วันที่ 12 มิ.ย.2567  เมื่อเวลา 13.00 น. ที่รัฐสภา นายยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวถึงปรากฎการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ว่า ในเดือนมิ.ย. มีหลายเรื่องที่มาบรรจบกันพอดี ไม่ว่าจะคดีนายเศรษฐา ทวีสิน ที่ถูกร้องอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ คดีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ว่าจะเดินทางไปที่ศาลอาญาในวันที่ 18 มิ.ย. หรือไม่ รวมทั้งคดียุบพรรคก้าวไกล ซึ่งวันนี้พรรคส่งคำชี้แจงเรียบร้อยแล้ว โดยล่าสุดศาลรัฐธรรมนูญ นัดพิจารณาวันที่ 18 มิ.ย. ฉะนั้น ด้วยสถานการณ์ที่มาบรรจบกันจึงทำให้เดือนมิ.ย. เกิดกระแสข่าวจำนวนมาก เช่น อาจเกิดรัฐประหาร ผนวกกับการเลือกสว.ที่กำลังดำเนินการ ตนคิดว่าคงไม่ถึงขั้นรัฐประหาร แต่ปฏิเสธไม่ได้ภายใต้สถานการณ์สังคมบริบททางการเมืองแบบประเทศไทย ที่ประชาธิปไตยยังไม่ตั้งมั่น ดังนั้น กระบวนการเกิดรัฐประหารจึงมีความเสี่ยงเกิดขึ้นได้ตลอดอยู่แล้ว เพียงแต่จะมีพัฒนาการหรือรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไป จากที่เคยขนอาวุธ บุกยึดสถานที่สำคัญ ระยะหลังมีพัฒนาการรัฐประหารด้วยดอกไม้ และรัฐประหารในห้องประชุม เรียกว่ามีพัฒนาการไม่น้อยกว่าพัฒนาการประชาธิปไตย  

“ถามว่าสถานการณ์เหล่านี้มีโอกาสนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ก็ต้องบอกว่ายังมีโอกาส แต่ผมคิดว่าสุดท้ายการเปลี่ยนแปลงถึงขั้นล้มรัฐบาล ล้มพรรคก้าวไกล หรือล้มสว. คงไม่ถึงขนาดนั้น แม้ว่าตอนนี้จะมีทฤษฏี 3 ล้ม แต่ผมขอเสนอล้มที่ 4 คือขอให้คนที่คิดแบบนี้ยกเลิกความคิดนี้ เพื่อให้บ้านเมืองได้ไปต่อ เพราะถ้าล้มนายกฯ พรรคก้าวไกล หรือล้มสว. สุดท้ายผลที่เกิดขึ้นคือความขัดแย้งทางการเมือง” นายยุทธพร กล่าว

เมื่อถามว่ามองดุลอำนาจระหว่างพรรคเพื่อไทยกับทหารอย่างไร นายยุทธพร กล่าวว่า การรัฐประหารโดยใช้กำลังทหาร ณ วันนี้ บริบททางการเมืองและกระแสโลก เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก แต่รัฐประหารโดยใช้รูปแบบอื่นมีโอกาสเป็นไปได้ แต่หากเมื่อถามว่าความสัมพันธ์อันดีระหว่างพลเรือนกับกองทัพจะเป็นคำตอบว่าจะมีรัฐประหารหรือไม่ เราก็เคยเห็นหลายยุคสิ่งที่เรียกว่าลับ ลวง พราง เพราะฉะนั้นภายใต้สถานการณ์ที่ประชาธิปไตยยังไม่ตั้งมั่น มีโอกาสเป็นไปได้ที่จะเกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองนอกระบบ

