ได้ฤกษ์เบิกม่านการประชุมสุดยอดผู้นำไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

สำหรับ การประชุมสุดยอดผู้นำชาติสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือนาโตซัมมิต 2024 (พ.ศ. 2567)

ในการประชุมครั้งนี้ ทางกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมืองหลวงของสหรัฐอเมริกา ประเทศที่ได้ชื่อว่า “พี่เบิ้มใหญ่” ของบรรดาชาติสมาชิกนาโต รับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดที่กำลังมีขึ้น ซึ่งการประชุมก็จะมีขึ้นเป็นเวลา 3 วัน ตั้งแต่วันอังคารที่ 9 กรกฎาคม ไปจนถึงวันพฤหัสบดีที่ 11 กรกฎาคม ตามเวลาท้องถิ่น

โดยจะมีบรรดาผู้นำชาติสมาชิกของนาโต 32 ประเทศ ตบเท้าเข้าร่วมประชุม นอกจากนี้ ในการประชุมซัมมิตครั้งนี้ ก็ยังจะมีการเชิญผู้นำประเทศของกลุ่ม “อินโด-แปซิฟิก โฟร์ (Indo-Pacific 4)” อันประกอบด้วย 4 ชาติ ได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เข้าร่วมประชุมสุดยอดที่กำลังมีขึ้นด้วย

กล่าวกันว่า การเชิญผู้นำประเทศของกลุ่ม “อินโด-แปซิฟิก โฟร์” มาร่วมประชุมนั้น ไม่ผิดอะไรกับความพยายามขยายอาณาบริเวณพื้นที่ของนาโต ที่จากเดิมอยู่ในเฉพาะสองฟากฝั่งทางตอนเหนือของมหาสมุทรแอตแลนติก อันประกอบด้วย 2 ประเทศในทวีปอเมริกาเหนือ คือ สหรัฐฯ และแคนาดา และอีก 30 ประเทศในทวีปยุโรป ก็รุกคืบขยายเข้ามายังมหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิกด้วย จึงบังเกิดคำว่า “อินโด-แปซิฟิก” ขึ้น อันหมายถึง พื้นที่ในย่านมหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิก นั่นเอง โดยมีนัยยะของการปิดล้อมจีนแผ่นดินใหญ่ ที่กำลังรุกคืบขยายอิทธิพล ดุจดังพญามังกร สยายกรงเล็บ เข้าไปในพื้นที่ต่างๆ ทั้งในแถบมหาสมุทรแปซิฟิก และมหาสมุทรอินเดีย ด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ดี การเชิญ 4 ชาติ “อินโด-แปซิฟิก โฟร์” เข้าร่วมประชุมสุดยอดนาโตในครั้งนี้ด้วยนั้น ดูจะสร้างความไม่พอใจให้แก่จีนแผ่นดินใหญ่อยู่มิใช่น้อย ถึงขนาดทีมงานโฆษกของสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศสหรัฐฯ ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า เสมือนเป็นการขยายอิทธิพลของนาโตเข้ามายังภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก อันจะนำมาซึ่งการบ่อนทำลายสันติภาพ และเสถียรภาพของภูมิภาคแห่งนี้อย่างหลีกเลี่ยงมิได้

ส่วนวาระ หรือประเด็น ที่จะมีการหยิบยกเข้าสู่ห้องประชุม เพื่อหารือในการประชุมสุดยอดนาโตครั้งนี้ แน่นอนว่า ก็ต้องเกี่ยวกับ “ปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน” ซึ่งเป็นปัญหาความขัดแย้งทางการทหาร หรือการสู้รบ ในประเทศยูเครน โดยสงครามนี้ ก็ยืดเยื้อยาวนานมากว่า 2 ปีแล้ว นับตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 (พ.ศ. 2565) ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน และยังไม่มีทีท่าว่าหยุดยั้งยุติลงได้แต่ประการใด

พื้นที่หนึ่งของกรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครน ที่ถูกกองทัพรัสเซีย โจมตีทางอากาศ จนได้รับความเสียหายทั้งในชีวิตและทรัพย์สิน เมื่อช่วงต้นสัปดาห์นี้ (Photo : AFP)

ทั้งนี้ เมื่อว่าถึง “ยูเครน” ประเทศอันเป็นพื้นที่สมรภูมิรบที่ประชิดติดพรมแดนของหลายชาติสมาชิกนาโต ได้แก่ โปแลนด์ และโรมาเนีย อันส่งผลกระทบกลายเป็นปัญหาด้านความมั่นคงของบรรดาประเทศเหล่านี้มิใช่น้อย ยกตัวเช่น ปัญหาผู้อพยพหนีภัยสงครามจากทางฝั่งยูเครน และปัญหาจากกองกำลังติดอาวุธของรัสเซียในการทำสงครามกับยูเครน อย่าง “กลุ่มนักรบรับจ้างวากเนอร์” ที่มาตั้งกองกำลังในประเทศเบลารุส ซึ่งเป็นชาติพันธมิตรของรัสเซีย ที่มีพรมแดนติดกับโปแลนด์ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณด้านความช่วยเหลือทางการทหาร ที่ทางชาติสมาชิกนาโต มีให้แก่ทางยูเครน สำหรับการสู้รบกับกองทัพรัสเซีย เป็นประการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านเงินทุน และอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ที่ทางนาโตให้แก่ยูเครน ไว้ใช้ในการต่อกรกับกองทัพรัสเซีย ตลอดจนงบประมาณเพื่อการฟื้นฟูบูรณะประเทศยูเครน ที่ต้องภินท์พังเพราะถูกกองทัพรัสเซียปฏิบัติการโจมตี

