8 กรกฎาคม 2567 นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานแถลงข่าวเปิดตัวศูนย์ปฏิบัติราชการร่วม อว. “ศูนย์ปฏิบัติการผู้พันวิทย์ อว.” โดยมีผู้บริหารระดับสูงและเจ้าหน้าที่หน่วยงาน อว. รวมถึงสื่อมวลชนเข้าร่วมอย่างคับคั่ง พร้อมโชว์นิทรรศการผลงานของ 13 หน่วยงาน อว. ที่สอดคล้องกับการดำเนินภารกิจการช่วยเหลือและสนับสนุนคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน โดยมีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) เป็นเจ้าภาพและผู้ประสานงานหลัก ณ ห้องแถลงข่าว อาคารพระจอมเกล้า สำนักงานปลัดกระทรวง อว.
นางสาวศุภมาส อิศรภักดี กล่าวว่า กระทรวง อว. มีนโยบายในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน โดยมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินงานเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจ แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดี และตอบสนองต่อปัญหาและความต้องการของประชาชนอย่างรวดเร็ว ถึงแม้จะเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ อย่าง “DSS team” กรมวิทยาศาสตร์บริการ ที่สามารถวิเคราะห์หาสาเหตุ และนำไปสู่แก้ไขอย่างถูกต้องและรวดเร็ว ตามที่ทุกท่านทราบกันดีอยู่แล้ว เพียงหน่วยเดียวอย่าง DSS team ไม่สามารถแก้ไขทุกเรื่องได้ อีกทั้งหน่วยงานใน อว. มีศักยภาพสูงทั้งบุคลากร เครื่องมือ และเทคโนโลยีต่างๆ พร้อมที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหาเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน ตนจึงมอบหมายท่านอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ ประสานงานหารือกับหน่วยงานใน อว. เพื่อร่วมบูรณาการปฏิบัติภารกิจนี้เพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศ
รัฐมนตรี อว. กล่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้เป็นอีกหนึ่งในเป้าหมายสำคัญที่กระทรวง อว. มีความมุ่งมั่นร่วมกันในการปฏิบัติภารกิจสำคัญเพื่อพี่น้องประชาชนในนาม “ศูนย์ปฏิบัติการผู้พันวิทย์ อว.” ซึ่งจะเป็นศูนย์ปฏิบัติการแรกที่มีพันธกิจในการเฝ้าระวัง เตือนภัย ให้ความรู้ และป้องกันแก้ไขสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างครอบคลุม เตือนภัยด้วยข้อมูลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อให้ความรู้ แจ้งเตือนสถานการณ์ ให้ข้อแนะนำแก่ประชาชน และร่วมปฏิบัติการกับหน่วยงานราชการในพื้นที่บูรณาการกับท้องถิ่นและภาคประชาสังคม นำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีลงพื้นที่เพื่อการพิสูจน์ตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งถือเป็นการทำงานให้เกิดพลังร่วมสู่การดูแลประชาชนโดยตรง
ด้าน ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า GISTDA ได้นำเสนอการส่งเสริมจากการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีอวกาศและนวัตกรรมภูมิสารสนเทศ เพื่อความปลอดภัย มั่นคง และยั่งยืนของท้องถิ่น โดยเฉพาะนวัตกรรมภูมิสารสนเทศในรูปแบบแอพพลิเคชั่นในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้ประชาชนและผู้ที่สนใจ ติดตาม และเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อการทำการเกษตร รวมทั้งนำระบบตรวจสอบย้อนกลับที่ใช้ข้อมูลภูมิสารสนเทศที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของเกษตรกร/กลุ่มเกษตรกร และชุมชน มาสร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ให้เพิ่มขึ้น อีกทั้ง GISTDA ได้นำตัวอย่างผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่ใช้นวัตกรรมดังกล่าวของกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด พิษณุโลก มหาสารคาม สุรินทร์ และยโสธร โดยได้รับความสนใจจากหน่วยงานภายใต้ อว. เป็นอย่างมาก