นายกฯ นั่งหัวโต๊ะถกครม.เศรษฐกิจ นัดที่ 2  พิชัย แถลง งัด 3 มาตรการฟื้นเศรษฐกิจ ตั้งเป้าปีนี้จีดีพีโต 3% เพิ่มการท่องเที่ยวเป็น 36.7 ล้านคน จากเดิม 35 .7 ล้านคน เร่งงบฯลงทุนให้สูงกว่า 70% เพิ่มการลงทุน 3 - 4 หมื่นล้านบาท 
       
เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ วันนี้ ว่า เป็นการติดตามความคืบหน้า หลังได้สั่งการไปรอบที่แล้วว่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง และคาดว่าวันนี้จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมที่จะเสนอเข้ามาเพื่อพิจารณา ขอให้ผลรอภายหลังการประชุม ซึ่งจะมีการหารือทุกเรื่องรวมถึงติดตามเรื่องการลงทุนบริษัทต่างชาติว่าติดปัญหาอะไรหรือไม่
     
ผู้สื่อข่าวถามถึงความคืบหน้าโครงการ แจกเงิน 10,000 บาทผ่าน digital Wallet นายกฯ กล่าวว่า อยู่ในขั้นตอนการทำงาน หากมีอะไรเปลี่ยนแปลง ไทม์ไลน์หรือเหตุอะไรใหญ่ๆ หน่วยงานที่รับผิดชอบก็คงต้องมาคุยกัน ยืนยันว่ารายละเอียดทุกอย่างที่มีการชี้แจงไปยังเหมือนเดิม ขออย่าเพิ่งไปคิดอะไรไปก่อน ให้รอนายจุลพันธุ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ดีกว่า จะได้ไม่เกิดความสับสน
    
 ต่อมา นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.) เศรษฐกิจที่ ว่าในการประชุม ครม.เศรษฐกิจครั้งที่ 2 รัฐบาลได้มีการหารือและติดตามตัวเลขเศรษฐกิจซึ่งในไตรมาสที่ 1/2567 ที่ผ่านมาเห็นได้ว่าเศรษฐกิจโตต่ำกว่าศักยภาพและเติบโตต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคซึ่งการแก้ปัญหาเศรษฐกิจต้องมีทั้งมาตรการระยะสั้นและมาตรการระยะยาวซึ่งในส่วนระยะยาว อีก 3 ปีข้างหน้าก็มีการหารือว่าเศรษฐกิจของไทยต้องขยายตัวประมาณ 5% ต่อปีเราจึงจะสามารถไปรอดได้ แต่ว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้ก็ต้องมีการใช้มาตรการระยะสั้นเพื่อที่จะให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัวได้ประมาณ 3% จากเดิมที่ตัวเลขของสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจปี 2567 จะขยายตัวได้ประมาณ 2.4%
     
โดยมาตรการที่ออกมาในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระยะสั้นจะมี 3 มาตรการดังนี้ 1.มาตรการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวโดยดึงเอานักท่องเที่ยวเข้ามาสู่ประเทศไทยเพิ่มเติมอีก 1 ล้านคน จากเดิมที่ได้มีการตั้งเป้าว่านักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้าสู่ประเทศไทยในปีนี้อยู่ที่ 35.7 ล้านคน ตั้งเป้าเป็น 36.7 ล้านคน ซึ่งเมื่อมีนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวเพิ่มในจำนวนนี้จะช่วยเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ได้อีกประมาณ 0.12%
       
 2.การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ โดยเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐบาลที่มีอยู่ประมาณ 8.5 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณในการลงทุนในปี 2567 และคิดเป็นสัดส่วน 20% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งปัจจุบันงบประมาณในส่วนนี้เบิกจ่ายไปได้แล้วประมาณ 41% และปกติจะเบิกจ่ายได้ประมาณ 60% ของเป้าหมาย แต่ในปีงบประมาณนี้รัฐบาลตั้งเป้าหมายว่าให้มีการเบิกจ่ายงบลงทุนได้ไม่ต่ำกว่า 70% ซึ่งจะทำให้จีดีพีเพิ่มขึ้นได้อีก 0.24%และ 3.การเร่งรัดการลงทุนของภาคเอกชนผ่านคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ซึ่งมีการขอบีโอไอไปแล้วกว่า 8 แสนล้านบาท หากสามารถจะเร่งรัดให้มีการลงทุนจริงในปีนี้ ประมาณ 3  4 หมื่นล้านบาท ก็จะช่วยให้จีดีพีขยายตัวได้อีกประมาณ 0.14 - 0.15%
     
นายพิชัย กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจยังเห็นชอบให้มีการตั้งคณะกรรมการเซมิคอนดักเตอร์แห่งชาติ (เซมิคอนดักเตอร์บอร์ด) เพื่อพัฒนาแรงงานฝีมือของเราให้มีความสามารถและทักษะแรงงานในเรื่องนี้ให้มากขึ้น ซึ่งแม้ว่าเราจะเริ่มเรื่องนี้ช้ากว่าหลายประเทศ แต่เป็นสิ่งที่จำเป็นที่เราจะร่วมกับเอกชนในการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานในเรื่องนี้เพราะว่ากำลังมีการขยายการลงทุนและแรงงานกลุ่มนี้เป็นที่ต้องการมาก ซึ่งแนวทางจะมีการส่งแรงงานของไทยไปฝึกแรงงานเรื่องนี้ในไต้หวันซึ่งมีความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้ด้วย สำหรับเรื่องของการแก้ปัญหาของหนี้เสียและ NPL มีแนวคิดที่จะปรับให้ลูกหนี้ที่เป็น NPL เนื่องจากผลกระทบจากโควิด ซึ่งเป็นลูกหนี้ รหัส 21 ใช้เกณฑ์ติดเครดิตบูโรใหม่ จาก 5+ 3 เป็น 3+3 ซึ่งจะทำให้ลูกหนี้กลุ่มนี้หลุดจากบัญชีเครดิตบูโรได้ภายใน 1 -2 ปีนี้
    
 นอกจากนี้ในเรื่องของสภาพคล่องของผู้ประกอบการได้เตรียมจะเสนอมาตรการค้ำประกันสินเชื่อ (PGS) 11 วงเงิน 5 หมื่นล้านบาทเพื่อเสนอ ครม.พรุ่งนี้เพื่อค้ำประกันให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ขณะเดียวกันภาครัฐเตรียมจะออกมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำพิเศษ (ซอฟต์โลน) โดยให้ธนาคารออมสินร่วมกับสถาบันการเงินพาณิชย์ปล่อยซอฟต์โลนวงเงิน 1 แสนล้านบาท เพื่อปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการรายกลางและรายเล็ก โดยมีเงื่อนไขให้เป็นรายใหม่ที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อก่อนหน้านี้ โดยธนาคารออมสินพร้อมที่จะรับไปดำเนินการแม้จะกระทบผลกำไรเฉลี่ยปีละ 1 พันล้านบาท แต่ว่าสามารถช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวม