จากกรณีมีการนำเสนอข่าวถึงข้อกังวลของเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเลในหลายพื้นที่ ในประเด็นอ้างว่ามีการนำเข้ากุ้งทะเลจากต่างประเทศส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพราคากุ้งทะเลภายในประเทศ ทำให้มีราคาตกต่ำนั้น

วันที่ 14 มิ.ย.67 นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง และประธานกรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ หรือ ชริมพ์บอร์ด (Shrimp Board) เปิดเผยถึงกรณีดังกล่าวว่า ปี 2567 (เดือนมกราคม - เดือนเมษายน) ประเทศไทยมีการนำเข้าสินค้าและผลิตภัณฑ์กุ้งทะเล (ไม่รวม ล็อบสเตอร์) 5,440.42 ตัน มูลค่า 788.49 ล้านบาท ซึ่งปริมาณและมูลค่าการนำเข้าฯ ลดลงร้อยละ 51.65 และ 66.46 ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา (เดือนมกราคม - เดือนเมษายน 2566) เมื่อจำแนกชนิดกุ้งพบว่าเป็น กุ้งขาวแวนนาไมเพียง 389.58 ตัน (ร้อยละ 7.16) กุ้งกุลาดำ 2.24 ตัน (ร้อยละ 0.04) และกุ้งอื่น ๆ 5,048.61 ตัน (ร้อยละ 92.80) ซึ่งรวมชนิดกุ้งที่จับจากธรรมชาติ โดยนำเข้ากุ้งทะเลจากอาร์เจนตินามากที่สุดถึงร้อยละ 46.08 ของมูลค่าการนำเข้ากุ้งทะเลทั้งหมดและเป็นกุ้งที่ไม่สามารถเพาะเลี้ยงได้ในประเทศไทย สำหรับการนำเข้ากุ้งทะเลจาก อินเดีย และเอกวาดอร์ ซึ่งเป็นสองประเทศที่เกษตรกรมีความห่วงกังวล พบว่า กุ้งจากอินเดียเป็นกุ้งอื่น ๆ รวม 268.79 ตัน และกุ้งจากเอกวาดอร์เป็นกุ้งขาวแวนนาไม รวม 352.34 ตัน (ที่มา: คณะทำงานบริหารจัดการข้อมูลด้านกุ้งทะเล ประมวลผลจากกรมศุลกากร, 7 มิถุนายน 2567) ทั้งนี้ ปริมาณการนำเข้ากุ้งขาวแวนนาไมจากต่างประเทศในปี 2567 (เดือนมกราคม - เดือนเมษายน) รวม 389.58 ตัน เปรียบเทียบกับปริมาณการผลิตกุ้งขาวแวนนาไมภายในประเทศไทยในช่วงเวลาเดียวกันซึ่งมีปริมาณรวม 63,172.44 ตัน คิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.62 ของผลผลิตกุ้งขาวแวนนาไมภายในประเทศเท่านั้น ซึ่งไม่สามารถกระทบต่อราคาจำหน่ายกุ้งภายในประเทศได้ (ที่มา: คณะทำงานบริหารจัดการข้อมูลด้านกุ้งทะเล, 7 มิถุนายน 2567)

นอกจากนี้ กรมประมงมีมาตรการควบคุมการนำเข้ากุ้งทะเลจากต่างประเทศ ก่อนการอนุญาตให้นำกุ้งทะเลเข้ามาในราชอาณาจักร ภายใต้พระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 โดยสินค้าจะต้องเข้าสู่ระบบการกักกันเพื่อให้เจ้าหน้าที่กรมประมงดำเนินการสุ่มตรวจเชื้อก่อโรคกุ้งทะเลที่สำคัญตามบัญชีรายชื่อขององค์การสุขภาพสัตว์โลก (World organization for Animal Health: WOAH) โดยเฉพาะโรคอุบัติใหม่ ได้แก่ โรคไอเอ็มเอ็น (IMN) โรคเอ็นเอชพี (NHP) และโรคดีไอวี วัน (DIV 1) รวมทั้งมีการสุ่มตรวจสารตกค้าง เช่น Chloramphenicol Nitrofurans และ Malachite green ภายใต้พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ตามหลักการสากลที่ WOAH และ CODEX กำหนดไว้ และหากมีการตรวจพบเชื้อก่อโรคและ/หรือตรวจพบสารตกค้างเกินเกณฑ์มาตรฐาน สินค้าเหล่านั้นจะถูกทำลายหรือตีกลับประเทศต้นทางทันที อย่างไรก็ตาม การประกาศงดการออกหนังสืออนุญาตนำเข้ากุ้งทะเลจากต่างประเทศ ต้องเป็นมาตรการที่ดำเนินการในกรณีฉุกเฉินซึ่งเป็นกุ้งที่ได้จากการทำการประมงและมีเหตุอันควรที่ใช้ชั่วคราวเท่านั้น เพราะประเทศไทยและประเทศผู้ผลิตกุ้งทะเลเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ต้องปฏิบัติตามความตกลงภายใต้ WTO โดยมาตรการที่ใช้ในการจำกัดการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหาร หรือมาตรการที่กำหนดขึ้นเพื่อใช้ควบคุมสินค้าเกษตรและอาหารต้องกำหนดระดับความปลอดภัยและการตรวจสอบมาตรฐานสินค้านำเข้าที่ไม่ก่อให้เกิดอุปสรรคทางการค้า หรือข้อกีดกันทางการค้าของประเทศสมาชิก ดังนั้น ทำให้ประเทศไทยและประเทศสมาชิกไม่สามารถกำหนดมาตรการการห้ามนำเข้าได้อย่างถาวร

