พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กหัวข้อ ประเทศไทยจะไปได้ไกลกว่านี้มาก ถ้าไม่มีคณะราษฎร (ตอนที่1) ระบุว่า...
ผลจากการปฏิวัติ 24 มิ.ย. 2475 ทำให้ประเทศไทยไม่ก้าวหน้า (ตอนที่2) 1️⃣ จากกรณีที่ในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงยอมชลอการพระราชทานรัฐธรรมนูญ ตามคำท้วงติงว่า “ประชาชนยังไม่พร้อม“ แต่คณะราษฏรได้ชิงตัดหน้าทำการปฏิวัติไปก่อน ทั้งที่ พ.อ.พระยาพหล หัวหน้าคณะราษฏร ก็ทราบดีอยู่แล้ว แต่ทำไมถึงไม่บอกให้สมาชิกคณะราษฏรรู้ด้วย ขอให้มาดูที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ซึ่ง อ.ปรีดี เป็นผู้ร่างเองนั้นได้มีการตัดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ออกไปทั้งหมด โดยระบุไว้ให้อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน แต่กลับมีที่มาของ ส.ส.ที่จะเข้ามาใช้อำนาจแทนประชาชนไม่ได้มาจากประชาชน โดยให้คณะราษฎรแต่งตั้งเองทั้งหมด และวาระการดำรงตำแหน่งก็ถูกขยายยาวไปถึง 10 ปี โดยแบ่งออกเป็น 3 ช่วงระยะเวลาดังนี้
▪️ช่วงแรก▪️คณะราษฎร ตั้ง ส.ส. เองทั้งหมด ตามเนื้อความใน รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่ระบุว่า “ นับตั้งแต่วันใช้รัฐธรรมนูญ จนกว่าจะถึงเวลาที่สมาชิกในสมัยที่ 2จ ะเข้ารับตำแหน่ง ให้คณะราษฎร ซึ่งมีคณะผู้รักษาพระนคร ฝ่ายทหารเป็นผู้ใช้อำนาจแทน จัดตั้ง ส.ส.ชั่วคราวขึ้นมา 70 นาย “
▪️ช่วงที่2▪️ ภายใน 6 เดือน หรือจนกว่า “การจัดประเทศเป็นปกติเรียบร้อย” (92 ปีผ่านมาบ้านเมืองก็ยังไม่เรียบร้อย) สมาชิกสภาจะต้องมีบุคคล 2 ประเภท ทำกิจกรรมร่วมกัน คือ “ประเภทที่ 1“ ให้ราษฎรเลือกผู้แทนขึ้นมาจังหวัดละ 1 คน (เกินแสนคนได้อีก 1 คน ) “ประเภทที่ 2“ ให้สมาชิกในช่วงแรกที่คณะราษฎรแต่งตั้งไว้ เลือกกันเองมีจำนวนเท่ากับ ส.ส.ประเภทที่ 1
▪️ช่วงที่3▪️ เมื่อราษฎรทั่วประเทศสอบไล่ได้ชั้นประถมศึกษาเกินครึ่ง และไม่เกิน 10 ปี ให้มีแต่ ส.ส.ที่ราษฎรเลือกเข้ามาทั้งหมด
รัฐธรรมนูญที่ อ.ปรีดีเขียนนั้น เห็นได้ว่ามีเจตนาถ่วงเวลาที่ประชาชนจะต้องมีความรู้ไว้นานถึง 10 ปี ซึ่งก็แสดงว่าคณะราษฎรเอง ก็ทราบดีว่าถ้าประชาชนยังไม่พร้อม ประชาธิปไตยเละแน่ ซึ่งก็ตรงกับเหตุผลที่รัฐกาลที่ 7 ทรงยอมชลอการพระราชทานรัฐธรรมนูญไว้ก่อน แต่ในขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็จะทำให้คณะราษฏร มี ส.ส.เสียงข้างมากอยู่ในสภาตลอดมา จึงอ้างอิงมติของสภา ทำอะไรก็ได้ทุกเรื่อง
อย่างไรก็ตาม อ.ปรีดี ได้พูดถึงเรื่องนี้ในรายงานสภาครั้งที่ 40/2475,ลง 27 พ.ย. 2475 เหมือนกัน ดังนี้ครับ
“ การที่มีสมาชิกผสมในสมัยที่ 2 นั้น ไม่ใช่ประสงค์ที่จะหวงอำนาจ ความข้อนี้มีผู้เข้าใจไปต่างๆ สุดแต่เขาจะกล่าวหาว่า ประสงค์จะเป็นดิกเตเตอร์(เผด็จการ) บ้าง อะไรบ้าง ความจริงไม่ใช่เป็นเช่นนั้นเลย
การที่เราจำเป็นต้องมีสมาชิกประเภทที่ 2ไว้กึ่งหนึ่ง ก็เพื่อช่วยเหลือ ส.ส.ในขณะนั้นที่เพิ่งเริ่มมีการปกครองแบบรัฐธรรมนูญ เราย่อมทราบอยู่แล้วว่า มีราษฎรอีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการศึกษาเพียงพอที่จะจัดการปกครองป้องกันผลประโยชน์ของตนเองได้บริบูรณ์ ถ้าขืนปล่อยมือให้ราษฎรเลือกผู้แทนโดยลำพังในเวลานี้แล้ว ผลร้ายก็จะตกอยู่กับราษฎรเอง…”
