เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.67 ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์การค้าชายแดนมาจากจังหวัดแม่ฮ่องสอน ว่าก่อนหน้าที่จะมีการปฏิวัติรัฐประหารในประเทศเมียนมา เศรษฐกิจการค้าขายชายแดนด้านจังหวัดแม่ฮ่องสอนของไทยกับรัฐคะยา/คาเรนนี และประเทศเมียนมา มีการนำเข้าและส่งสินค้าระหว่างผู้ประกอบการค้าทั้งสองประเทศดีขึ้น หน่วยงานภาครัฐในจังหวัดแม่ฮ่องสอน นำผู้ประกอบการค้าไปเชื่อมความสัมพันธ์ด้านการค้า นำสินค้าโอท๊อปไปจำหน่ายการท่องเที่ยว และการเจราการค้าทั้งในรัฐคะยา รัฐฉาน และเมืองย่างกุ้งของเมียนมาเป็นไปอย่างราบรื่น
หลังจากเกิดเหตุการรัฐประหารในประเทศพม่าเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 และมีการสู้รบระหว่างรัฐบาลเมียนมากับชนกลุ่มน้อยตามแนวชายแดนและเมืองหลัก ๆ ของเมียนมา ทำให้หน่วยงานรัฐและผู้ประกอบการค้าในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ขาดการติดต่อและไม่มีการเชื่อมความสัมพันธ์ด้านการค้าอย่างสิ้นเชิง ทำให้การนำเข้า ส่งออกสินค้าลดลงอย่างต่อเนื่อง
ข้อมูลจากสำนักงานพาณิชน์จังหวัดแม่ฮ่องสอน มูลค่าการค้ารวมจังหวัดแม่ฮ่องสอน ในเดือนมกราคม - ธันวาคม 2566 เท่ากับ 622.38 ล้านบาท แบ่งเป็นมูลค่าการส่งออก 320.92 ล้านบาท และมูลค่าการนำเข้า 301.46 ล้านบาท ดุลการค้าสะสม 19.40 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกัน ในปี 2565 พบว่า มูลค่าการค้ารวม ลดลง 820.52 ล้านบาท จากมูลค่าการส่งออกลดลง 102.70 ล้านบาท รวมถึงมูลค่าการนำเข้า ลดลง 717.72 ล้านบาท และดุลการค้าเพิ่มขึ้น 614.92 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 103.27 (ในช่วงเดียวกันของปี 2565 มีมูลค่าการค้ารวม 1,442.90 ล้านบาท แบ่งเป็นมูลค่าการส่งออก 423.72ล้านบาท และมูลค่าการนำเข้า 1,019.18ล้านบาท ขาดดุลการค้า 595.47 ล้านบาท)
สถานการณ์ชายแดนประเทศเมียนมาที่ส่งผลกระทบถึงการค้าชายแดนในเดือนธันวาคม 2566 จากเหตุการณ์ความไม่สงบตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา ระหว่างทหารเมียนมาและกลุ่มต่อต้านปัจจุบัน (ห้วงเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม 2566) คลี่คลายและไม่รุนแรง ซึ่งไม่เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน ในที่ประชุมคณะกรรมการศูนย์สั่งการชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านด้านเมียนมา จังหวัดแม่ฮ่องสอน ครั้งที่ 12/2566 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 21 ธันวาคม 2566 จึงมีมติที่ประชุมให้ยกเลิกมติประชุมเรื่องการชะลอการนำเข้า – ส่งออกด่านช่องทางบ้านเสาหิน อำเภอแม่สะเรียง และให้มีการเปิดการค้าขาย นำเข้า - ส่งออกสินค้าเป็นปกติ
สถานการณ์การค้าชายแดนยังคงทรงตัว แต่ภาวะการค้ามีโอกาสเพิ่มขึ้น จากการเปิดการค้าขาย นำเข้า - ส่งออก ทางด่านช่องทางบ้านเสาหิน อำเภอแม่สะเรียง และหากสามารถนำเข้าและส่งออกสินค้าแร่ดีบุก โค/กระบือมีชีวิต และสินค้ารายการอื่นได้ตามปกติ ประกอบกับมีมติการพิจารณาเปิดให้การค้าขาย (เฉพาะโค กระบือ) ผ่านช่องทางบ้านปางคอง อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอนเพิ่มเติม ซึ่งเป็นการนำเข้าในราชอาณาจักรตามทางอื่น นอกจากทางอนุมัติตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ซึ่งตามมติที่ประชุมศูนย์สั่งการชายแดนฯ ครั้งที่ 10/2566 เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2566 ให้นำเข้าสินค้าประเภทโค กระบือ เดือนละ 1 ครั้งๆ ละ 3 วันทำการ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ และเพื่อเตรียมความพร้อม แนวทาง หลักเกณฑ์การเปิดคอกสัตว์ เส้นทางพื้นที่จุดนำเข้าหรือช่องทางการขนถ่ายสินค้า โดยคณะกรรมการอยู่ระหว่างลงพื้นที่ตรวจสอบความพร้อมรองรับการเปิดให้มีการนำเข้าโค กระบือ และรายงานผลการ สินค้าผ่านแดนประจำเดือนธันวาคม 2566 (ประเภทสินค้าผ่านแดน ได้แก่สินแร่ดีบุกและบุหรี่ต่างประเทศ)
นายทวีวิทย์ ดิบือแฮ ผู้ประกอบการค้าชายแดนช่องทางเสาหิน อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน กล่าวว่า สินค้าที่นำเข้าจะเป็นจำพวกแร่ดีบุก ส่วนสินค้าส่งออกจะเป็นน้ำมัน เครื่องอุปโภคบริโภค ที่ผ่านมาผู้ประกอบการได้ร่วมกันผลักดันให้ยกระดับการค้าชายแดนให้มีมูลค่าที่สูงขึ้น อยากให้พัฒนาในเรื่องถนน หลังจากมีการสู้รบทำให้การค้าชายแดนหยุดชงัก หากเหตุการณ์สู้รบคลี่คลายลงต้องการให้มีการสร้างความสัมพันธ์ขึ้นมาใหม่ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายยกระดับด่านให้ดีขึ้นต่อไป จึงอยากให้หน่วยงานรัฐช่วยสนับสนุนเชื่อมความสัมพันธ์เชิงพื้นที่เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนสินค้าทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น อนาคตอยากให้ยกระดับจุดผ่อนปรนห้วยต้นนุ่นเป็นด่านถาวร เพื่อจะได้มีสิทธิพิเศษเรื่องการเข้าออก การท่องเที่ยว การค้ามากขึ้น