“กรมควบคุมโรค” เตือนญี่ปุ่นเจอผู้ป่วยภาวะ ช็อกจากการติดเชื้อ แบคทีเรียสเตรปโตคอคคัส เพิ่มสูงขึ้น เตือนคนไปเที่ยวให้สังเกตอาการ กลุ่มไหนเสี่ยงต้องระวังเป็นพิเศษ

เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.67 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ออกประกาศถึงกรณีพบผู้ป่วย กลุ่มอาการภาวะช็อกจากการติดเชื้อแบคทีเรีย สเตรปโตคอคคัส (Streptococcal toxic shock syndrome :STSS) เพิ่มสูงขึ้นในประเทศญี่ปุ่น ว่า

ภูมิหลังและความสำคัญ

       Streptococcal Toxic Shock Syndrome (STSS) เป็นภาวะติดเชื้อที่รุนแรงที่พบได้น้อยแต่เป็นอันตราย ถึงชีวิต ส่วนใหญ่มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus กลุ่ม A ซึ่งเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้พบได้บ่อยในลำคอและบนผิวหนังของคนเราทั่วไป และสามารถทำให้เกิดอาการคออักเสบได้ บางรายมีความรุนแรง ทำให้เกิดการติดเชื้อที่ลุกลามที่เรียกว่า invasive Group A Streptococcal disease (iGAS) เชื้อแบคทีเรียชนิดนี้สามารถผ่านปราการระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเข้าไปในเนื้อเยื่อส่วนลึกและปล่อยสารพิษผ่านระบบไหลเวียนเลือด กระตุ้นให้เกิดการอักเสบ จนเกิดภาวะช็อก และภาวะล้มเหลวของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายตามมา จนเสียชีวิตได้ และสามารถแพร่เชื้อจากคนสู่คน ผ่านละอองฝอยขนาดใหญ่ และการสัมผัสกับสารคัดหลั่ง เช่น น้ำลาย น้ำมูก ซึ่งจะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางเยื่อบุคอ เยื่อบุเมือกต่างๆ และบาดแผลบนผิวหนัง ลักษณะอาการเริ่มด้วยอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ ไข้สูง หนาวสั่น ปวดเมื่อยตามตัว และประมาณ 24 ถึง 48 ชั่วโมง จะมีอาการรุนแรงเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

       จากรายงานโรคติดเชื้อประจำสัปดาห์ ของสถาบันโรคติดเชื้อแห่งชาติญี่ปุ่น (Infectious Diseases Weekly Report : IDWR) ฉบับที่ 21 (วันที่ 20 – 26 พฤษภาคม 2567) พบผู้ป่วย STSS จำนวน 30 ราย เสียชีวิต 6 ราย โดยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 26 พฤษภาคม 2567 มีรายงานพบผู้ป่วย STSS สะสมจำนวน 690 ราย เสียชีวิต จำนวน 163 ราย (ร้อยละ 23.6) กลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือ อายุ 70 - 79 ปี 149 ราย (ร้อยละ 21.6) และจากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ ของประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2567 พบการรายงานผู้ป่วย STSS สะสมในปี 2567 เพิ่มขึ้น รวมจำนวน 977 ราย ซึ่งสูงกว่าปีที่ผ่านมา และแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2566

Streptococcal Toxic Shock Syndrome (STSS) คืออะไร

สาเหตุ เป็นภาวะที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus โดยสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อ S. pyogenes เรียกว่า Streptococcus กลุ่ม A (Group A Strep) ซึ่งสามารถเข้าไปในเนื้อเยื่อส่วนลึก    และปล่อยสารพิษผ่านระบบไหลเวียนเลือด กระตุ้นให้เกิดการอักเสบ จนเกิดภาวะช็อก และภาวะล้มเหลวของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายตามมา จนเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ Streptococcus กลุ่ม B, C, G ก็ทำให้เกิด STSS ได้ แต่เกิดขึ้นน้อยกว่ากลุ่ม A