อธิบดีกรมประมง ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันได้มีการยกระดับมาตรการควบคุมการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำ ภายใต้การดำเนินการของกรมประมง และขอความร่วมมือไปยังจังหวัดชายแดนเพื่อควบคุมการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำ ดังนี้

1. กรมประมงได้เพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบสินค้าประมง เพื่อป้องกันการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย ดังนี้

1.1 โดยตรวจสอบเอกสาร หมายเลขซีล และสินค้าประมงนำเข้าเบื้องต้นร้อยละ 100 จำนวน 4 ด่าน ได้แก่ ศูนย์บริหารจัดการด่านตรวจประมงเขต 3 (กรุงเทพมหานคร) ด่านตรวจประมงลาดกระบัง ด่านตรวจประมงชลบุรี และศูนย์บริหารจัดการด่านตรวจประมงเขต 8 (สงขลา) และทำการติดซีลตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อป้องกันการสับเปลี่ยนหรือเปลี่ยนถ่ายสินค้าระหว่างการขนส่ง และตรวจสอบสินค้าประมงนำเข้าทางตู้คอนเทนเนอร์ร้อยละ 100 ณ สถานที่จัดเก็บหรือสถานประกอบการหรือห้องเย็นปลายทางว่าเป็นไปตามที่ได้รับอนุญาตหรือไม่

1.2 ตรวจสอบการนำเข้า การขนถ่ายสัตว์น้ำขึ้นท่าของเรือประมงต่างประเทศให้เป็นไปตามที่ได้รับอนุญาต ณ ด่านตรวจประมงระนอง โดยตรวจสอบเรือประมงที่แจ้งเข้าเทียบท่าและเมื่ออนุญาตให้ขนถ่ายสัตว์น้ำขึ้นท่าเทียบเรือแล้ว เจ้าหน้าที่จะดำเนินการตรวจสอบการนำเข้า การขนถ่ายสัตว์น้ำขึ้นท่า ณ ท่าเทียบเรือที่จดทะเบียนเป็นท่าเทียบเรือประมงตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ทั้งชนิดและปริมาณสัตว์น้ำว่าเป็นไปตามที่ได้รับอนุญาตหรือไม่ เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมการนำเข้าสัตว์น้ำจากเมียนมาที่นำเข้าทางเรือตามมาตรการรัฐเจ้าของท่า (PSM)

2. กรมประมงได้ออกประกาศกรมประมง เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาตและการอนุญาตนำเข้าสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2567 ลงวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 โดยกำหนดเอกสารประกอบการนำเข้าที่ชัดเจนมากขึ้น ต้องมีบัญชีรายละเอียดภาชนะบรรจุ (Packing list) ให้เจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบสินค้าได้ถูกต้องมากขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์น้ำที่มาจากการทำการประมงโดยมิชอบด้วยกฎหมายเข้าสู่กระบวนการตลาดและกระบวนการผลิตของประเทศไทย และกำหนดให้ระบุสถานที่จัดเก็บสินค้า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบและควบคุมสินค้านำเข้า

3. กรมประมงได้จัดทำหนังสือถึงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์และจังหวัดกาญจนบุรี ขอความอนุเคราะห์ให้จังหวัดพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขการนำเข้า เพื่อควบคุมสินค้าสัตว์น้ำนำเข้าที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ และการค้าของประชาชนภายในประเทศ

