เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2567 ที่ห้อง Meeting A ชั้น 7 ที่ทำการชั่วคราวสมาคมนักข่าวฯ อาคารบางซื่อจังชั่น (ตึกแดง) ถนนกำแพงเพชร 2 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้จัดกิจกรรมราชดำเนินเสวนา หัวข้อ “ส่อง สว.ใหม่ ความหวังหรือวิกฤตครั้งใหม่” โดยมี นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผู้สมัคร สว. นางนันทนา นันทวโรภาส ว่าที่ สว. และนายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล ว่าที่ สว. พูดคุยแลกเปลี่ยน หลังการเลือก สว. ผ่านพ้นไปกว่า 10 วัน แต่ กกต. ยังไม่ประกาศผล
นายปริญญา กล่าวว่า ระบบการเลือก สว. ครั้งนี้ซับซ้อนที่สุด แต่บรรลุผลในการได้ผู้แทนปวงชนชาวไทยน้อยที่สุด ไม่บาลานซ์จังหวัด จ.บุรีรัมย์ ได้ สว. มากที่สุด 14 คน จึงไม่สะท้อนเจตนารมณ์ที่แท้จริง เชื่อว่ามีการจัดตั้งซึ่งระบบนี้สุดท้ายแล้วใครจัดตั้งได้มากที่สุดก็ได้เปรียบ ซึ่ง สว. ไม่ได้มีเพียงอำนาจกลั่นกรองกฎหมาย แต่จะต้องเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระด้วย จึงเป็นแรงจูงใจให้ “เครือข่ายบ้านใหญ่” เข้ามา เมื่อการเลือกไม่เที่ยงธรรม มีเครือข่ายบ้านใหญ่ จึงต้องดูว่า กกต. จะกล้าประกาศผลหรือไม่ แต่หากไม่ประกาศ ก็เท่ากับว่าจะเป็นการต่ออายุให้กับ สว. ชุดปัจจุบันได้อยู่ต่อ
นายปริญญา กล่าวต่อว่า ประเด็นปัญหาในขณะนี้ว่า กกต. สามารถประกาศผลการเลือก สว. ก่อน และสอยทีหลังได้หรือไม่ หรือต้องรอให้ครบ 200 คนทีเดียว เนื่องจากกฎหมายไม่ได้เขียนไว้ว่าให้ประกาศได้ร้อยละ 95 เหมือน สส. และยังมีข้อถกเถียงอีกว่า บัญชีสำรอง สว. 100 คน จะสามารถเลื่อนขึ้นมาทดแทน ส่วนที่ขาดไปได้เลยหรือไม่ แต่สิ่งที่ไม่ชัดเจนคือ กกต. ไม่สื่อสาร และเงียบหายไปเลย ควรประกาศว่า กกต. จะต้องใช้เวลากี่วันในการดำเนินการ
นายปริญญา กล่าวต่อว่า ส่วนกระแสข่าว สว.สีน้ำเงิน มีจริงหรือไม่นั้น เป็นการคาดการณ์และสันนิษฐานกับความเกี่ยวข้องของเครือข่าย แต่ไม่อยากให้สรุปว่า สว. ชุดนี้ใช้ไม่ได้ และต้องเลือกกันใหม่ ทั้งนี้ สว.ชุดใหม่ ถือเป็นความหวัง เพราะมีที่มาหลากหลาย แม้จะมีข้อครหา แต่ กกต. ควรจะเร่งประกาศรับรองผล เพราะหากต้องรอให้บริสุทธิ์ผุดผ่องทุกคน อาจต้องรอข้ามปี จะยิ่งเป็นการลากยาวให้กับ สว.ชุดปัจจุบัน ขณะที่ระยะเวลาอันใกล้นี้ จะมีการเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อีก 2 คน จึงอาจถูกมองได้ว่าลากยาวเพื่อเหตุนี้ ส่วนการนัดประชุม สว. วันที่ 8 ก.ค. นี้ ต้องถามว่าเป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่
“การเลือก สว. ระบบนี้น่าจะเป็นครั้งสุดท้าย น่าจะมีการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นสิ่งที่ทุกคนเห็นตรงกัน” นายปริญญา กล่าว
