สยามรัฐ ยึดมั่นอุดมการณ์ปกป้องเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ยืนหยัดรับใช้สังคมด้วยจิตสำนึกแห่งความรับผิดชอบ …*…
การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ประจำเดือนตุลาคมนี้ ได้รับการจับตามองเป็นพิเศษว่าจะมีมติเรื่องการกำหนดทิศทางอัตราดอกเบี้ยอย่างไร เดินตามธนาคารกลางสหรัฐฯหรือไม่ หลังมีกระแสกดดันต่อธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)รอบด้านจากทั้งภาคธุรกิจและการเมืองให้ ธปท.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อบรรเทาภาระให้กับลูกหนี้ที่กำลังตกอยู่ในภาวะชักหน้าไม่ถึงหลัง และแก้ไขปัญหาค่าเงินบาทแข็งซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อทั้งการส่งออก และการท่องเที่ยว และมีทีท่าจะลุกลามบานปลายขยายวงไปถึงภาพรวมเศรษฐกิจ …*…
“ภายใน 3 เดือนเงินบาทแข็งค่าขึ้นถึง 10% แข็งค่าแรงในรอบ 19 เดือน หากเทียบกับประเทศอื่น ๆ จะพบว่าช่วงที่เงินอ่อนค่า เงินบาทอ่อนค่ากว่าประเทศอื่นๆ เรียกว่าอ่อนปวกเปียก แต่เมื่อแข็งค่าก็แข็งค่าขึ้นแรงมากกว่าคนอื่น ซึ่งก็เป็นปัญหาจากโครงสร้างของประเทศ ต้องแก้ไขในระยะยาว หลังจากที่เฟดลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 4 ปี ในอัตรา 0.50% ส่งผลให้เงินบาทยิ่งแข็งค่ามากขึ้น เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ “นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยระบุพร้อมกับย้ำว่า การส่งออกวันนี้ถือว่าเสียเปรียบประเทศเพื่อนบ้านในหลายหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าไฟฟ้า ค่าพลังงาน ดอกเบี้ยที่แพงทำให้ต้นทุนการเงินสูง FTA ที่มีน้อยกว่าประเทศอื่น ๆ ยิ่งช่วงนี้ค่าเงินบาทแข็งยิ่งทำให้ผู้ส่งออกของไทยแย่ สินค้าบางหมวดเงินหายไปแล้วหลายบาท เช่น หมวดอาหาร และสินค้าเกษตร ที่มีมาร์จิ้นไม่เท่าสินค้าอินโนเวชั่น ขณะนี้ขาดทุนแล้ว 10% ผู้ส่งออกจึงกังวล เนื่องจากสินค้าที่ส่งไปก่อนหน้าขาดทุน ทำให้มีการหารือกันว่าต้องมีการปรับราคาสินค้า แต่ขณะเดียวกัน หากปรับราคาสินค้า ประเทศหรือบริษัทคู่ค้าก็อาจจะเปลี่ยนใจซื้อสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้านแทน ดังนั้น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจึงขอวอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ช่วยทำให้ค่าเงินบาทมีความสมดุลในทุกด้าน ไม่แข็งไป ไม่อ่อนไป ทำให้ผู้ส่งออกสามารถแข่งขันได้ …*…
ส่วนที่กระทรวงการคลังจะมีการหารือกับธปท.เกี่ยวกับเรื่องค่าเงินบาทนั้น มีการคาดหวังจากนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยว่า จะมีการจับเข่าคุยกันอย่างจริงจังเกี่ยวกับการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เหมาะสม เพราะเรื่องนี้กระทบกับค่าเงินบาทด้วย ส่วนจะลดดอกเบี้ยหรือไม่ ขอให้ทั้งสองฝ่ายพูดคุยไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งหากมีการลดดอกเบี้ย ก็จะช่วยลดภาระของผู้ประกอบการ และประชาชนลงได้ และในต่างประเทศเช่นสหรัฐก็ลดดอกเบี้ยแล้ว เราก็อาจจะถึงเวลาที่ต้องลดดอกเบี้ยหรือไม่ …*…
สำหรับกรณีที่ ธปท.ได้เข้าไปแทรกแซงค่าเงินบาทเพื่อลดความผันผวนแล้วนั้น นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลังมองว่ายังไม่เพียงพอ และเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ฉะนั้น ต้องพิจารณาที่ต้นเหตุ คือ อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ไม่สอดคล้องกับภูมิภาค ทำให้มีเงินไหลเข้าประเทศ จนส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งขึ้น ดังนั้น ธปท.ต้องพิจารณาแก้ปัญหานี้ที่ต้นตอด้วย …*…
“เรื่องความแตกต่างระหว่างดอกเบี้ยนโยบาย ดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากนั้น เป็นเรื่องที่ธปท.ต้องแก้ปัญหา โดยคลังและธปท.ต้องหารือกัน รวมถึงขอความร่วมมือไปยังสถาบันการเงินทั้งรัฐและเอกชนปรับลดดอกเบี้ยสินเชื่อลง”ความเห็นจาก รมช.คลัง …*…
ต้องรอดูกันต่อไปว่าแบงก์ชาติ และกนง.จะเลือกก้าวเดินอย่างไร และจะสามารถทำให้ทุกภาคส่วนเชื่อมั่นได้หรือไม่ว่า ความเป็นอิสระของแบงก์ชาตินั้น ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมจริงๆ ไม่ใช่แค่คนบางกลุ่มที่กำลังเสพสุขจากการกอบโกยผลกำไรจากอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบัน …*…
ที่มา:เจ้าพระยา (3/10/67)