ถึงคราวผลัดใบ ฟ้าเปลี่ยนสีใหม่ กันไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
สำหรับ “อังกฤษ” ประเทศเจ้าของฉายาว่า “ผู้ดี” ซึ่งผ่านพ้นการเลือกตั้งทั่วไป อันเป็นการเลือกตั้งก่อนกำหนด เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมา ตรงกับวันชาติสหรัฐอเมริกา ที่ตามกำหนดการเดิมนั้น หากนับตามวาระกันจริง อังกฤษ ก็จะต้องจัดการเลือกตั้งทั่วไปในช่วงเดือนมกราคม 2025 (พ.ศ. 2568) หรือปีหน้า
ทั้งนี้ เพราะรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีริชี ซูนัค คาดหวังว่า พรรคอนุรักษ์นิยมของพวกเขานั้น จะสามารถชนะเลือกตั้งได้ แม้ว่าจะมีปัญหาเรื่องคะแนนนิยมที่ตกต่ำสาละวันเตี้ยลง เพราะเผชิญปัญหาต่างๆ รุมเร้าหมักหมมมานานนับทศวรรษ นับตั้งแต่พรรคอนุรักษ์นิยมครองเมือง บริหารประเทศมานาน 14 ปีมาเลยก็ว่าได้ เช่น ปัญหาเศรษฐกิจที่ยืดเยื้อมายาวนาน และปัญหาที่ไปเกี่ยวพันกับสงครามฉนวนกาซาครั้งล่าสุด จนส่งผลให้เกิดกระแสประท้วงไปแทบจะทั่วเกาะอังกฤษ แต่รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีซูนัค ก็มีผลงานเรื่องการแก้ไขปัญหาภาวะเงินเฟ้อ กอปรกับหวังว่า พรรคแรงงาน ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน จะสะดุดขาตนเองในระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า พรรคอนุรักษ์นิยมจะชนะเลือกตั้งกันอีกครา
ทว่า ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า พรรอนุรักษ์นิยมพ่ายแพ้อย่างยับเยินที่สุดในรอบศตวรรษกันเลยทีเดียว พร้อมกับปิดฉากรัฐบาลพรรคอนุรักษ์นิยมที่บริหารปกครองอังกฤษมานานถึง 14 ปี ภายหลังจากพรรคแรงงานคว้าชัยชนะไปอย่างถล่มทลาย ซึ่งก็เป็นไปตามความคาดหมาย และเป็นไปตามผลการสำรวจความคิดเห็น หรือโพลล์ ของประชาชนชาวเมืองผู้ดี ทั้งที่มีมาก่อนหน้า และในการสำรวจโพลล์ที่บริเวณหน้าคูหาเลือกตั้ง หรือที่เรียกว่า “เอ็กซิตโพลล์”
โดยแจกแจงตัวเลข ส.ส. ของแต่ละพรรคที่ได้ในการเลือกตั้งทั่วไปก่อนกำหนดในครั้งนี้ ก็มีตัวเลขสำหรับพรรคที่สำคัญๆ ดังนี้
พรรคแรงงาน ภายใต้การนำของ “เซอร์ เคียร์ สตาร์เมอร์” ได้จำนวนที่นั่ง ส.ส. ไป 411 ที่นั่ง จากจำนวนทั้งสิ้นในสภาผู้แทนราษฎรของอังกฤษ 650 ที่นั่ง โดยถ้าพรรคใดได้จำนวน ส.ส. 326 ที่นั่ง ก็เท่ากับว่า “ครองเสียงข้างมาก” ในสภา แต่ปรากฏว่า พรรคแรงงาน ได้ ส.ส. ถึง 411 ที่นั่ง จึงสามารถกล่าวได้ว่า ท่วมสภาเลยทีเดียว สามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาพรรคการเมืองอื่นๆ
ทั้งนี้ พรรคแรงงาน ได้ ส.ส.เพิ่มขึ้นจากการเลือกตั้งครั้งที่แล้วถึง 209 ที่นั่ง ซึ่งจากเดิมได้ ส.ส.เพียง 202 ที่นั่งเท่านั้น พร้อมกับกอบกู้ศรัทธของประชาชนที่มีต่อพรรคแรงงานซึ่งตกต่ำในสมัยของนายเจเรมี คอร์บิน ให้กลับคืนมาได้สำเร็จในยุคของเซอร์ เคียร์ สตาร์เมอร์ ผู้นี้
พรรอนุรักษ์นิยม ในการนำของนายกรัฐมนตรีซูนัค ได้ ส.ส. เพียง 121 ที่นั่ง เท่านั้น ลดลงจากการเลือกตั้งครั้งที่แล้วที่ได้ 362 ที่นั่ง ซึ่งผลจากความพ่ายแพ้อย่างย่อยยับนับศตวรรษครั้งนี้ ก็ส่งผลให้นายซูนัค กลายเป็นอดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยม ไปในทันที เพราะประกาศลาออกจากตำแหน่ง เพื่อรับผิดชอบกับความพ่ายแพ้ที่บังเกิดขึ้น