ลักษณะอาการ เริ่มด้วยอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ ไข้สูง หนาวสั่น ปวดเมื่อยตามตัว และโดยปกติจะใช้เวลาประมาณ 24 ถึง 48 ชั่วโมง จะมีอาการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่น ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็ว และมีสัญญาณและอาการที่แสดงให้เห็นถึงภาวะล้มเหลวของอวัยวะต่างๆ เช่น ตับวาย ไตวาย ภาวะหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน เกิดลิ่มเลือดในกระแสเลือด การอักเสบของเนื้อเยื่อ ผื่นแดงทั่วตัว อาการทางระบบประสาท 

การติดต่อ เชื้อ Streptococcus กลุ่ม A แพร่เชื้อจากคนสู่คน ผ่านสารคัดหลั่ง เช่น ละอองฝอยน้ำมูก น้ำลาย ซึ่งจะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางเยื่อบุคอ เยื่อบุเมือกต่างๆ นอกจากนี้ยังเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผลบนผิวหนังจากการสัมผัสกับสารคัดหลั่งได้ด้วย จากนั้นเชื้อจะแพร่กระจายไปยังเนื้อเยื่อชั้นลึก และเข้าสู่กระแสเลือด

การวินิจฉัยโรค และการรักษา ใช้อาการทางคลินิกร่วมกับผลการตรวจแยกเชื้อ โดยผู้ป่วยควรได้รับการรักษาตามดุลยพินิจของแพทย์

สถานการณ์ปัจจุบัน

สถานการณ์การติดเชื้อ Streptococcus กลุ่ม A  รวมทั้งการเกิด Streptococcal Toxic Shock Syndrome (STSS) ในประเทศญี่ปุ่น มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นมาตั้งแต่ปี 2566 จากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข แรงงานและสวัสดิการของประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2567 พบการรายงานผู้ป่วย STSS สะสมในปี 2567 จำนวน 977 ราย ซึ่งสูงกว่าปีที่ผ่านมา

จากรายงานโรคติดเชื้อประจำสัปดาห์ ของสถาบันโรคติดเชื้อแห่งชาติญี่ปุ่น (Infectious Diseases Weekly Report : IDWR) ฉบับที่ 21 (วันที่ 20 – 26 พฤษภาคม 2567) พบผู้ป่วย STSS จำนวน 30 ราย เสียชีวิต 6 ราย โดยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 26 พฤษภาคม 2567 รายงานพบผู้ป่วย STSS จำนวน 690 ราย เสียชีวิต จำนวน 163 ราย (ร้อยละ 23.6) กลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือ อายุ 70 - 79 ปี 149 ราย (ร้อยละ 21.6) รองลงมาคือ อายุ 80 - 89 ปี จำนวน 143 ราย (ร้อยละ 20.7) ช่วงอายุ 60 - 69 ปี จำนวน 110 ราย (ร้อยละ 15.9)

สำหรับประเทศไทยไม่พบผู้ป่วยภาวะติดเชื้อที่รุนแรง หรือ STSS แต่มีรายงานการติดเชื้อ Streptococcus กลุ่ม A ซึ่งเป็นเชื้อประจำถิ่น ที่ทำให้เกิดโรคไข้ดำแดง มีการติดเชื้อเป็นหนองหรือจุดเลือดออกที่คอหอย และต่อมทอนซิล มักมีอาการไม่รุนแรง ได้แก่ เจ็บคอ ปวดศีรษะ และไข้มีผื่นละเอียดสีแดงตามร่างกาย สัมผัสแล้วมีลักษณะสากคล้ายกระดาษทราย ลิ้นบวมแดง (Strawberry tongue) โรคนี้สามารถติดต่อจากคนสู่คนโดยการหายใจสูดเอาละอองฝอยของเสมหะ น้ำมูก น้ำลายที่มีเชื้อ หรือสัมผัสผ่านทางมือสิ่งของเครื่องใช้ มักระบาดในกลุ่มคนที่อยู่รวมกันจำนวนมาก เช่น เด็กนักเรียนในโรงเรียน หรือศูนย์เด็กเล็ก โดยจากข้อมูลระบบรายงานการเฝ้าระวังโรค ของกรมควบคุมโรค ในปี 2566 พบผู้ป่วย จำนวน 608 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 0.92 ต่อแสนประชากร ไม่พบรายงานผู้เสียชีวิต และปี 2567 (วันที่ 1 มกราคม – 30 เมษายน 2567) พบผู้ป่วย จำนวน 18 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิต

คำแนะนำสำหรับผู้เดินทาง

สำหรับผู้ที่วางแผนจะเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น ควรให้ความสำคัญในการป้องกันตนเอง เนื่องจากเชื้อ สามารถติดต่อจากคนสู่คน ผ่านละอองฝอยของสารคัดหลั่ง และบาดแผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้เดินทางกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ที่มีโรคประจำตัว และผู้ที่มีบาดแผลหรือแผลผ่าตัด ควรเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยมีคำแนะนำ ดังนี้

ก่อนการเดินทาง

ตรวจสอบสถานการณ์โรคในพื้นที่ที่จะเดินทางไป โดยติดตามการระบาดของโรคได้ที่เว็บไซต์ทางการของประเทศญี่ปุ่น https://www.niid.go.jp/

เตรียมอุปกรณ์ในการป้องกันตนเองให้พร้อม เช่น หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ อุปกรณ์ทำความสะอาดบาดแผล ทายาฆ่าเชื้อ และปิดแผลด้วยพลาสเตอร์ เป็นต้น

แนะนำให้ซื้อประกันสุขภาพล่วงหน้าก่อนการเดินทาง

ระหว่างการเดินทาง (ระหว่างอยู่ที่ประเทศปลายทาง)

รักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล ล้างมือให้สะอาดบ่อย ๆ และทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร สวมหน้ากากอนามัย ปิดปากหรือจมูกเมื่อไอหรือจาม และระมัดระวังไม่ให้ผิวหนังเกิดบาดแผล และเมื่อมีบาดแผลให้ทำความสะอาดอย่างถูกวิธี

ระมัดระวังการเดินทางท่องเที่ยวในสถานที่ที่มีผู้คนแออัด เช่น ย่านช้อปปิ้ง ถนนคนเดิน สถานีรถไฟ

สังเกตอาการผิดปกติของตนเอง หากมีอาการเบื้องต้น ได้แก่ เจ็บคอ มีไข้ ให้รีบพบแพทย์ และแยกตัวเองจากบุคคลใกล้ชิด

หลังกลับจากการเดินทาง

ขณะนี้ยังไม่มีคำแนะนำจากองค์การอนามัยโลกเรื่องการจำกัดการเดินทางในกรณีดังกล่าว ทั้งนี้ยังไม่มีคำแนะนำการคัดกรองผู้เดินทาง ณ บริเวณช่องทางเข้าออกประเทศ หากผู้เดินทางมีข้อสงสัยสามารถสอบถามและขอคำแนะนำได้จากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่าน

กรณีท่านมีอาการผิดปกติเข้าได้กับอาการแรกเริ่มของ STSS เช่น ไข้สูง หนาวสั่น ปวดเมื่อยตามตัว ให้รีบพบแพทย์และแจ้งประวัติการเดินทางให้แพทย์ทราบ

สังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากรู้สึกไม่สบาย หรือมีอาการเบื้องต้น ได้แก่ เจ็บคอ มีไข้ ให้รีบพบแพทย์ และแจ้งประวัติการเดินทางให้แพทย์ทราบ

ข้อมูลสำหรับแพทย์และเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข

          เนื่องด้วยอาการ STSS มีอาการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้น หน่วยงานบริการสาธารณสุขต้องเฝ้าระวังโรคในผู้เดินทาง หากพบผู้ป่วยเข้าได้กับลักษณะอาการของ STSS และมีประวัติการเดินทางมาจากพื้นที่ที่พบผู้ป่วย ควรรีบประเมินความเสี่ยงของผู้ป่วย เพื่อให้การรักษาอย่างรวดเร็วก่อนเกิดภาวะช็อก ลดความรุนแรง และการแพร่กระจายของโรคในประเทศไทย