวดชุมชน / หมู่บ้านไหนมีประกวดการจัดการแปลงนาโดยไม่เผาตอซังดีเด่น จังหวัดละ 3 รางวัล รวม 12 รางวัล ขณะเดียวกัน มีการสนับสนุนการทำแปลงสาธิตไม่เผาตอซังและใช้จุลินทรีย์ย่อยสลาย จำนวน 40 แปลง ซึ่งทางโครงการจะสนับสนุนจุลินทรีย์และค่าการเตรียมดินทั้ง 40 แปลง (ค่าไถดะ ไถพรวน) ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นกลยุทธ์หนึ่งของโครงการที่ต้องการให้เกษตรเปลี่ยนทัศนคติไม่เผาตอซังด้วยการใช้จุลินทรีย์ย่อยสลาย และคาดหวังว่าเกษตรกรจะได้ปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมในการไม่เผา เช่น ไม่เผา แล้วใช้วิธีการอื่นในการกำจัดตอซังและฟางข้าวโดยการไถกลบ หรือฉีดพ่นจุลินทรีย์ในการย่อยสลาย


นายวิบูรณ์ แววบัณฑิต ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม เปิดเผยว่า เมื่อปีที่ผ่านมา จังหวัดมหาสารคาม มีจุดความร้อนเกิดขึ้นตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2566 – 20 พฤษภาคม 2567 จำนวน 768 ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่เกษตร 445 จุด ดังนั้น ในปีนี้
จึงได้กำหนดมาตรการ โดยมอบหมายให้สำนักงานเกษตรจังหวัดนำข้อมูลมาติดตามว่า พื้นที่ใดมีการเผาจำนวนมาก จึงเป็นเป้าหมายหลักที่จะต้องเข้าไปแก้ไขปัญหา  จึงต้องเร่งแก้ไขปัญหาการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตร ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยเตรียมการวางแผนล่วงหน้า ระบุพื้นที่เป้าหมาย สร้างกลไกการทำงาน ร่วมกับทุกภาคส่วน รวมทั้งมีภาคเอกชนสนับสนุนการแก้ไขปัญหาด้วย 
ส่วนเรื่องการเผาไร่อ้อยที่มหาสารคามอยู่อันดับต้น ๆ ของประเทศในปีนี้ได้ประสานขอยืมเครื่องสางใบอ้อยจากศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ภาคที่ 4 จังหวัดอุดรธานี จำนวน 20 เครื่อง เพื่อช่วยให้เกษตรกรสามารถตัดอ้อยสดได้อย่างสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น นำไปสู่การลดการเผาอ้อยในแต่ละพื้นที พร้อมทั้งรณรงค์ให้นำใบอ้อยสดมาอัดก้อนโดยใช้เครื่องอัดฟาง เพื่อเป็นอาหารสัตว์ (ใบอ้อยสด) และนำใบอ้อยแห้งมาใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวมวล และในฤดูกาลผลิตคราวต่อไป จะกำหนดการจัดรูปแปลงใหม่ โดยกำหนดระยะร่องของแปลง ขนาด 1.5 เมตร เพื่อให้ตัดอ้อยขนาดใหญ่เข้าไปในแปลงได้ ทั้งนี้จะเน้นในกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ และกลุ่มเกษตรกรที่มีพื้นที่โล่งกว้าง อีกทั้งในระยะต่อไปจะการใช้รถตัดอ้อยขนาดกลางในแปลงขนาดกลางและขนาดเล็ก เพื่อลดปัญหาการเผาอ้อยได้