ด้านนางนันทนา กล่าวว่า ส่วนตัวถูกตั้งข้อสังเกตว่า ไม่ได้เป็นสื่อ แต่อาชีพแรกคือสื่อ และทราบว่าเป็นอาชีพที่เงินน้อย มีเกียรติมีศักดิ์ศรีมีกิน แต่ไม่มีใช้ ยืนยันจะไปผลักดันเรื่องนี้ให้ เพราะรายได้ของสื่อต่ำต้อย แต่ต้องรอให้ กกต. รับรองก่อน ขณะที่เห็นด้วยอย่างยิ่งให้ กกต. ประกาศรับรองไปก่อนค่อยสอยทีหลัง เพราะ สว.ชุดเก่า ดันมาขยันตอนนี้ นัดประชุมตรวจสอบ สว.ใหม่ ทั้งที่บทบาทภาระหน้าที่ของ สว. คือกลั่นกรองกฎหมาย และหากเข้าไปได้ ก็อาจจะไปตรวจสอบ สว.ชุดเก่าด้วย เห็นว่า สว.เก่าควรยุติบทบาทได้แล้วโดยมารยาท แม้ กกต. ยังไม่ประกาศรับรอง
นางนันทนา กล่าวถึงการเลือก สว. ครั้งนี้ว่า เป็นแบบ “โหดเหี้ยม หักหลัง และฮั้ว” ต้องฝ่าด่านไปรับรางวัลให้ได้ ซึ่งโหดเหี้ยม คือ การดำเนินการกำจัดจุดแข็งของผู้สมัครที่โปรไฟล์ดีมีชื่อเสียงออกไปก่อนตั้งแต่รอบเลือกกันเอง เป็นเหตุให้เห็นได้ว่า ผู้สมัคร สว. ชื่อดังจะตกรอบ ส่วนหักหลังคือการเลือก รอบแรกต้องจับมือกันแต่รอบต่อไป ต้องใช้วิธีการหลอกให้เลือกเกิดการหักหลังและชี้หน้าด่ากันกลางวง และสุดท้ายคือฮั้ว เพราะเห็นคะแนนที่ออกมา มีกลุ่มหนึ่งที่ได้คะแนนโดดเรียงกันเป็นแถวจำนวนมาก
“ตอนนี้ได้พยายามรวมกลุ่ม สว. ที่มีอุดมการณ์ร่วมกัน ประมาณ 30 คน นัดพบปะพูดคุย แลกเปลี่ยนกันวันนี้เป็นการภายใน ส่วนที่มีกระแสข่าวว่า สว.สายสีน้ำเงินเข้ามามากที่สุดนั้น ถือเป็นเรื่องเจ็บจี๊ด และมีจริง” นางนันทนา กล่าว
นางนันทนา กล่าวอีกว่า ขณะที่ สว.ใหม่จะเป็นความหวังหรือวิกฤติครั้งใหม่นั้น ถึงแม้ว่า สว.ชุดนี้จะหน้าตาไม่สะสวย แต่ไม่ได้มีที่มาจากอันเดียวกันทั้งหมด การโหวตอะไรจะไม่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน จึงไม่ใช่จะหมดหวัง “สว.พันธุ์ใหม่” จะต้องสื่อสารกับประชาชน สว.ชุดใหม่โปร่งใส สื่อสารรับใช้ประชาชน พร้อมจะเสนอให้วาระการเลือกองค์กรอิสระ มีการแสดงวิสัยทัศน์แบบการประกวดนางงาม และมีการถ่ายทอดสดการประชุมวุฒิสภา เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูล ไม่ใช่งุบงิบเลือกกันเอง
ขณะที่นายสมชัย กล่าวว่า กรธ. ออกแบบการเลือกตั้ง สว. ครั้งนี้ เพื่อให้ปราศจากการแทรกแซงของกลุ่มทุน จึงให้ 20 กลุ่มอาชีพ และให้มีกระบวนการในการเลือกแบบทั้งเลือกกันเองและเลือกไขว้ เพื่อไม่ให้เกิดการฮั้วเกิดขึ้น แต่วันนี้เราได้คำตอบแล้วว่า เราได้สิ่งเหล่านี้ระดับหนึ่ง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด และความเป็นตัวแทนกลุ่มอาชีพมีความหละหลวม ซึ่งมันไม่ได้เกิดขึ้นในชั้นของรัฐธรรมนูญ แต่มันเกิดจากระเบียบ ที่ให้เกิดการปรับปรุงอาชีพให้รับรองกันได้ ทำให้การลงสมัครเป็นไปตามผู้สมัครและคนที่บงการว่าจะไปอยู่ตรงไหน มากกว่าพื้นเพ ความรู้ความสามารถ และความถนัดของแต่ละคน
