“24 มิถุนาประชาธิปไตย” ร้อง ”ชัยธวัช“ ขอนิรโทษกรรมรวม 112 มองเป็นประโยชน์เดินหน้าก้าวข้ามความขัดแย้ง

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 27 มิ.ย. 2567 ที่รัฐสภา กลุ่มPeace and Harmony Organization และกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ. นิรโทษกรรมสภาผู้แทนราษฎร โดยมี นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชี และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมการและที่ปรึษากรรมาธิการฯ เพื่อขอให้นิรโทษคดีการเมืองทุกคดี รวมถึงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

โดยนายเกียรติชัย ตั้งภรณ์พรรณ แกนนำกลุ่มกล่าวว่า เราเสนอให้มีการนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองทุกคดี ไม่มียกเว้นมาตรา 112 ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดของความขัดแย้งของชาติในปัจจุบัน

การดำเนินคดีด้วยกฎหมายอาญามาตรา 112 คือการกลั่นแกล้งทางการเมือง ซึ่งถือได้ว่าเป็นคดีการเมือง จำนวนคดีที่พุ่งสูงขึ้นมักจะสอดคล้องกับเหตุการณ์ทางการเมืองเสมอเพื่อปิดกั้นการแสดงความเห็นต่างต่อคณะ รัฐประหารโดยการนำสถาบันกษัตริย์เป็นข้ออ้าง

สำคัญที่สุดสิทธิในการประกันตัว ตั้งแต่ต้นยังปลายกระบวนการ ตั้งแต่คดีอยู่ในมือตำรวจก็มีการออกหมายจับ ทั้งที่ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี ในชั้น อัยการในระยะแรกก็มีผู้ถูกละเมิดสิทธิประกันตัว จนมาถึงในระยะหลังทีคดีเริ่มมีการตัดสินไปบ้างแล้ว แต่ละคนก็ได้สิทธิประกันตัวไม่เท่ากัน บางคนได้ประกันตัวแต่บางคนไม่ได้ ทั้งที่ระยะเวลาห่างกันไม่มาก และที่สำคัญที่สุดหลายคนที่ไม่ได้ประกันตัวมักจะถูกอ้างว่าเกรงว่าจะหลบหนี แม้ว่าพวกเขาจะไม่เคยผิดเงื่อนไขประกันตัว

จึงมีความชัดเจนว่าคดีมาตรา 112เข้าเกณฑ์การ กระทำที่มีแรงจูงใจทางการเมือง การเมืองเป็นไปตามนิยามของกมธ. ศึกษาแนวทางการตราพรบ.นิรโทษกรรม "การกระทำที่มีพื้นฐานมาจากความคิดที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง หรือต้องการบรรลุเป้าหมายทางการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่ง ในช่วงเวลาที่มีความขัดแย้งหรือเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง" เพราะบุคคลที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 มักจะเป็นผู้ที่มีความเห็นต่างทางการเมืองกับคณะรัฐประหาร และพวกเขาวิจารณ์การอ้างสถาบันกษัตริย์ของคณะรัฐประหารเพื่อให้การปกครองแบบเผด็จการ

นายเกียรติชัย กล่าวว่าเนื่องในวันมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ หรือ 72 พรรษา ในวันที่ 28 ก.ค. 2567 การนิรโทษกรรม ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์ต่อการเดินหน้าก้าวข้ามความขัดแย้งและสร้างความปรองดองให้กับคนในชาติเพื่อเป็นการเดินหน้าพัฒนาชาติในทุกด้าน ทั้ง ด้านการเมืองเศรษฐกิจ สังคมและภาพลักษณ์ที่ดีของไทยด้านสิทธิมนุษยชนบนเวทีระหว่างประเทศ หากความขัดแย้งที่มีการดึงสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นคู่ขัดแย้งยังดำเนินต่อไปย่อมไม่เป็นผลดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์แน่นอน จึงขอให้ทางกมธ.ทุกท่าน ในการมีความเห็นให้มีการนิรโทษกรรมตามมาตรา 112 เพื่อยุติความขัดแย้งทางการเมือง

ด้านนายชัยธวัช กล่าวว่า หากจะใช้กลไกการนิรโทษกรรมผ่านสภาฯ นั้น แน่นอนว่ามีกมธ.บางคนแสดงความคิดเห็นส่วนตัวเรื่องเกี่ยวกับการนิรโทษกรรมมาตรา 112 แต่รายงานของกมธ.ก็มีการรวบรวมเกี่ยวกับความผิดในมาตรานี้ และจะเห็นได้ชัดว่าคดีเกี่ยวกับมาตรา 112 เกิดขึ้นมากและเห็นได้ชัดหลังการรัฐประหารปี 2549 และการรัฐประหารทุกครั้งมักจะมีการอ้างอิงเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อสร้างความชอบธรรม มีการใช้ความจงรักภักดีในการชอบทำให้ตนเอง ทำให้สถิติความผิดเกี่ยวกับมาตรา 112 มีมากขึ้นในช่วงนั้นๆ แต่ย้ำว่ากมธ.ยังไม่ได้มีข้อสรุป รวมถึงยังไม่ได้มีการพิจารณาในกมธ. ขณะนี้เรากำลังพิจารณาในเรื่องของอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนิรโทษกรรม ซึ่งมีข้อเสนอด้วยว่าหากมีการโต้แย้งกันสูงอาจจะให้คณะกรรมการนิรโทษกรรมกำหนดเงื่อนไขและกระบวนการเพื่อนิรโทษกรรมคดีนั้นๆ เป็นพิเศษก็ได้