▪️หลังการปฏิวัติ คณะราษฎรไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนมากนัก จึงพยายามหาทางประนีประนอม กับสถาบันฯ ซึ่งคาดเดาได้ 2 ทาง (1)ในทางที่ดี คณะราษฎรเห็นพ้องกับในหลวงรัชกาลที่ 7ว่าประชาชนยังไม่พร้อมจริง ซึ่งกรณีนี้ เป็นแนวคิดของคณะราษฎรสายทหารเกือบทั้งหมด รวมทั้ง อ.ปรีดีด้วย และ (2)ในทางไม่ดี คณะราษฎรเห็นว่าอำนาจของฝ่ายตน ยังไม่มั่นคง เพราะคณะราษฏรในสายทหารส่วนหนึ่งหันกลับมาสนับสนุนการคืนบทบาทใหัพระมหากษัตริย์จึงควรหาทางประนีประนอมชลอเวลาไว้ก่อน
ดังนั้น รัฐธรรมนูญฉบับถาวร จึงมีการประนีประนอม ถวายพระเกียรติแก่องค์พระมหากษัตริย์เพิ่มขึ้น เช่น มีการทำพิธีขอพระราชทานอภัยโทษ ของคณะราษฎรอย่างเต็มรูปแบบขึ้น , รัฐธรรมนูณชั่วคราวของคณะราษฎร ใช้คำว่า “กษัตริย์”เฉยๆแต่ฉบับถาวรใช้คำว่า “พระมหากษัตริย์”, การให้สิทธิคัดค้านของพระมหากษัตริย์ (สิทธิVETO) ถ้าพระองค์ไม่เห็นด้วยกับ พระราชบัญญัติ และ เมื่อครบ 10 ปีแล้ว จะมีการเลือกตั้ง ส.ส.ใหม่ทั้งหมด โดยแบ่ง ส.ส.ออกเป็น 2 ประเภท คือ (1) ส.ส.ประเภทที่ 1 มาจากการเลือกตั้งของราษฎร และ (2) ส.ส.ประเภทที่ 2 มาจากการแต่งตั้งของพระมหากษัตริย์
▪️ สรุป การปฎิวัติของคณะราษฎร จึงเป็นการกระทำที่นักวิชาการหลายคนเรียกว่า “ชิงสุกก่อนห่าม” เมื่อประชาชนไม่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องการเมือง ความสับสนวุ่นวายจึงเกิดขึ้นเกือบทุกปี จนกลายเป็นเรื่องที่ผลักดันให้ คณะราษฎร แตกแยกกันอย่างรุนแรง จนต้องแก้ไขปัญหา โดยการ “ใช้อำนาจจากกระบอกปืนแทนอำนาจตามระบอบประชาธิปไตย” เป็นวงล้อหมุนเวียนกันไปมาตลอด 25 ปี ที่สมาชิกคณะราษฎร ครอบครองอำนาจอยู่
ตามข้อเท็จจริงแล้ว คณะราษฎรเป็นเพียงคนกลุ่มหนึ่ง ประมาณ 100 คน
ไม่ใช่องค์กรการต่อสู้เพื่อเรียกร้องอิสรภาพ แบบประเทศเพื่อนบ้านเพราะประเทศไทยเป็นเอกราชเจริญรุ่งเรืองคู่กันมากับญี่ปุ่น จึงทำให้คณะราษฎร มีฐานการสนับสนุนจากประชาชนอย่างจำกัดมาก การเร่งร้อนออกมาจัดตั้งสมาชิกของคณะราษฎรจึงล้มเหลว รวมไปถึงการโหมโฆษณาเรื่องความดีของรัฐธรรมนูญด้วย การเอารถถังไปวิ่งที่ ร.ร.สวนกุหลาบ หรือที่จุฬา การฟ้องร้องกลุ่มเจ้าฯยาวไปถึงองค์ในหลวงรัชกาลที่ 7 ฯลฯ ก็ไม่ได้ช่วยอะไรให้ดีขึ้น เพราะคนไทยชอบอยู่กันอย่างสงบๆสบายๆ ไม่ได้วิตกกังวลว่าจะปกครองระบอบอะไร และไม่ชอบให้ใครมาข่มขู่อีกด้วย ดังนั้นการสูญเสียเวลาไปเกือบ 25 ปีของคณะราษฎร ก็เท่ากับการชลอความก้าวหน้าของประเทศไทยไว้ด้วย
▪️ผมอ่านประวัติศาสตร์ที่ อ.ชาญวิทย์ เขียนไว้ ตั้งแต่มียศร้อยเอก ก็นิยมชมชื่นว่า อ.เป็นนักวิชาการที่ทรงความรู้ แต่ปัจจุบัน เมื่อ 18 พ.ค. 67 นี้ไปอ่านเรื่องที่ อ.ชาญวิทย์ไปพูดไว้ที่ฝรั่งเศส พบว่า ก็อ่อมแอ่มพูดไป ข้ามข้อมูล ที่เป็นเรื่องสมควรจะนำมาพิจารณาในส่วนที่ดีไปแยะ น่าจะเป็น เพราะเกรงใจคนจัด (คุณธนาธร) เรื่องนี้ คงเก็บไว้เขียนถึงในตอนที่ 3 นะครับ ตอนนี้ขอให้ชวนกันไปดูภาพยนต์
“แอนิเมชั่น 2475 รุ่งอรุณแห่งการปฎิวัติ” ตามยูทูปต่างๆกันไปก่อนนะครับ เพื่อประกอบการทบทวนความจริงแบบย่อๆน่ะครับ
พลโท นันทเดช / 25 มิ.ย. 67