วันนี้ ( 20 มิถุนายน 2567 ) ที่ลำใจ๋เวียง หรือเสาสะดือเมืองภูกามยาว บริเวณสำนักงานวัฒนธรรม จ.พะเยา นายไสว ไชยเมือง วัฒนธรรมจังหวัดพะเยา ได้นำ ขรก.และจนท.ในสังกัด ตลอดจนสภาวัฒนธรรมจังหวัดฯร่วมกันสักการะ “ ลำใจ๋เวียง “ หรือ “ เสาสะดือเมืองภูกามยาว “ เพื่อเป็นการอนุรักษาฟื้นฟูขนบประเพณีท้องถิ่น พร้อมจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ขนบประเพณีให้กับนักเรียน
"เสาสะดือเมืองภูกามยาว หรือลำใจ(ใจ๋)เวียง" เป็นเสาหลักเมืองเก่าโบราณ มีมาตั้งแต่ยุคสมัยเจ้าหลวงพุทธวงศ์ เจ้าหลวงองค์แรกเมืองพะเยา ตั้งอยู่ในพื้นที่สำนักวัฒนธรรมจังหวัดในปัจจุบัน ภายในบริเวณคุ้มเจ้าหลวง จะมีหอเสื้อบ้านเสื้อเมืองและศาลหลักเมืองตั้งอยู่ เจ้าหลวงพะเยาจะทำพิธีบวงสรวงทุกปีนับตั้งแต่สมัยเจ้าหลวงพุทธวงศ์ สืบต่อประเพณีกันมาจนถึงเจ้าหลวงองค์สุดท้ายคือพระยาประเทศอุดรทิศ เพื่อให้บ้านเมืองให้มีความสงบสุขมเย็นและเจริญรุ่งเรือง
ต่อมาในปีพ.ศ. 2442 รัฐบาลสยามได้เปลี่ยนรูปแบบการปกครองเป็น "ระบบเทศาภิบาล" มีการยกเล็กการปกครองแบบหัวเมืองประเทศราชและยกเลิกตำแหน่งเจ้าหลวง เมื่อพระยาประเทศอุดรทิศ เจ้าหลวงพะเยาองค์สุดท้ายถึงแก่พิราลัยประมาณปี พ.ศ. 2467 จึงสิ้นสุดลงโดยปริยาย และทำให้พิธีกรรมบวงสรวงหอเสื้อบ้านเสื้อเมืองและศาลหลักเมือง ต้องเลิกราไปในที่สุด เสาสะดือจึงถูกทิ้งร้างอยู่ในคุ้มเจ้าหลวงนับแต่นั้นมา ต่อเกิดไฟไหม้ใหญ่ในเมืองพะเยา ทำให้หอเสื้อบ้านเสื้อเมืองถูกเผาทำลายไปด้วย หลงเหลือแต่เพียงซากเสาหินหลักเมืองที่จมดินอยู่ข้างๆสำนักงานวัฒนธรรม จ.พะเยา ต่อมา นายโชคดี อมรวัฒน์ อดีตผวจ.พะเยา ร่วมกับส่วนราชการภายในจังหวัดพะเยา อำเภอทั้ง 9 อำเภอ และประชาชนชาวพะเยาทุกหมู่เหล่าได้ร่วมกันจัดพิธีอัญเชิญลำใจ๋เวียงประดิษฐานไว้ ณ หน้าสำนักงานวัฒนธรรม จ.พะเยา และได้บวงสรวง สมโภช เสาสะดือเมืองภูกามยาวขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 16 กันยายน 2564 เพื่อเป็นศูนย์รามจิตใจของคนเมืองพะเยาอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดพะเยา สำนักงานวัฒนธรรมฯ จึงได้ยึดถือปฏิบัติเพื่อเป็นการอนุรักษ์ฟื้นฟูขนบประเพณีวัฒนธรรมให้คงอยู่ตลอดไป