"ดีเอสไอ" ส่ง"ชนินทร์ เย็นสุดใจ"ผู้ต้องหาคนสุดท้ายให้อัยการยื่นฟ้อง คดีหุ้น STARK ใน 6 ข้อหาหนัก พร้อมดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สิน มีการยักย้ายถ่ายเทไปยังบุคคลบุคคลอื่นเพิ่มเติมด้วยหรือไม่ ขณะที่ "ประธาน กมธ.ปปง." สภาผู้แทนฯ ชื่นชมรัฐบาล ติดตามคดีฉ้อโกงหุ้น “STARK” จี้เร่งยึดทรัพย์ผู้กระทำผิดและนำเงินฉ้อโกงที่ฝากไว้ตามธนาคารในต่างประเทศกลับคืนมาให้กับประชาชน
จากกรณีเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ควบคุมตัว นายชนินทร์ เย็นสุดใจ อดีตผู้บริหารบริษัท สตาร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในคดีฉ้อโกงหุ้น “STARK” ได้ที่ นครดูไบ และเดินทางมาถึงสนามบินสุวรรณภูมิแล้ว หลังจากหลบหนีนานเกือบ 1 ปี และนำส่งให้ พ.ต.ท.จักรกฤษณ์ วิเศษเขตการณ์ ผอ.กองคดีการเงินการธนาคารและการฟอกเงิน ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวน ดำเนินคดี และสอบปากคำตามขั้นตอนภายใน 48 ชั่วโมง ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น
ล่าสุด เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.67 นายเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล ประธานคณะกรรมาธิการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและยาเสพติด สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยถึง การจับกุม นายชนินทร์ เย็นสุดใจ ผู้ต้องหาในคดีฉ้อโกงหุ้น “STARK” ได้ที่ นครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมเรตส์ (ยูเออี) ที่อยู่ในการควบคุมของ กองคดีการเงินการธนาคารและการฟอกเงิน “DSI” เพื่อทำการสอบปากคำ และจะมีการส่งฟ้องต่อพนักงานอัยการ เพื่อให้อัยการส่งฟ้องต่อศาลอาญา ตามขั้นตอน
นายเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล ประธาน กมธ.ปปง.สภาฯ กล่าวว่า การจับกุมนายชนินทร์ เย็นสุดใจ ซึ่งเป็นอดีตประธานกรรมการบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK และในฐานะผู้ต้องหาคดีทุจริตตกแต่งบัญชี ฉ้อโกงประชาชนและฟอกเงิน ถือเป็นความร่วมมือของหน่วยงานทางการสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กับรัฐบาลไทย โดยการนำของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรมฯ ที่จริงจังในการติดตามผู้ต้องหาให้มาดำเนินคดีในประเทศไทย นายชนินทร์ ถือเป็นผู้ต้องหาคนสำคัญในคดีนี้ แต่ในการทำงานยังไม่ถือว่าเป็นความสำเร็จเสียทีเดียว เพราะหัวใจสำคัญก็คือการนำเงินของประชาชนที่ถูกฉ้อโกงไปกลับคืนให้กับประชาชนผู้เสียหายในคดี
คดีนี้ กมธ.ปปง.สภาฯ ได้ติดตามคดีนี้มาตั้งแต่ปลายปี 2566 เพื่อไม่ให้คดีเงียบหายก็ได้ตั้ง คณะอนุกรรมาธิการติดตามและศึกษาคดีฉ้อโกง บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มี ส.ส.ดนุพร ปุณณกันต์ เป็นประธานอนุฯ ติดตาม ปัญหาจากประชาชนผู้เสียหายในคดี ประเด็นการดำเนินคดีอาญา ในเรื่องของการยึดทรัพย์ ซึ่งอนุฯชุดนี้ ได้ทำงานแล้วเสร็จ มีการนำเสนอข้อสังเกต หลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสั่งไม่ฟ้องผู้บริหารบางคน เรื่องของศาลล้มละลายในบางประเด็น รวมถึงข้อเสนอแนะไปยัง กลต.ที่ต้องเข้มงวดในการออกหุ้นกู้ การบังคับใช้กฏหมายของ กลต. ต่อปัญหาในการตัดไฟแต่ต้นลมเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีก
นายเลิศศักดิ์กล่าวอีกว่า ส่วนประเด็นการติดตามเงินคืนตามธนาคารในต่างประเทศติดตามเงินที่ถูกฉ้อโกงไปนั้น ขอให้ ”ปปง.“ ได้เร่งประสานหน่วยงานต่างประเทศ เนื่องจาก ”กมธ.ปปง.“ ได้เคยสอบถามไปที่หน่วยงานยังต่างประเทศ เพื่อติดตามเงินที่ถูกฉ้อโกงไปคืน ทราบว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะนำเงินกลับมาให้กับประชาชนได้
สำหรับการติดตามคดีหุ้น STARK ในส่วนของ กมธ.ปปง.สภาฯ นายเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล เป็นประธานคณะกรรมาธิการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและยาเสพติด เริ่มดำเนินการพิจารณาในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2566 มีการตั้งนายดนุพร ปุณณกันต์ เป็นประธานคณะอนุกรรมาธิการติดตามและศึกษาคดีฉ้อโกง บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
จากนั้นมีการพิจารณารับฟังปัญหาจากประชาชนผู้เสียหาย และนำข้อเสนอแนะไปยัง DSI - ปปง. - กลต. จนเกิดกระบวนการติดตามจับกุมไปถึงการสารภาพว่า คดีหุ้น STARK มีการตกแต่งบัญชี ผ่องถ่ายเงินเป็นคดีฉ้อโกง ทำให้ประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อหมดตัว มีมูลค่าความเสียหายกว่าหมื่นล้าน
วันเดียวกัน พนักงานสอบสวน ดีเอสไอ คุมตัวนายชนินทร์ เย็นสุดใจ อดีตประธานกรรมการ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ส่งให้การอัยการคดีพิเศษยื่นฟ้องต่อศาลอาญา ในความผิดฐาน ตกแต่งบัญชีและงบการเงิน และฐานฉ้อโกงประชาชน จำนวน6ข้อหา ประกอบด้วย 1. ฉ้อโกงทรัพย์สินประชาชน 2. กระทำความผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 3. การปลอมแปลง บันทึกบัญชีเป็นเท็จ 4. ผู้บริหารปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาท ไม่ระมัดระวัง 5. กระทำการทุจริต และ 6. ฟอกเงิน รวมมูลค่าความเสียหาย 1.47 หมื่นล้านบาท และมีผู้เสียหายรวมกว่า 4 พันราย
ด้าน พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ระบุว่า ในขั้นตอนการสอบปากคำตลอดคืนที่ผ่านมา นายชนินทร์ให้การปฏิเสธแต่ก็มีการให้การในบางประเด็นกับพนักงานสอบซึ่งไม่ขอเปิดเผยในรายละเอียด ว่าเป็นประเด็นใด
ขณะที่ นายวิรุฬห์ ฉันท์ธนนันท์ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ สั่งการให้อัยการผู้รับผิดชอบสำนวนเตรียมร่างคำฟ้องไว้เเล้วและสามารถนำตัวผู้ต้องหาพร้อมคำสั่งฟ้องไปยื่นฟ้องต่อศาลอาญาได้ทันทีจากนั้นจะขออนุญาตศาลรวมคดีกับจำเลยอื่นที่ยื่นฟ้องไปก่อนหน้านี้
สำหรับการส่งตัวนายชนินทร์ให้อัยการเพื่อยื่นฟ้องต่อศาลอาญาบ่ายวันนี้ ของพนักงานกรมสอบสวนคดีพิเศษ เท่ากับว่ามีการยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลถือว่าครบจำนวนรวมทั้งสิ้น 11 ราย แบ่งเป็นบุคคล 6 ราย และนิติบุคคล 5 ราย หลังจากนี้ พนักงานสอบสวนจะรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อตั้งสำนวนฟ้องคดีฟอกเงิน เพื่อตรวจสอบสืบทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิดของจำเลยในคดีนี้ทั้งหมดว่ามีการยักย้ายถ่ายเทไปยังบุคคลบุคคลอื่นเพิ่มเติมหรือไม่ หากมีผู้ที่รับทรัพย์สินของผู้กระทำความผิดในคดีนี้ไป ก็จะถูกดำเนินการในคดีฟอกเงินด้วยเช่นกัน