จังหวัดชุมพร ถือเป็นแหล่งผลิตทุเรียนที่สำคัญของภาคใต้ มีเนื้อที่ปลูกเป็นอันดับ 2 ของประเทศ รองจากจังหวัดจันทบุรี มีพื้นที่ปลูกกว่า 327,000 ไร่ เป็นแหล่งผลิตทุเรียนคุณภาพระดับพรีเมียมออกสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล 

นายครองศักดิ์ สงรักษา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า พื้นที่ของตำบลทะเลทรัพย์ อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร มีพื้นที่ปลูกทุเรียนประมาณ 10,115 ไร่ พื้นที่ปลูกทุเรียนส่วนใหญ่อยู่ในตำบลชุมโค ตำบลทะเลทรัพย์ ตำบลเขาไชยราช และตำบลดอนยาง แต่ในอดีต ชาวสวนทุเรียนอำเภอปะทิว มีต้นทุนการผลิตค่อนข้างสูง และขาดองค์ความรู้ กรมส่งเสริมการเกษตรจึงเข้าไปส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มภายใต้โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ เพื่อให้เกิดการพัฒนาผลผลิตให้มีคุณภาพ เกิดการบริหารจัดการกลุ่มและผลผลิตร่วมกัน สร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร 

“กลุ่มทุเรียนแปลงใหญ่ตำบลทะเลทรัพย์ เข้าร่วมโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่เพื่อร่วมกันผลิตในทิศทางเดียวกัน เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในพื้นที่ ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต มีการใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมต่างๆ เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต มีการใช้นวัตกรรมการห่อผลทุเรียน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ซึ่งผลลัพธ์ของการนำเทคโนโลยีต่างๆ ที่ได้รับจากโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่มาใช้ สามารถลดต้นทุนการผลิตให้แก่สมาชิกได้ร้อยละ 30 ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพ ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของตลาด จนปัจจุบัน ทุเรียนกลายเป็นพืชเศษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในเขตพื้นที่อำเภอปะทิว ปีละหลายล้านบาท” รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว

ด้าน นายกิตติ ผลคิด ประธานกลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนตำบลทะเลทรัพย์ ชุมพร กล่าวเพิ่มเติมว่า เกษตรกรตำบลทะเลทรัพย์ปลูกทุเรียนมาตั้งแต่ประมาณปี 2532 เพื่อทดแทนพืชอื่นที่ได้รับผลผลกระทบจากพายุเกย์ แต่ในอดีต ต่างคนต่างทำ ขาดองค์ความรู้ ต้นทุนการผลิตสูง ต่อมาในปี 2559 ได้มีการรวมกลุ่มและจัดตั้งเป็นแปลงใหญ่ทุเรียนตำบลทะเลทรัพย์ขึ้น ภายใต้การส่งเสริมของกรมส่งเสริมการเกษตร โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาด้านการบริหารจัดการกลุ่ม ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตและการบริหารจัดการด้านการตลาดร่วมกัน ทางกลุ่มมีแนวทางการลดต้นทุนการผลิต โดยการใช้นวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาใช้ เช่น การห่อผลทุเรียน ที่ช่วยลดปริมาณการใช้สารเคมีลงได้ในช่วงก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต ประมาณ 2 เดือน นอกจากนี้ ยังผลิตชีวภัณฑ์ใช้ภายในกลุ่ม อย่างเชื้อราไตรโคเดอร์มา เพื่อช่วยลดปริมาณเชื้อโรคพืช เพิ่มการเจริญเติบโต เพิ่มผลผลิต เพิ่มความต้านทานโรค โดยเฉพาะโรครากเน่าโคนเน่าที่เกิดจากเชื้อราไฟท็อปเทอร่า รวมทั้งประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนของสารเคมีป้องกันกำจัดโรคพืช และลดปริมาณการใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดโรคทุเรียน รวมถึงมีการนำเครื่องจักรกลการเกษตรมาใช้ เช่น รถแทรกเตอร์ เครื่องย่อยกิ่งไม้ เครื่องพ่นแอร์บัส รถกระเช้าบังคับ รถตัดหญ้า โดรนพ่นสารเคมีขนาดใหญ่ ทำให้ประหยัดเวลาและแรงงาน ซึ่งปัจจุบันค่อนข้างจะประสบปัญหาขาดแรงงานช่วงการผลิต

นอกจากการเพิ่มปริมาณผลผลิต การผลิตให้ได้คุณภาพก็เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งได้นำประสบการณ์และความรู้ที่บ่มเพาะมาตลอดหลายปี มาประยุกต์ ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสภาพพื้นที่ ทั้งการผลิตให้ได้ตามมาตรฐาน GAP การนำเทคโนโลยีการห่อผลทุเรียนมาใช้ ที่ทำให้ผลทุเรียนมีสีผิวสวยงาม ไม่มีโรคและแมลงติดอยู่ที่บริเวณผล สามารถจำหน่ายได้ราคาสูง เป็นทุเรียนเกรดพรีเมี่ยม และผลสำเร็จที่เกิดขึ้นได้ถ่ายทอด เผยแพร่ให้กับสมาชิกกลุ่ม นำไปปรับใช้กับสวนทุเรียนของตนเอง ทำให้สมาชิกมีการพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น

สำหรับด้านการตลาด ทางกลุ่มจะขายผลผลิตให้กับล้งทุเรียน โดยแบ่งเป็นเกรดในการขาย เกรด A -B - C นอกจากนี้ สมาชิกกลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนทะเลทรัพย์ มีการผลิตทุเรียนคุณภาพ ทุเรียนเกรดพรีเมี่ยม ส่งขายในตลาดโมเดิร์นเทรดอีกทางหนึ่งด้วย และเนื่องจากในปัจจุบัน การซื้อขายผ่านช่องทางออนไลน์ได้รับความนิยมและเป็นตลาดที่กว้าง ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้ง่าย ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปเลือกซื้อสินค้าด้วยตัวเอง สมาชิกในกลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนทะเลทรัพย์จึงทำการขายสินค้าผ่านทางช่องทางออนไลน์ด้วย ส่วนตลาดอื่นๆ ในพื้นที่ตำบลทะเลทรัพย์มีโรงงานแปรรูปทุเรียน ซึ่งรับซื้อทุเรียนตกเกรดมาแปรรูปเพิ่มมูลค่า เกษตรกรสมาชิกกลุ่มทุเรียนแปลงใหญ่ทะเลทรัพย์จึงขายทุเรียนตกเกรดให้กับโรงงานแปรรูปในท้องถิ่น ซึ่งจะได้ราคาสูงกว่าทุเรียนตกเกรดในท้องตลาด ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น

​​​​​​​

“การรวมกลุ่มกันผลิตภายใต้รูปแบบเกษตรแปลงใหญ่ช่วยให้เกษตรกรสามารถยกระดับมาตรฐานการผลิตให้มีคุณภาพ ต้นทุนต่ำ เกิดการเรียนรู้แลกเปลี่ยน วิเคราะห์ปัญหาร่วมกัน เพื่อแก้ไขปัญหาไปในทิศทางเดียวกัน โดยมีกรมส่งเสริมการเกษตรคอยเป็นพี่เลี้ยง ซึ่งหลักการที่ทำให้แปลงใหญ่ทุเรียนทะเลทรัพย์เกิดความเข้มแข็งและยั่งยืนคือ การสร้างเครือข่ายของสมาชิก ให้รู้จักการมีจิตสาธารณะในการให้ความร่วมมือในการพัฒนากลุ่ม ส่งผลให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูล ร่วมวางแผนการดำเนินการผลิตทุเรียนของแต่ละปีให้มีคุณภาพที่ดี ได้มาตรฐาน และปลอดภัยต่อผู้บริโภค นอกจากนี้ กลุ่มยังมีการส่งเสริมให้สมาชิกปลูกพืชอื่นเสริม ทำการเกษตรแบบผสมผสานเพื่อเป็นการลดความเสี่ยงจากการผลิตสินค้าเชิงเดี่ยว ส่งผลให้สมาชิกมีรายได้เสริมจากการทำสวนทุเรียนอีกทางหนึ่งด้วย” นายกิตติ กล่าว