เมื่อถามต่อว่าขณะนี้ยังไม่ทราบว่าพรรคก้าวไกลจะถูกยุบหรือไม่ แต่คนภายในพรรคเริ่มเคลื่อนไหว แสดงว่าพรรคก้าวไกลมีโอกาสถูกยุบพรรคใช่หรือไม่ นายยุทธพร กล่าวว่า มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกยุบในเชิงทั้งข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง ในเชิงกฎหมายต้องบอกว่าเรื่องของพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา92(1) และ(2) ซึ่งถือว่าโคลนนิ่งรัฐธรรมนูญ มาตรา49 เพราะฉะนั้นในคดีล้มล้างการปกครองซึ่งพรรคเคยถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยมาแล้ว ในแง่ข้อกฎหมายพิจารณาเป็นอย่างอื่นได้ยาก ส่วนในแง่ข้อเท็จจริงคดีนี้ มาตรา49 ศาลได้สืบข้อเท็จจริงต่างๆซึ่งปรากฎอยู่ในคำวินิจฉัยค่อนข้างละเอียด ฉะนั้น 9 ข้อต่อสู้ของพรรคก้าวไกลจึงเป็นสิ่งที่ต้องไปพิจารณาว่ามีน้ำหนักที่ศาลจะฟังขึ้นหรือไม่ เพราะ 9 ข้อส่วนใหญ่เป็นเรื่องข้อเท็จจริง

เมื่อถามต่อว่าหากเกิดอะไรขึ้นในช่วงนี้จะทำให้ขั้วการเมืองเปลี่ยนไปหรือไม่ นายยุทธพร กล่าวว่า การเปลี่ยนขั้วการเมืองต้องไปดูความสำคัญในคดีของนายเศรษฐาด้วย ถ้าต้องพ้นจากตำแหน่งนายกฯ จะทำให้ต้องเลือกนายกฯใหม่และจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ถ้าถึงตอนนั้นโอกาสที่จะสลับขั้ว ข้ามขั้ว และเกิดกรณียุบพรรคก้าวไกลในระยะเวลาที่ใกล้เคียงกัน ก็เป็นไปได้ที่จะเห็นเรื่องการย้ายพรรค ซึ่งอาจนำไปสู่พรรคใหม่และอาจไปจับขั้ว ฉะนั้น เดือนมิ.ย. 3 เรื่องนี้มีความสัมพันธ์กันหมด

เมื่อถามถึงกรณีนายทักษิณพาดพิงถึงคนในป่า ไม่ใช่สัญญาณจะเปลี่ยนขั้วการเมืองใช่หรือไม่ นายยุทธพร กล่าวว่า เป็นการโต้ตอบของนายทักษิณที่เกิดขึ้นกับกรณีที่ 40 สว. ร้องศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบนายเศรษฐา ถ้าพูดอย่างตรงไปตรงมา 40สว. เป็นสว.ที่เกิดจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่าที่มาที่ไปแต่ละสว.มาอย่างไร ดังนั้น เมื่อมีกระแสข่าวเรื่องนี้ทางนายทักษิณก็ต้องออกมาโต้ตอบหรือสื่อสารให้สังคมเห็นว่ามีอะไรอยู่เบื้องหลังหรือไม่ อย่างไร แต่พอไปถามว่าคนในป่าคือใคร ก็ไม่มีใครรู้ แม้แต่นายทักษิณเองยังไม่รู้ เป็นกระบวนการโต้ตอบและเปิดเกมเชิงรุก

“แต่ถามว่าจะถึงขั้นปรับบางพรรคออกจากรัฐบาลหรือไม่นั้น ตนคิดว่าถ้าปรับก็ไม่ใช่ทั้งพรรค เพราะพรรคดังกล่าวมีแกนนำบางคนใกล้ชิดสนิทสนมกับพรรคเพื่อไทยอยู่ และอาจดึงพรรคบางพรรคซึ่งอยู่ในฝ่ายค้านเข้ามาไม่ทั้งพรรคเช่นเดียวกัน เราจะได้เห็นปรากฎการณ์แปลกๆในการเมืองไทย คือร่วมรัฐบาลครึ่งพรรค และเป็นฝ่ายค้านครึ่งพรรค เรียกว่าเป็นรัฐบาลคนละครึ่ง ฝ่ายค้านคนละครึ่ง” นายยุทธพร กล่าว