พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กหัวข้อ ประเทศไทยจะไปได้ไกลกว่านี้มาก ถ้าไม่มีคณะราษฎร (ตอนที่1) ระบุว่า...

ในสมัยรัชกาลที่ 1 อาณาเขตของสยามได้แผ่ขยายออกไปอย่างกว้างขวางครอบคลุม กัมพูชา ลาว เวียดนามบางส่วน จนไปถึงอ่าวตังเกี๋ย  และหัวเมืองมลายูทั้งหมด ทำให้ “ สยาม “ มีประเทศกั้นชน ป้องกันข้าศึกรุกรานอยู่ทุกด้าน เป็นประเทศที่น่าเกรงขาม สุขสงบ และมากมายด้วยเกียรติยศ แต่สยามก็ต้องแลกมาด้วยความยากลำบากของขุนทหารทุกระดับ ทั้งที่มาจาก วังหน้า วังหลวง และ วังหลัง ที่ต้องผลัดเวียนกันออกไปรบพุ่ง ปกป้องรักษาประเทศราชเหล่านั้น ไม่รู้จบสิ้น ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5  สยามกลายสภาพเป็นเสมือน ประเทศกั้นชน ระหว่างอำนาจฝรั่งเศส ทางทิศตะวันออก และ อำนาจอังกฤษ ทางทิศตะวันตก ในขณะที่สงครามแบบเก่า ที่ใช้ความเก่งกล้าจากขุนทหารของสยามก็กำลังเริ่มหมดไป การล้อมปราบด้วยปืนไฟ และเรือปืน ได้เข้ามาแทนที่ 

ในหลวงรัชกาลที่ 5 จึงทรงประกาศอาณาเขตสยามอย่างชัดเจนขึ้น เพื่อป้องกันความขัดแย้งกับมหาอำนาจทั้ง 2 ประเทศ และทรงมุ่งมั่นพัฒนาประเทศ ทุกด้านอย่างรวดเร็ว ปฏิรูประบบทหารให้เป็นแบบยุโรป ทรงเลิกทาส โดยให้ทาสทุกคนได้เรียนหนังสือก่อน แล้วจึงมอบที่ดินให้ทำมาหากิน นอกจากนั้นพระองค์ยังทรงส่งนักเรียนไทยไปเรียน ที่ประเทศต่างๆทางตะวันตก  ในจำนวนที่ใกล้เคียงกับญี่ปุ่น เพื่อนำความรู้กลับมาพัฒนาสยาม (สมาชิกคณะราษฎรส่วนใหญ่กำเนิดมาจากนักเรียนทุนหลวง) 
อย่างไรก็ตามแม้สยามจะเจริญก้าวหน้าขึ้นมาแทบทุกด้าน แต่สยามก็ยัง 

ติดปัญหาเรื่องสนธิสัญญาต่างๆที่เคยทำไว้กับประเทศตะวันตก ซึ่งทำให้สยามเสียเปรียบประเทศตะวันตก ทั้งด้านการค้า และความเท่าเทียมในฐานะที่สยามเป็นประเทศเอกราช ดังนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 6 จึงทรงตัดสินพระทัย ไม่ฟังคำคัดค้านของกลุ่มทหารที่จบจากเยอรมัน (พ.อ.พระยาพหลฯเป็นคนหนึ่งในกลุ่มนั้นด้วย ) เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1  กับฝ่ายสัมพันธมิตร ประกาศสงครามกับเยอรมัน  ทำให้สยามได้รับชัยชนะ สามารถแก้ไขสนธิสัญญาต่างๆกับประเทศตะวันตกได้ทุกฉบับ  
(นายปรีดี เองก็ยังกล่าวชมเชยพระองค์ในเรื่องนี้ไว้) 

หลังจากนั้นพระองค์ได้ทรงขยาย การพัฒนาประเทศต่อยอดจาก ในหลวงรัชกาลที่ 5 เพิ่มเติมขึ้นอีก แต่ก็ยังทำได้ไม่เต็มที่  พระองค์จึงทรงกู้เงินมาจากประเทศทางยุโรป เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ และการชลประทาน อีกไม่กี่ปีต่อมา ผลผลิตทางเกษตร ก็ออกมาอย่างท่วมท้น   การขนส่งพืชผล ออกสู่ท้องตลาด ก็ทำได้อย่างรวดเร็ว เงินกลับคืนมาล้นท้องพระคลัง ในต้นรัชสมัยของในหลวงรัชกาลที่ 7 พระองค์ก็ทรงใช้หนี้ที่กู้ยืมมาจนหมดสิ้น และทรงเตรียมพระราชทานรัฐธรรมนูญ ให้กับประชาชน  แต่ก็ถูกทักท้วงไว้จากที่ปรึกษาชาวตะวันตก คณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญ และคณะอภิมนตรี ว่า  “ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศยังไม่มีความรู้เพียงพอ” ให้ชลอไว้ก่อน 


พระยาพหลฯ ผู้นำคณะราษฎรฝ่ายทหาร  นั้นเป็นผู้ที่รู้ดีที่สุด ว่า ในหลวงรัชกาลที่ 7 กำลังจะพระราชทานรัฐธรรมนูญ  แต่กลับไม่บอกอาจารย์ ปรีดี เพราะอาจารย์ปรีดี  ผู้นำคณะราษฎร สายพลเรือน บอกว่า เพิ่งมารู้หลังจากทำปฏิวัติไปแล้ว 


ปัญหาจึงน่าสนใจตรงที่ว่า  ทำไมพระยาพหลฯ ผู้เป็นเสมือนหัวใจของ คณะราษฎรในตอนนั้น ซึ่งรู้อยู่แล้วว่าในหลวงรัชกาลที่ 7 ได้ร่างรัฐธรรมนูญไว้เรียบร้อยแล้ว และเตรียมที่จะพระราชทานอยู่แล้ว ถึงไม่บอกสมาชิก คณะราษฎรคนอื่นๆให้รู้ หรือทำไมไม่กราบบังคมทูลขอเข้าเฝ้าฯเพื่อถวายข้อเสนอแนวทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยตามที่พวกตนต้องการ  ซึ่งแนวทางนี้ พระองค์เจ้าบวรเดช ก็เคยพูดคุยกับ พระยาพหลฯมาก่อนที่คณะราษฎรจะปฏิวัติ  ดังนั้น การใช้วิธีปฏิวัติล้มล้าง  ซึ่งไม่ใช่วิธีการตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเมื่อเริ่มต้นขึ้นแล้ว ก็หยุดไม่ได้ จึงทำให้การปฏิวัติกลายเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาของเหล่าสมาชิกคณะราษฎร ทั้งในสายทหาร และสายพลเรือน และยังเป็นโมเดลของการรัฐประหารครั้งต่อๆมาภายหลัง………….


บ้านเมืองจึงเสมือนถูกบอนไซ การปกครองแบบประชาธิปไตยตามที่คณะราษฎรตั้งใจไว้ จนกลายมาเป็นการปกครองแบบเผด็จการทางสภา บ้าง เผด็จการทางทหารบ้าง สลับกันไป เป็นแบบนี้มาตลอด 25 ปี ของการครองอำนาจ……………

พลโท นันทเดช / 23 มิ.ย.67