ใช่แต่เท่านั้น ในการประชุมสุดยอดนาโตปีนี้ ก็ยังจะมีการหยิบยกประเด็นปัญหาที่ทางนาโต เห็นว่า เป็นปัญหาใหม่แต่เกี่ยวเนื่องกับสงครามรัสเซีย-ยูเครน

นั่นคือ การกระชับความสัมพันธ์ ความร่วมมือทางการทหารระหว่างรัสเซียกับเกาหลีเหนือ ที่เพิ่งเปิดฉากอย่างชัดแจ้งเมื่อเร็วๆ นี้

โดยเป็นฉากที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย เดินทางเยือนกรุงเปียงยาง เมืองหลวงของเกาหลีเหนือ ซึ่งทางนายคิม จองอึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น เมื่อช่วงกลางเดือนมิถุนายนที่เพิ่งผ่านพ้นมา

ทั้งนี้ มีรายงานว่า ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับเกาหลีเหนือนั้น ก็จะเป็นการแลกเปลี่ยนในความร่วมมือด้านต่างๆ ระหว่างกัน โดยทางรัสเซีย จะช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีด้านอวกาศที่ทันสมัย ช่วยพัฒนาด้านดาวเทียมให้แก่เกาหลีเหนือ ส่วนทางเกาหลีเหนือ ก็จะช่วยเหลือด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ เครื่องกระสุนทั้งหลาย ให้แก่รัสเซีย สำหรับปฏิบัติการสู้รบในสงครามยูเครน ที่ทางการรัสเซีย ภายใต้การนำของประธานาธิบดีปูติน ซึ่งเป็นผู้ “เปิดเกมส์” สงครามก่อนนั้น ยังไม่สามารถเผด็จศึกต่อยูเครน ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเสียที ขณะที่ อาวุธยุทโธปกรณ์และเครื่องกระสุนของกองทัพรัสเซีย ก็ร่อยหรอพร่องไปทุกขณะ กอปรกับการผลิตที่ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างความต้องการ โดยมีเหตุปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากการที่รัสเซีย ถูกบรรดาชาติมหาอำนาจตะวันตก และพันธมิตร รุมกันคว่ำบาตร หรือแซงก์ชัน เป็นประการต่างๆ

ตามการประเมินของทางการสหรัฐฯ และทางการเกาหลีใต้ ก็ระบุว่า เกาหลีเหนือส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ และเครื่องกระสุนต่างๆ ไปให้แก่รัสเซีย จำนวนนับหมื่นตู้คอนเทนเนอร์เลยทีเดียว สำหรับการทำสงครามกับยูเครน

นอกจากนี้ ยังมีรายงานด้วยว่า ในความร่วมมืออันเป็นผลจากการกระชับความสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้นที่บังเกิดขึ้นเมื่อช่วงกลางเดือนมิถุนายนที่เพิ่งผ่านพ้นไปนั้น ทางการเกาหลีเหนือของผู้นำสูงสุด “คิม จองอึน” อาจจะมีการช่วยเหลือแก่รัสเซียของประธานาธิบดีปูติน ยิ่งไปกว่าการช่วยเหลือด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ และเครื่องกระสุนสารพัดธรรมดาๆ แต่ทว่า ถึงขั้นส่งกำลังพลทหารเข้าในยูเครน อันเป็นประเทศสมรภูมิรบกันเลยทีเดียว

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย พบปะกับนายคิม จองอึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ ที่กรุงเปียงยาง เมื่อมิถุนายนที่ผ่านมา โดยผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือได้มอบรถยนต์หรูเป็นของขวัญให้แก่ผู้นำรัสเซีย (Photo : AFP)

โดยบรรดานักวิเคราะห์ระดับอาวุโสด้านกลาโหมของ “แรนด์ คอร์เปอเรชัน” เปิดเผยโดยอ้างแหล่งข่าวจากหน่วยข่าวกรอง ระบุว่า เกาหลีเหนือกำลังส่งกำลังพลทหารจำนวนมากไปยูเครน เพื่อสนับสนุนต่อกองทัพรัสเซีย ในสงครามดังกล่าว ซึ่งทางเหล่านักวิเคราะห์ทางทหารของชาติมหาอำนาจตะวันตก ก็เคยคาดการณ์กันว่า อย่างน้อยที่สุดเกาหลีเหนือ ก็ส่งทหารช่างเข้าไปในเขตปกครองโดเนตส์ก ที่รัสเซียผนวกดินแดนมาได้จากยูเครน ในการฟื้นฟูพื้นที่ดังกล่าว ที่ได้รับความเสียหายจากการสู้รบระหว่างกองทัพยูเครนกับกองทัพรัสเซีย ในพื้นที่แห่งนั้น ซึ่งก็ต้องจับตาดูกันต่อไปว่า นาโตจะจัดการอย่างไรสำหรับสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ทวีความซับซ้อน จากการที่มีผู้มาเกี่ยวข้องมากยิ่งขึ้น