วันที่ 6 เม.ย.66 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว "Thira Woratanarat" ระบุว่า...

PM2.5 กระตุ้นให้เกิดมะเร็งปอด

งานวิจัยล่าสุดจาก Hill W และคณะจากสหราชอาณาจักร แสดงให้เห็นชัดเจนมาก

เพิ่งเผยแพร่ในวารสารวิทยาศาสตร์การแพทย์ระดับโลกอย่าง Nature เมื่อวานนี้ 5 เมษายน 2566

พบว่ายิ่ง PM2.5 ยิ่งมาก ยิ่งพบอุบัติการณ์เกิดมะเร็งปอดชนิด Adenocarcinoma สูงขึ้น ทั้งในอังกฤษ เกาหลีใต้ และไต้หวัน

ผลการศึกษาความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปอดในประชากรรวมกว่า 371,543 คนนั้น ชัดเจนว่า การสูบบุหรี่ หรือแม้แต่เคยสูบบุหรี่ หรือการสัมผัสกับฝุ่นละออง PM2.5 ล้วนแล้วแต่ทำให้เสี่ยงต่อมะเร็งปอดสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

กลไกที่ PM2.5 ทำให้เกิดมะเร็งปอดนั้น เกิดจากการกระตุ้นให้เกิดการอักเสบ และกระตุ้นให้เซลล์ปอดที่มียีน EGFR อยู่เดิม (EGFR mutation) เปลี่ยนลักษณะไปเป็นเซลล์เริ่มต้นของมะเร็งนั่นเอง

งานวิจัยนี้เป็นงานชิ้นสำคัญมากที่ชี้ให้เห็นความสำคัญของการจัดการปัญหาฝุ่นละออง PM2.5

ณ วินาทีนี้ ประชาชนอย่างเราคงต้องดูแลตนเองอย่างเต็มที่ ป้องกันตัวเองและสมาชิกในครอบครัว ให้ความรู้ที่ถูกต้อง ปรับสภาพแวดล้อมโดยหาทางติดตั้งเครื่องฟอกอากาศที่มีตัวกรอง HEPA รวมถึงวัดประเมินคุณภาพอากาศที่บ้าน ที่ทำงาน และเมื่อออกนอกบ้าน ควรใส่หน้ากากอย่างถูกต้องด้วย

คอยตรวจตรา สอดส่อง เหตุการณ์หรือสาเหตุที่ทำให้เกิด PM2.5 ในชุมชนของตนเอง และแจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้ช่วยดำเนินการปราบปราม

สำคัญที่สุดคือ การช่วยกันเรียกร้องผลักดันให้รัฐบาลจัดการแก้ไขปัญหา PM2.5 ให้ดีกว่าที่เป็นมา

นี่คือภัยคุกคามสุขภาพของทุกคน ทั้งตัวเรา และลูกหลาน และเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องได้รับการจัดการอย่างจริงจัง

การพ่นละอองน้ำตามท้องถนน...ไม่ได้ช่วยให้ปัญหาดีขึ้น ควรใช้ความรู้ที่ถูกต้อง เพื่อให้ทรัพยากรถูกใช้อย่างเหมาะสมและตอบสนองต่อปัญหาอย่างแท้จริง

อ้างอิง

Hill W et al. Lung adenocarcinoma promotion by air pollutants. Nature. 5 April 2023.