4. กรมประมงได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการนำเข้าส่งออกสินค้าประมงผิดกฎหมาย เพื่อกำหนดแนวทางมาตรการในการแก้ไขปัญหาและป้องกันการนำเข้าส่งออกสินค้าประมงผิดกฎหมาย รวมถึงกำหนดแนวทางการดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการนำเข้าส่งออกสินค้าประมงผิดกฎหมาย มีการดำเนินคดีไปแล้ว จำนวน 330 คดี และกรมประมงแต่งตั้งคณะทำงานชุดเฉพาะกิจ ตรวจสอบ ควบคุม ป้องกัน การลักลอบนำเข้าสินค้าประมงผิดกฎหมายเข้าประเทศตามแนวชายแดน เพื่อประสานความร่วมมือการดำเนินการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการควบคุม กำกับ ตรวจสอบ ติดตาม จับกุมผู้กระทำผิดการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรด้านการประมงผิดกฎหมายให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

5. กรมประมงได้จัดเก็บข้อมูลสถิติการนำเข้าสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ผ่านระบบการขออนุญาตในระบบเชื่อมโยงคำขอกลาง และระบบสนับสนุนใบอนุญาตและใบรับรองผ่านอินเตอร์เน็ต กรมประมง (FSW) ซึ่งสามารถเรียกข้อมูลการนำเข้าในแต่ละชนิดสัตว์น้ำและมีเผยแพร่เป็นข้อมูลสถิติทางเว็บไซต์ แต่สำหรับอัตราภาษีอากรขาเข้าของสินค้าต้องกำกัดอยู่ในความรับผิดชอบของกรมศุลกากร

ทั้งนี้ กรมประมงขอยืนยันว่ายังไม่พบการลักลอบนำเข้ากุ้ง ซึ่งส่งผลกระทบทำให้ราคากุ้งภายในประเทศลดต่ำลงตามข้อห่วงกังวลของพี่น้องเกษตรกร โดยวัฏจักรราคากุ้งในประเทศไทยพบว่ามีช่วงที่ราคาตก 2 ช่วง ในรอบปี คือ ช่วงเดือนเมษายน - เดือนพฤษภาคม และเดือนกันยายน - เดือนตุลาคม ซึ่งเป็นไปตามภาวะราคากุ้งในตลาดโลก และกลไกตลาดตามหลักการอุปสงค์ - อุปทาน เมื่อตลาดโลกมีความต้องการสูงราคาจะเพิ่มขึ้น แต่เมื่อผลผลิตมีมากเกินความต้องการราคากุ้งก็จะต่ำลง และยังคงพบว่าราคาในปีนี้เริ่มลดลงในเดือนเมษายนเหมือนที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ราคากุ้งภายในประเทศยังมีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ โดยพบว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาจำหน่ายกุ้งแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน คือ รูปแบบและช่องทางการจำหน่ายผลผลิตกุ้งของเกษตรกร โดยภาคตะวันออกและภาคกลางมีช่องทางการจำหน่ายผลผลิตกุ้งทะเล 2 ช่องทางหลัก ได้แก่ ตลาดภายในประเทศ (ตลาดหลัก) และตลาดต่างประเทศ (จำหน่ายเข้าห้องเย็นและโรงงานแปรรูป) โดยตลาดภายในประเทศมีการกระจายสินค้าไปยังภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง ได้แก่ ลาว และกัมพูชา นอกจากนี้ ผลผลิตกุ้งที่มีคุณภาพยังนิยมจำหน่ายเป็นกุ้งมีชีวิตเพื่อส่งไปคัดขนาดก่อนกระจายไปยังตลาดภายในประเทศ และบางส่วนส่งเข้าโรงงานแปรรูป ทำให้กุ้งมีราคาค่อนข้างสูง แต่ภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไป ซึ่งมีช่องทางการจำหน่ายผลผลิตหลัก คือ การส่งออกกุ้งแช่เย็นไปยังประเทศมาเลเซีย โดยอาจผ่านผู้รวบรวม (แพ) หลายทอด ทำให้ราคารับซื้อกุ้งจากเกษตรกรค่อนข้างต่ำ ประกอบกับประเทศมาเลเซียมีการนำเข้ากุ้งทะเลจากเอกวาดอร์และอินเดียที่มีราคาต่ำจึงใช้เป็นราคาอ้างอิงในการรับซื้อกุ้งจากประเทศไทย

อธิบดีกรมประมง กล่าวทิ้งท้ายว่า จากปัญหาราคากุ้งตกต่ำที่กล่าวมาข้างต้น เกษตรกรยังประสบปัญหาต้นทุนการเลี้ยงที่สูงกว่าประเทศคู่แข่ง ทำให้เกษตรกรมีรายได้ลดลง รวมถึงผู้ส่งออกสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งที่ผ่านมากรมประมงได้ดำเนินการเพื่อลดต้นทุนการเลี้ยงให้เกษตรกรผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ดังนี้

