นิด้าโพล เผยผลสำรวจหวยเกษียณ พบคนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย กังวลมอมเมาให้ประชาชนเสพติดการพนัน  แถมไม่ครอบคลุมทุกสาขาอาชีพ ขณะที่บางส่วนเห็นด้วยเป็นทางเลือกการออม จำกัดการซื้อเดือนละ 3,000 เหมาะสม 

     เมื่อวันที่ 7 ก.ค.67  ศูนย์สำรวจความคิดเห็น นิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชน เรื่อง จะออมเงินต้องซื้อหวยเกษียณ! ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 1-3 ก.ค.67 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับหวยเกษียณ เมื่อถามถึงความสนใจของประชาชนในการซื้อหวยเกษียณที่จะออกโดยกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 46.34 ระบุว่า ไม่สนใจเลย รองลงมา ร้อยละ 21.07 ระบุว่า ค่อนข้างสนใจ ร้อยละ 17.02 ระบุว่า ไม่ค่อยสนใจ ร้อยละ 15.42 ระบุว่า สนใจมาก และร้อยละ 0.15 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

     ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อโครงการจำหน่ายหวยเกษียณเพื่อส่งเสริมการออม พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 30.99 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย เพราะเป็นการมอมเมาให้ประชาชนเสพติดการพนัน หวยเกษียณไม่คลอบคลุมทุกกลุ่มอาชีพ รองลงมา ร้อยละ 26.34 ระบุว่า เห็นด้วยมาก เพราะ เป็นทางเลือกการออมที่น่าสนใจ เป็นการออมเพื่อลุ้นรางวัล และเป็นเงินออมไว้ใช้ในอนาคตได้ ร้อยละ 25.80 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย เพราะ เป็นแรงจูงใจในการเก็บออมให้แก่ประชาชน สามารถซื้อหวยแบบออนไลน์ได้ทำให้สะดวก และร้อยละ 16.87 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะ ระยะเวลาที่จะสามารถถอนเงินคืนได้ยาวนานเกินไป มีจำนวนรางวัลไม่มาก และเงินรางวัลน้อย

     สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อการจำกัดการจำหน่ายหวยเกษียณเฉพาะกลุ่มสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 และแรงงานนอกระบบ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 36.16 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย รองลงมา ร้อยละ 22.55 ระบุว่า เห็นด้วยมาก ร้อยละ 21.08 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย ร้อยละ 18.75 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย และร้อยละ 1.46 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

     ส่วนความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการจำกัดการซื้อหวยเกษียณ ไม่เกิน 3,000 บาทต่อเดือน พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 46.41 ระบุว่า เหมาะสมดีแล้ว รองลงมา ร้อยละ 35.72 ระบุว่า ไม่ควรจำกัดวงเงินการซื้อหวยเกษียณเลย ร้อยละ 10.54 ระบุว่า เห็นด้วยกับการจำกัดการซื้อหวยเกษียณ แต่ควรที่จะน้อยกว่า 3,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 6.74 ระบุว่า เห็นด้วยกับการจำกัดการซื้อหวยเกษียณ แต่ควรที่จะมากกว่า 3,000 บาทต่อเดือน และร้อยละ 0.59 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
     ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงหน่วยงานภาครัฐที่ควรเป็นผู้ดำเนินโครงการหวยเกษียณ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 39.09 ระบุว่า ธนาคารของรัฐ รองลงมา ร้อยละ 33.82 ระบุว่า กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ร้อยละ 22.55 ระบุว่า สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล และร้อยละ 4.54 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

 สำหรับหวยเกษียณ เป็นแนวคิดของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่มีนโยบายสลากสะสมทรัพย์เพื่อเงินออมยามเกษียณ (สลากเกษียณ) หรือเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า "หวยเกษียณ" ซึ่งเป็นนวัตกรรมเชิงนโยบายที่รวมเอาลักษณะการชอบเสี่ยงดวงของคนไทยมาเป็นแรงจูงใจในการเก็บออม ที่สามารถถอนเงินที่ซื้อสลากทั้งหมดออกมาได้ตอนอายุ 60 ปี มีเป้าหมายในการเข้าไปช่วยแก้ปัญหาการออมของประเทศที่ยังขาดอยู่ ทำให้เกิดสังคมสูงวัยแต่ยากจนแต่ไม่มีเงินเก็บ และนโยบายนี้จะใช้นิสัยของคนไทยที่ชอบเสี่ยงโชคมาเป็นแรงกระตุ้นและแรงจูงใจ เป็นการซื้อสลากที่ถูกกฎหมาย ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายสลากออมทรัพย์ แต่ไม่เหมือน เพราะเป็นระบบแรงจูงใจรูปแบบใหม่ เป็นการซื้อสลากที่เงินไม่หาย กลายเป็นเงินออมยามเกษียณ และยิ่งซื้อมากยิ่งได้ลุ้นมาก และได้เก็บเป็นเงินออมมากขึ้น

     โดยจะดำเนินการผ่านกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ในการออกสลากขูดแบบดิจิทัล ใบละ 50 บาท เพื่อขายให้สมาชิก กอช. ผู้ประกันตน มาตรา 40 และแรงงานนอกระบบ ซึ่งมีเป้าหมายราว 16-17 ล้านราย ซื้อได้ไม่เกิน 3,000 บาทต่อเดือน และสามารถซื้อสลากได้ทุกวัน ทั้งนี้จะออกรางวัลทุกวันศุกร์ เวลา 17.00 น. ผู้ถูกรางวัลจะได้เงินรางวัลทันที โดยที่เงินค่าซื้อสลากถูกเก็บเป็นเงินออม แม้ว่าจะถูกรางวัลหรือไม่ก็ตาม ซึ่งจะนำเงินส่งเข้าบัญชีเงินออมรายบุคคลกับ กอช. โดย กอช.จะเป็นผู้บริหารจัดการเงินจำนวนดังกล่าว และเมื่อผู้ซื้อสลากอายุครบ 60 ปี จะสามารถถอนเงินทั้งหมดที่ซื้อสลากได้