คนไทยป่วยมะเร็งปอดรายใหม่ วันละ 64 คน เสียชีวิตอันดับ 2 ของมะเร็งในไทย  ปัจจัยจากพันธุกรรม พบได้มากในผู้ป่วยชาวเอเชีย แม้ไม่สูบบุหรี่-ไม่ได้รับฝุ่น PM2.5 เผยนวัตกรรมให้ยาภูมิคุ้มกันบำบัด รูปแบบฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ลดเวลาการรักษาจาก 1 ชั่วโมง เหลือ 7 นาที  ประสิทธิภาพ-ความปลอดภัยไม่ต่างจากวิธีเดิม แต่ผู้ป่วยกลับบ้านได้เร็ว รพ.สามารถช่วยคนไข้ได้เพิ่มมากขึ้น

          ศ.ดร.นพ.วิโรจน์ ศรีอุฬารพงศ์ อายุรแพทย์ สาขามะเร็งวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ศ.ดร.นพ.วิโรจน์ ศรีอุฬารพงศ์ อายุรแพทย์ สาขามะเร็งวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานคณะทำงานมะเร็งปอดเพื่อคนไทย ภายใต้มะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์มะเร็งปอดในปัจจุบัน นับเป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพที่น่า เป็นห่วง ของประเทศไทย และมีผลต่อการเพิ่มภาระทางสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจ ถือเป็น 1 ใน 5 ของมะเร็งที่พบบ่อย เป็นอันดับ 2 ในเพศชาย และอันดับ 5 ในเพศหญิง แต่ละปีจะมีผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 23,494 คน หรือวันละ 64 คน เป็นเพศชาย 15,200 คน และเพศหญิง 8,294  คน ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 19,864 คน หรือคิดเป็น 54 คนต่อวัน1 นับเป็นมะเร็งที่มีอุบัติการณ์  และอัตราการเสียชีวิตที่สูงเป็นอันดับต้นๆ ในประเทศไทย  เป็นปัญหาที่ทางสาธารณสุข ควรเข้ามาแก้ไขอย่างเร่งด่วน

สำหรับปัจจัยเสี่ยงแบ่งออกเป็น 1.ปัจจัยที่หลีกเลี่ยงได้ การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดมะเร็งปอด ซึ่งร้อยละ 85 ของผู้ป่วยมะเร็งปอดเกิดจากการสูบบุหรี่ ปัจจัยอื่นๆ ที่อาจมีผล ได้แก่ การได้รับมลภาวะทางอากาศ เช่น ฝุ่น PM 2.5, การเผาถ่าน, การสัมผัสกับก๊าซเรดอน และสารก่อมะเร็งอื่น ๆ เช่น แร่ใยหิน โครเมียมและรังสี และ 2.ปัจจัยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น อายุ

“แต่ละปีคนไทยเสียชีวิตด้วยมะเร็งสูงกว่าเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุบนท้องถนนถึง 6 เท่า  อุบัติการณ์ และอัตราการเสียชีวิตด้วยมะเร็งปอดในประเทศไทยสูงเป็นอันดับ 2 เมื่อเทียบกับมะเร็งชนิดต่างๆ นำมาซึ่งการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของคนไทย  โดยกว่า 80% ของผู้ป่วยมะเร็งปอดเสียชีวิตภายใน 5 ปี”  ศ.ดร.นพ.วิโรจน์ กล่าว

          รศ.นพ. วิเชียร ศรีมุนินทร์นิมิต อายุรแพทย์ สาขามะเร็งวิทยา โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์

รศ.นพ. วิเชียร ศรีมุนินทร์นิมิต อายุรแพทย์ สาขามะเร็งวิทยา โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ กล่าวว่า โรคมะเร็งปอดมี 2 ชนิด 1. มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก และ 2. มะเร็งปอด ชนิดเซลล์ไม่เล็ก  วิธีในการรักษาโรคมะเร็งปอดมีหลายวิธีแตกต่างกัน การพิจารณาเลือกวิธีในการรักษา ขึ้นกับชนิด และระยะของมะเร็งปอดตลอดจนสภาพร่างกายของผู้ป่วยเป็นสำคัญซึ่งในปัจจุบันคนไทยส่วนใหญ่มักจะรู้จักเพียงการ ผ่าตัด การฉายแสง หรือ การฉายรังสี และการให้ยาเคมีบำบัด4 เนื่องจากเป็นการรักษา ที่มีมานาน และคนไทยมีความ คุ้นชิน  

ปัจจุบันการรักษามะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็ก มีวิวัฒนาการความก้าวหน้าของการรักษาอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ที่สามารถรักษาได้อย่างเฉพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็งมากยิ่งขึ้น และลดอาการข้างเคียงจากการ ใช้ยาเคมีบำบัดในรูปแบบเดิม ทำให้การรักษาได้ผลดีขึ้น เพิ่มอัตราการรอดชีวิต หรือสามารถควบคุมโรคได้ดียิ่งขึ้น

ได้แก่ 1.การรักษาแบบเฉพาะเจาะจง  (targeted therapy)  หรือการรักษาโดยใช้ยามุ่งเป้า โดยการใช้ยาที่ ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง ทำให้ให้ประสิทธิผลในการรักษาดีขึ้นและและมีผลข้างเคียงต่อเซลล์ปกติน้อย และ 2.การใช้ยาภูมิคุ้มกันบำบัด (immunotherapy) เป็นยากลุ่มใหม่ที่ออกฤทธิ์ในการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ของร่างกาย ให้สามารถกำจัดเซลล์มะเร็งได้ ปัจจุบันมีการใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยจะมีรูปแบบการบริหารยาเป็นการฉีดเข้าเส้นเลือดดำ ทางสายน้ำเกลือ

          นายแพทย์ ยศวัจน์ รุ่งโรจน์วัฒนา อายุรแพทย์ สาขามะเร็งวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์วชิรพยาบาล

ขณะที่ นายแพทย์ ยศวัจน์ รุ่งโรจน์วัฒนา อายุรแพทย์ สาขามะเร็งวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์วชิรพยาบาล กล่าวว่า ยาภูมิคุ้มกันบำบัดที่นำมารักษา คนไข้ มะเร็งปอดทั้งในส่วนของเป็นยาเดี่ยว หรือการใช้ ร่วมกับยาเคมีบำบัด ซึ่งมีประสิทธิภาพที่ดี และมีผลข้างเคียงที่ควบคุมได้ โดยครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรก ที่ยาในกลุ่มภูมิคุ้มกันบำบัด ซึ่งแต่เดิมจะบริหารยาด้วยวิธีฉีดเข้าเส้นเลือดดำแต่ในปัจจุบัน มีนวัตรกรรมใหม่ ที่มีการนำ Halozyme Therapeutics’ drug delivery technology (Enhanze®; rHuPH20) มาใช้ในการนำส่งยาซึ่งในอดีต การฉีดยาใต้ผิวหนังจะสามารถที่จะฉีดยาได้ปริมาณเพียง 1-2 มิลลิลิตร แต่ด้วยการมี นวัตกรรมที่ผสม ไฮยาลูโรนิคเดสเข้าไปเพื่อสลายไฮยาลูโรแนนเพื่อทำให้ช่องว่างชั่วคราวภายใต้ชั้นผิวหนัง ทำให้สามารถเพิ่ม การนำส่ง ยาใต้ผิวหนังได้ปริมาณที่มากขึ้น โดยนำนวัตกรรมนี้มาใช้ในยาหลากหลายไม่ว่าเป็นยารักษามะเร็ง ยาเบาหวาน รวมถึง ยาในกลุ่มภูมิคุ้มกันบำบัด โดยจากการศึกษาทางคลินิก พบว่าการให้ยาด้วยวิธีทางใต้ผิวหนัง เทียบกับการให้ยา ทางหลอดเลือดำมีประสิทธิภาพและความปลอดภัย ไม่แตกต่างจากการบริหารยาด้วยวิธีเดิม แต่สามารถที่จะลด ระยะเวลาในการบริหารยาได้ลดลง จาก 1 ชั่วโมงเหลือเพียงแค่ 7 นาที

“ระยะเวลาในการบริหารยาลดลงทำให้ คนไข้สามารถที่จะกลับบ้านได้อย่างรวดเร็ว สามารถไปใช้ชีวิต ประจำวันได้ตามที่ต้องการ ส่วนโรงพยาบาลและบุคลลากรทางการแพทย์ สามารถที่จะช่วยเหลือคนไข้ หรือสามารถที่จะเพิ่ม ประสิทธิภาพของหน่วยมะเร็งได้เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ การบริหารยาด้วยวิธีการฉีดยาเข้าใต้ผิวหนัง จำเป็นจะต้องวางแผนการรักษา ระหว่าง อายุรแพทย์โรคมะเร็งกับคนไข้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับคนไข้” นายแพทย์ยศวัจน์ กล่าว