1. การส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกทดแทนการใช้พลังงานไฟฟ้า โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar cell) ซึ่งกรมประมงได้แนะนำให้เกษตรกรเปลี่ยนมาใช้มอเตอร์ไฟฟ้ากระแสตรงแบบไม่มีแปรงถ่าน (Brushless D.C. Motor) ร่วมกับการใช้ Solar cell สำหรับการเติมอากาศในฟาร์มเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล ซึ่งสามารถช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการลงทุนติดตั้งอุปกรณ์ โดยเกษตรกรสามารถลดต้นทุนพลังงานได้ถึง 3,500 - 4,000 บาท/เดือน/ชุด และคืนทุนได้ภายในระยะเวลา 1 ปี ซึ่งผลการทดสอบในฟาร์มเกษตรกรจังหวัดสมุทรสาคร ต้นทุนด้านพลังงานไฟฟ้าเกษตรกรลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 เหลือเพียง 2.8 - 3.0 บาท/กุ้ง 1 กิโลกรัม

2. การส่งเสริมการใช้จุลินทรีย์ในการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล ซึ่งกรมประมงดำเนินการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์ ปม. 1 (แบบผง) และ ปม. 2 (แบบน้ำ) เพื่อแจกจ่ายให้กับเกษตรกร และส่งเสริมแนวทางการเลี้ยงกุ้งระบบปิดร่วมกับการใช้จุลินทรีย์โพรไบโอติกที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมสำหรับกุ้งทะเล ทดแทนการใช้ยาและสารเคมี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการเลี้ยง เพิ่มอัตรารอดของกุ้ง ลดการใช้ยาและเคมีภัณฑ์โดยไม่จำเป็น ช่วยให้ต้นทุนการผลิตกุ้งลดลง เกษตรกรสามารถจำหน่ายกุ้งมีกำไร และมีความยั่งยืนมากขึ้น

3. การส่งเสริมการใช้อาหารกุ้งที่มีระดับโปรตีนเหมาะสมกับการเลี้ยงกุ้งทะเล ซึ่งกรมประมงส่งเสริมให้เกษตรกรเลือกใช้อาหารที่มีโปรตีนในระดับที่เหมาะสมกับสายพันธุ์และระยะของกุ้งทะเล เพื่อลดต้นทุนค่าอาหาร รวมถึงค่าจัดการควบคุมคุณภาพน้ำให้เหมาะสม กรมประมง ชมรมผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดฉะเชิงเทราและบริษัทผู้ผลิตอาหารกุ้งทะเล ร่วมกันทดสอบการเลี้ยงกุ้งโดยใช้อาหารที่มีระดับโปรตีนร้อยละ 32 และ 35 ในฟาร์มเลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไมของเกษตรกร โดยกำหนดให้เพิ่มสัดส่วนวัตถุดิบกากถั่วเหลืองหมักที่หมักด้วยเชื้อ Bacillus subtilis ทดแทนกากถั่วเหลือง โดยผลการทดสอบ พบว่า หลังจากเปลี่ยนมาใช้อาหารโปรตีนร้อยละ 35 (ราคา 870 บาทต่อกระสอบ) ทดแทนอาหารโปรตีนร้อยละ 38 (ราคา 1,045 บาทต่อกระสอบ) สามารถลดต้นทุนค่าอาหารประมาณ 43,400 บาท/บ่อ และยังช่วยลดต้นทุนในการควบคุมคุณภาพน้ำให้เหมาะสม รวมถึงลดความเสี่ยงการเกิดโรค โดยเฉพาะอาการขี้ขาวที่เกิดจากปัญหาสารอินทรีย์สะสม โดยเกษตรกรมีผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 5,575 กิโลกรัมต่อบ่อ และมีค่าอัตราแลกเนื้อ (Feed conversion ratio: FCR) เท่ากับ 1.12

นอกจากนี้ กรมประมงยังพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาเพิ่มเติมดังนี้

1. ส่งเสริมให้เกษตรกรร่วมกับผู้ประกอบการวางแผนการผลิตกุ้งร่วมกันเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด

2. ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการจัดทำโครงการเชื่อมโยงการจำหน่ายผลผลิตกุ้งทะเลระหว่างเกษตรกรและธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าภายในประเทศ

3. จัดทำโครงการเพื่อลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรอย่างยั่งยืน เช่น การลดต้นทุนด้านอาหาร และการใช้พลังงานไฟฟ้า เป็นต้น