นายสมชัย กล่าวต่อว่า สว.ชุดนี้ ถูกแทรกแซงจากฝากการเมืองชัดเจน ไม่มีความความเป็นกลาง สังเกตได้ตั้งแต่การเลือกกันในระดับอำเภอ เราเล็งเห็นว่า สมัครเข้าไปโดยไม่ได้อยากเป็น สว. แต่สมัครเข้าไปเปลี่ยนมอเตอร์ โดยได้ค่ารับจ้างประมาณ 2,500 บาท ซึ่งชาวบ้านก็มองว่าคุ้มกับการทำงาน 1 วัน โดยเลือกให้ผ่านกันไปในรอบแรก จากนั้นอยากให้ กกต. ไปตรวจสอบว่า เลือกรอบ 2 ส่งกระดาษเปล่ากันจำนวนมาก ทำให้เกิดบัตรเสียมหาศาล เพราะคนจ้างบอกแค่ว่า “ให้มาเลือกแค่รอบแรก” พอมาถึงระดับประเทศ จะมีโพยสำเร็จรูปให้ครบทั้ง 20 กลุ่มเลย โดยไม่ว่าจะได้กลุ่มไหน ก็จะมีโพยให้ โดยจำนวนหนึ่งเป็นชื่อของคนที่เขาอยากได้จริงๆ แต่โพยบางส่วนมาจากการตกลงและเรียกรับผลประโยชน์ ประมาณว่า ถ้าอยากให้เราหนุน ก็จ่ายมา เพื่อนำรายได้ตรงนี้มาใช้จ่าย ทำให้เห็นภาพของคะแนนที่ออกมาเป็นกลุ่มก้อนคะแนนสูง ที่เลือกเป็นชุดเหมือนๆ กัน
นายสมชัย กล่าวว่า อนาคต สว. ยังมีความหวัง แต่อนาคตทางการเมืองไทยถือว่าวิกฤติ ซึ่ง สว.ใหม่ ยังมีความหวัง ไม่ได้หน้าตาดีทั้งหมด แต่หน้าตาดีก็มีเยอะ อย่าเพิ่งคิดว่าเขาทำงานไม่ได้ มีที่มาไม่ชอบมาพากล ต้องยอมรับถึงผลและกติกาที่เกิดขึ้น ซึ่งก็หาทางแก้ไขต่อไปในอนาคต และมองว่าการนัดประชุมวุฒิสภา วันที่ 8 ก.ค. นี้ จะมาขยันอะไร ตั้งคำถามว่าการตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ พิจารณาศึกษาตรวจสอบการเลือก สว. 67
ส่วนนายไชยยงค์ กล่าวว่า การเลือก สว. ในครั้งนี้ พบว่าผู้สมัครมีการศึกษากฎหมายและเตรียมตัวมากพอสมควร โดยมีการพิจารณาว่าจะสมัครกลุ่มใดแล้วจะมีโอกาสในการรับเลือก เช่น ในกลุ่ม 18 สายสื่อมวลชนจะพบว่า คนจัดรายการวิทยุ คนประกาศเสียงตามสาย หมู่บ้าน ในระดับจังหวัด โดนจับเลือกไปสมัครที่อำเภอที่มีผู้สมัครน้อย เพราะกลุ่มนี้ไม่ได้มีคนสมัครทุกอำเภอ ส่งผลให้ผู้สมัครสามารถผ่านเข้ารอบ 2 ได้ทันที ซึ่งเป็นวิธีการของคนที่ไม่ได้มาจากฝ่ายการเมือง เป็นวิธีคิดแบบ “ศรีธนญชัย ” ซึ่งส่วนตัวสังเกตเห็นว่าคนที่ผ่านเข้ารอบ เป็นคนที่ทำความรู้ จักมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น มีการศึกษากฎหมายและระบบการเลือกจึงได้ผ่านเข้ามาได้ แม้ สว. จะมีบางอย่างที่ผิดปกติ แต่ก็ยังมองว่ามีความหวัง เพราะจากการตรวจสอบ 200 รายชื่อ จะมีคนไม่ตรงปกอยู่ประมาณ 20 คน ก็ถือเป็นส่วนน้อย เพราะส่วนตัวมองว่าการได้ สว. ที่เป็นตัวแทนจากกลุ่มอาชีพ ถือเป็นเรื่องที่ดีเป็นความหวังของประเทศได้ ไม่ใช่แค่เพียงเป็นคนที่มีความรู้เท่านั้น จะเห็นได้ว่า สว.ชุดปัจจุบัน เป็นคนที่มีโปรไฟล์ดี แต่ก็ไม่เคยออกมาพูดหรือแสดงความคิดเห็นอะไร ดังนั้นคนทุกคนเท่ากัน สว.ชุดใหม่ ไม่น่าจะเลวร้ายเหมือนที่หลายคนกลัว
นายไชยยงค์ กล่าวว่า ประเทศไทยยังไม่สามารถที่จะฝากการแก้วิกฤติไว้กับการมี สว. ครั้งนี้ได้ แต่ สว.ชุดนี้ อาจจะไปทำให้สามารถที่จะขับเคลื่อน แก้ปัญหาบางสิ่งบางอย่าง ให้ดีกว่าที่ผ่านมา และเห็นว่าจำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญหากมีช่องทาง ซึ่งส่วนตัวมีจุดยืนสนับสนุนแก้ไขรัฐธรรมนูญ