สยามรัฐ ยึดมั่นอุดมการณ์ปกป้องเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ยืนหยัดรับใช้สังคมด้วยจิตสำนึกแห่งความรับผิดชอบ ...*…

 ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางการเมือง จากคดีร้องถอดถอนนายเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และคดียุบพรรคก้าวไกล เสียงวิพากษ์วิจารณ์ผลงานรัฐบาลก็ดังกระหึ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในด้านการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ …*…

ขณะที่รัฐบาลโดยพรรคเพื่อไทยดูเหมือนจะฝากความหวังไว้ที่โครงการแจกเงิน 1 หมื่นบาทในรูปแบบดิจิตอล วอลเล็ต เป็นหลัก ซึ่งนายกฯมีนัดหมายแถลงความชัดเจนเกี่ยวกับวิธีการลงทะเบียนเพื่อขอรับเงินแจกดังกล่าวในวันที่ 24 กรกฎาคมนี้ …*…

แม้มีคำยืนยันจากนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยคลัง ว่ากำหนดการแจกเงิน 1 หมื่นบาทให้แก่ผู้ลงทะเบียนในโครงการนี้จะเป็นไปตามไทม์ไลน์ที่เคยกำหนดไว้คือภายในไตรมาสที่ 4 ปีนี้ ทว่า ดูเหมือนมีหลายภาคส่วนยังไม่เชื่อมั่นว่าจะทำได้จริง โดยเฉพาะพรรคฝ่ายค้านที่ออกมาตั้งข้อสังเกตถึงปัญหางบประมาณที่จะนำมาใช้ …*…

ทั้งนี้น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ได้เปิดเผยระหว่างแถลงถึงภาพรวมการพิจารณางบประมาณ ปี 68 ว่า ในส่วนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) ได้มีการพูดคุยถึงกรณีที่จะต้องนำเงิน 170,000 กว่าล้านบาท มาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต และทางธกส.ยืนยันว่าไม่ได้มีการขอมติเรื่องนี้ในบอร์ด ธกส. และยังไม่ได้มีการส่งรายละเอียดเพิ่มเติมในกระบวนการดำเนินการ เป็นการแสดงให้เห็นว่ายังไม่ได้ส่งให้กฤษฎีกาตีความว่าการนำเงินของ ธกส.มาใช้ในโครงการแจกเงินผ่านดิจิตอล วอลเล็ตขัดต่อวัตถุประสงค์กับธกส.หรือไม่ …*…

 “โดยได้รับคำชี้แจงจากธกส.ว่ามีสภาพคล่องล้นเกินอยู่ที่ 2-3 หมื่นล้านบาท หากจะต้องใช้เงินส่วนนี้ในการทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ตอาจจะต้องถ่ายเทสินทรัพย์หมุนเวียนอื่นๆ ที่จะมีอยู่ประมาณ 2-3 แสนล้านบาท”น.ส.ศิริกัญญาระบุ …*…

 นอกเหนือจากโครงการแจกเงินผ่านดิจิตอล วอลเล็ต จะสามารถเดินหน้าได้หรือไม่อย่างไร ผู้ลงทะเบียนจะได้รับแจกเงินเมื่อไหร่นั้น อีกประเด็นที่น่าสนใจคือผลจากโครงการนี้จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงไหม และก่อให้เกิดผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจไทยในระยะยาวอย่างที่นักเศรษฐศาสตร์หลายคนเคยแสดงความเป็นกังวลไว้ไหม …*…

โดยล่าสุดมีรายงานข่าวว่าธนาคารโลกได้ประเมินโครงการแจกเงินผ่านดิจิตอล วอลเล็ตในเบื้องต้นว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ราว 0.5-1 เปอร์เซ็นต์ ของจีดีพี หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมของไทย แต่กลับมีต้นทุนสูงถึง 2.7 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี …*…

พร้อมกันนี้ ธนาคารโลกยังได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับโครงการนี้ที่อาจส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อ จนอาจทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยจำเป็นต้องลดแผนการลดดอกเบี้ยออกไป โดยธนาคารโลกมองว่า หากไม่มีโครงการใช้งบประมาณมากกว่า 5 แสนลานแจกเงินผ่านดิจิตอล วอลเล็ต มีโอกาสที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะลดอัตราดอกเบี้ยจากระดับปัจจุบันลงได้ถึง 0,50 เปอร์เซ็นต์ เลยทีเดียว …*…

 อีกด้านหนึ่งมีข้อมูลจากนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยกำลังทยอยฟื้นตัว แต่เมื่อเทียบกับโลกแล้ว เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวช้า และในภาพรวมยอมรับว่าซ่อนความลำบาก และความทุกข์ของคนในหลายกลุ่ม ทั้งลูกจ้างนอกภาคเกษตร และกลุ่มอาชีพอิสระที่ถึงรายได้จะกลับมาสูงกว่าช่วงโควิด 19 ระบาด แต่ยังพบว่ามีหลุมรายได้ที่หายไปมหาศาล เพราะรายจ่ายมีแต่เพิ่มขึ้นตามค่าครองชีพซึ่งสูงขึ้น …*…

“ศักยภาพเศรษฐกิจไทยลดลงจากช่วง 10 ปี ก่อนโควิด 19 ที่เฉลี่ยอยู่ที่ 3.0-3.5 เปอร์เซ็นต์ หากต้องการเพิ่มระดับศักยภาพให้เกิน 3 เปอร์เซ็นต์ จะต้องให้มีการลงทุนใหม่ในโครงสร้างพื้นฐาน มีการวิจัยและพัฒนาคุณภาพแรงงาน แต่หากมาจากการกระตุ้น ไม่มีการลงทุนใหม่ จะกระตุ้นได้แป๊บเดียว หรือกระตุ้นให้ตาย ก็กลับมาที่ 3 เปอร์เซ็นต์”คำเตือนจากผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย …*…

อย่างไรก็ตาม หน้าที่ในการกอบกู้เศรษฐกิจไทยนั้น ไม่ใช่แค่เป็นภาระของรัฐบาล ทางธนาคารแห่งประเทศไทยก็ต้องร่วมรับผิดชอบด้วยเช่นกัน การเห็นต่างในนโยบายต่างๆ ไม่ใช่เรื่องแปลก เพียงแต่ต้องหาจุดร่วมเพื่อประโยชน์ของคนทั้งประเทศ มากกว่าเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพราะจากนโยบายตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำลังใช้อยู่นั้น ได้สร้างความทุกข์แสนสาหัสกับคนเล็กคนน้อยที่แบกภาระหนี้กันหลังแอ่นอยู่ในเวลานี้ แต่กลับช่วยให้บรรดาผู้ประกอบการแบงก์พาณิชย์เสพสุขกับการฟันกำไรมหาศาล …*…

ที่มา:เจ้าพระยา (11/7/67)