วันที่ 20 มิ.ย.2567 ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการประชุมสภาฯสมัยวิสามัญ เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 วงเงิน 3.75 ล้านล้านบาท วาระแรกต่อเนื่องเป็นวันที่สอง ในช่วงบ่ายบรรยากาศการอภิปรายเป็นไปอย่างราบเรียบ เงียบเหงา สส.ฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาล สลับขึ้นมาอภิปรายการจัดสรรงบประมาณด้านสาธารณสุข โดยสส.ฝ่ายค้านอภิปรายเน้นไปที่รัฐบาลไม่ให้ความสำคัญจัดสรรงบประมาณให้กระทรวงสาธารณสุข ปล่อยให้ขาดแคลนแพทย์ พยาบาล อาทิ น.ส.กัลยพัชร รจิตโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี2568ไม่ให้ความสำคัญในการเพิ่มแพทย์ พยาบาล มาประจำที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ(ตำบล)
รวมถึงนโยบายนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.สาธารณสุข ที่ระบุจะเพิ่มบุคลากรทางแพทย์ที่ขาดแคลน แต่ในร่างพ.ร.บ.งบรายจ่ายปี2568 กลับไม่มีการจัดสรรงบส่วนนี้ไว้ แสดงว่ารัฐบาลไม่ให้ความสำคัญการจัดสรรงบส่วนนี้ใช่หรือไม่
ขณะที่นายปิยชาติ รุจิพรวศิน สส.นครราชสีมา พรรคก้าวไกล อภิปรายถึงงบอาสากู้ภัยของกระทรวงสาธารณสุข ที่มีอยู่ 45,000คน แต่กลับมีปัญหารายได้ไม่เพียงพอ มีการค้างค่าค่าชดเชยเจ้าหน้าที่ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.) 8เดือน ตั้งแต่ปี2566 แม้ล่าสุดสพฉ.ชี้แจงว่า จ่ายเงินที่ค้างอยู่ครบแบบเดือนต่อเดือนแล้ว แต่จากการตรวจสอบพบว่า สพฉ.ยังจ่ายเงินให้บุคลากรแค่ 2เดือนต่อครั้ง ไม่ใช่เดือนต่อเดือน
ด้านนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข ชี้แจงว่า ขอขอบคุณสส.ที่ได้วิพากษ์งบประมาณของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งประเด็นสำคัญคือ ทุกคนเห็นถึงความสำคัญของงานสาธารณสุข โดยผู้อภิปรายหลายคน ยังเห็นว่า งบประมาณของกระทรวงสาธารณสุข น้อยเกินไป ซึ่งรัฐบาลขอยืนยันว่า ได้ผลักดันให้เพิ่มขึ้นอย่างเต็มที่ แต่ยังไม่เพียงพอตามที่ สส.ได้อภิปราย ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่เราต้องบริหารอย่างไร ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เรื่องการแก้ปัญหาตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ก็ขอขอบคุณที่ห่วงใยเรื่องงบประมาณน้อย แต่การดูแลเด็ก ยังมีงบประมาณจากอีกหลายหน่วยงาย ซึ่งไม่ใช่จากกรมอนามัยเพียงอย่างเดียว โดยตนทราบว่า ยังเกี่ยวข้องกับ สปสช. ที่ต้องดูแลความสมบูรณ์ของทารกด้วย ซึ่งมีเด็กเกิด 4.5 แสนคน แต่มาใช้บริการตรวจความสมบูรณ์ 1.8 แสนคน ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุข ก็ต้องบูรณาการให้ครบถ้วน รวมถึงแก้ปัญหาการมีบุตรน้อยด้วย เพราะปัจจุบันมีบุตรเฉลี่ย 1.2 คน ทั้งที่ควรมี 2.1 คน
นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องยาเสพติด ตนมารับหน้าที่ตรงนี้ ก็ได้เปลี่ยนแนวทางให้สันนิษฐานยาบ้า 1 เม็ด เป็นผู้เสพ แต่ครม.ก็เพิ่มว่า ต้องสอบสวนด้วย ถึงจะได้รับสิทธิบำบัด เพื่อจะได้รู้ว่า ผู้ค้าคือใคร เพื่อขยายผลไปสู่การยึดทรัพย์ ส่วนกระทรวงสาธารณสุข ก็มีหน้าที่บำบัดผู้ติดยาเสพติด โดยเฉลี่ยแล้ว มีผู้ป่วยเข้าบำบัดปีละ 1.1 แสนราย แต่ถ้าใช้กฎหมายครบ ก็จะเห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้น ส่วนกรณีรถกู้ภัย สพฉ.ก็กำลังดู เพราะได้รับทราบว่า รถกู้ภัยยังไม่ครบทุกตำบล จึงจะพัฒนาเป็นความร่วมมือระหว่าง สพฉ. กับ อบต. รวมถึงตนได้เข้าไปเยี่ยมพบว่า บางครั้งมีปัญหารถปลอมเข้ามา จึงจะแก้ด้วยการให้กรมขนส่ง ทำทะเบียนพิเศษให้
“การขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ เราทำแผนไว้แล้ว โดยในปี 2577 เราประเมินว่า แพทย์ควรมีเพิ่มอีก 41,000 คน พยายาบาล 57,000 คน พร้อมเห็นด้วยว่า บุคลากรทางการแพทย์ทำงานหนัก จึงพร้อมสนับสนุนให้นำข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข ออกจาก กพ. เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับคนทำงานหนัก รวมถึง อสม.ก็เป็นกำลังสำคัญ ตนจึงอยากทำกฎหมายให้ อสม.มีความยั่งยืน และมีที่ยืน จึงขอให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ช่วยกันทำให้ อสม.มีความยั่งยืนด้วย” รมว.สาธารณสุข กล่าว
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า กระทรวงสาธารณสุข ยังมีนโยบายเร่งรัดพัฒนา 5 ด้าน คือ 1.ยกระดับ 30 บาท รักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว งบประมาณ 167,753 ล้านบาท เพื่อเชื่อมโยงระบบรักษา ลดแออัด ลดเดินทาง และยกระดับดิจิทัลสุขภาพ พร้อมเพิ่มเหมาจ่ายรายหัว จาก 3,472 บาท/คน เป็น 3,844 บาท/คน 2.แก้ไขปัญหาสุขภาพจิตและยาเสพติดอย่างบูรณาการ งบประมาณ 1,330 ล้านบาท เพื่อพัฒนาคุณภาพการบำบัดรักษา และดูแลผู้ป่วยตามระดับอาการ 3.การแพทย์ปฐมภูมิ และ อสม. โดยยกระดับหน่วยบริการปฐมภูมิ 2,700 แห่ง งบประมาณ 2,520 ล้านบาท เสริมความเข้มแข็ง อสม. เพื่อคัดกรองสุขภาพเชิงรุก และค่าป่วยการ งบประมาณ 25,800 ล้านบาท 4.Medical & Wellness Hub เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจสุขภาพ เพราะมูลค่าตลาดอุตสาหกรรมการแพทย์ สูงถึง 1.2 ล้านล้านบาท
ส่วนมูลค่าเศรษฐกิจสมุนไพรในตลาดโลก 1.7 ล้านล้านบาท จึงตั้งงบประมาณ 905 ล้านบาท เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์ และตั้งงบประมาณ 80 ล้านบาท เพื่อขับเคลื่อนแพทย์แผนไทย และ 5.เพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพ ยกระดับการใช้เทคโนโลยี และการศึกษาวิจัย งบประมาณ 10,298 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ และยกระดับการเข้าถึงบริการสุขภาพ
ขณะที่น.ส.สิริลภัส กองตระการ สส.กทม. พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ขออภิปรายงบในส่วนกรมสุขภาพจิตที่ในร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี2568 ของบไป 4,400ล้านบาท แต่ได้รับจัดสรรแค่ 3,038ล้านบาท คิดเป็นแค่ 1.8% ของงบประมาณกระทรวงสาธารณสุข ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในปัจจุบันที่คนไทยมีปัญหาด้านสุขสภาพจิตมากถึง 10ล้านคน แต่เข้ารับการรักษาแค่ 3ล้านคน ปัจจุบันคนไทยมีปัญหาสุขภาพจิตทุกวัยตั้งแต่วัยเด็ก วัยรุ่น วัยทำงาน และวัยผู้สูงอายุ โดยเฉพาะวัยผู้สูงอายุมีอัตราฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นทุกปี รัฐบาลไม่ให้ความสำคัญการแก้ปัญหาสุขภาพจิตคนไทย ทั้งที่ปัญหาหนักขึ้น แต่งบประมาณแก้ปัญหากลับลดลง