พรรคเสรีประชาธิปไตย ภายใต้การนำของนายเอ็ด เดวี ได้ ส.ส. 72 ที่นั่ง เพิ่มขึ้นจากการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ที่ได้เพียง 11 ที่นั่ง เท่านั้น
พรรคชาติสกอต หรือเอสเอ็นพี ของนายจอห์น สวินนีย์ ได้ ส.ส. 9 ที่นั่ง
พรรคปฏิรูปสหราชอาณาจักร ของนายไนเจ ฟาราจ ซึ่งมีแนวนโยบายแบบขวาจัด และสนับสนุนการถอนตัวจากการสมาชิกสหภาพยุโรป หรือที่เรียกว่า “เบรกซิต” เมื่อช่วงก่อนหน้า ได้ ส.ส. ไป 5 ที่นั่ง
เมื่อเซอร์ เคียร์ สตาร์เมอร์ ได้เข้าบ้านเลขที่ 10 ถนนดาวนิง กรุงลอนดอน ในฐานะนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษ ภายหลังจากได้เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระเจ้าชาลส์ ที่ 3 เพื่อรับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ก็ได้จัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ขึ้นมาบริหารประเทศโดยทันที ซึ่งมีข้อน่าสังเกตว่า “รัฐบาลสตาร์เมอร์ 1” นี้ มีสตรีร่วมคณะรัฐมนตรีถึง 11 คน จากจำนวนทั้งสิ้น 25 คน
โดยสตรีที่ร่วมคณะรัฐมนตรีในฐานะเจ้ากระทรวงสำคัญๆ เช่น “ราเชล รีฟส์” ดำรงตำแหน่ง “รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง” ซึ่งถือเป็นสตรีคนแรกในประวัติศาสตร์การเมืองของอังกฤษ ที่ได้ดำรงตำแหน่ง “ขุนคลัง” ของประเทศ
ส่วน “แอนเจลา เรย์เนอร์” ก็ได้นั่งเก้าอี้ “รองนายกรัฐมนตรีอังกฤษ” เป็นต้น
กล่าวถึงการบริหารประเทศในยุคพรรคแรงงาน ที่หวนกลับเข้าสู่บ้านเลขที่ 10 ในครั้งนี้ ทางเซอร์เคียร์ สตาร์เมอร์ ก็ประกาศแบบให้คำมั่นว่า จะเป็น “ทศวรรษแห่งการฟื้นฟูชาติ” กันเลยทีเดียว ด้วยการดำเนินนโยบายต่างๆ เพื่อให้สมกับคำมั่นว่าเป็น “ทศวรรษแห่งการฟื้นฟูชาติ” ข้างต้น ได้แก่
ด้านเศรษฐกิจ ที่จะจำกัดขอบข่ายการเพิ่มรายจ่ายสาธารณะ การลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำของผู้คนในด้านเศรษฐกิจ การจัดการระบบเพื่อลดการเลี่ยงภาษี การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากค่าธรรมเนียมของโรงเรียน หรือสถานการศึกษาของเอกชน การจัดเก็บภาษีจากบริษัทพลังงาน เพื่อนำมาสร้างแผนการมั่งคั่งสีเขียว ซึ่งหากยังไม่เพียงพอก็อาจจะมีการกู้ยืมเพื่อมาเป็นเงินทุนในแผนการดังกล่าว
การปรับปรุงด้านระบบสาธารณสุข การดูแลสุขภาพของประชาชน ซึ่งทางรัฐบาลชุดปัจจุบันของพรรคแรงงาน จะเร่งเคลียร์การนัดหมายเข้ารับบริการตามระบบดูแลสุขภาพแห่งชาติ หรือเอ็นเอชเอส ที่ตกค้างกันมาตั้งแต่สมัยโควิด-19 ระบาด ซึ่งมีตัวเลขมากถึง 2 ล้านรายการต่อปี โดยทางรัฐบาลจะจ่ายค่าจ้างล่วงเวลาให้พนักงานของเอ็นเอชเอส ที่ทำงานในช่วงเวลาพิเศษ หรือวันหยุดสุดสัปดาห์ให้ด้วย ทั้งนี้ หากยังไม่เพียงพอ ก็อาจจะมีการเรียกพนักงานของสถานพยาบาลเอกชนมาช่วยเสริม
การปรับปรุงระบบการศึกษาของรัฐ ด้วยการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากค่าธรรมเนียมของโรงเรียนเอกชน หรือสถานการศึกษาเอกชน เพื่อนำเงินภาษีเหล่านี้ มาพัฒนาระบบการศึกษาของรัฐ ยกระดับมาตรฐานโรงเรียนของรัฐให้ดีขึ้นมา
นอกจากนี้ ยังมีนโยบายพัฒนาด้านอื่นๆ อีก เช่น ระบบคมนาคม ที่จะมีการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมให้ทันสมัย และการให้บริการ โดยเฉพาะด้านการรถไฟ การยกระดับสิทธิแรงงาน ตลอดจนพัฒนาสิ่งแวดล้อม ที่มุ่งลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และมีบทลงโทษแก่กิจการที่ทำลายสิ่งแวดล้อม