“นิด้าโพล”เปิดเผยผลสำรวจประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่พอใจการทำงานในช่วง 9 เดือน ของรัฐบาล”เศรษฐา” ระบุการบริหารจัดการล่าช้า งานไม่คืบ ด้าน “ซูเปอร์โพล”ชี้คนไทยให้รัฐบาลเน้นทำเรื่องความมั่นคงมากกว่าแจกเงินดิจิทัล

เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.67 ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชน เรื่อง “ขอถามบ้าง … 9 เดือน รัฐบาลนายกฯ เศรษฐา” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 4-5 มิ.ย.67 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการทำงานของรัฐบาลนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ในรอบ 9 เดือน 

จากการสำรวจเมื่อถามถึงความพึงพอใจของประชาชนต่อการทำงานของรัฐบาลนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ในรอบ 9 เดือน พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 34.35 ระบุว่า ไม่ค่อยพอใจ เพราะ การบริหารจัดการในเรื่องต่าง ๆ มีความล่าช้า และยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างไปจากเดิม รองลงมา ร้อยละ 31.69 ระบุว่า ไม่พอใจเลย เพราะ ไม่มีความก้าวหน้าในการทำงานและไม่สามารถทำตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ ร้อยละ 25.19 ระบุว่า ค่อนข้างพอใจ เพราะ มีความพยายามผลักดันนโยบายต่าง ๆ ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น และเห็นผลงานที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหา ร้อยละ 7.40 ระบุว่า พอใจมาก เพราะ มีความตั้งใจในการทำงาน ช่วยเหลือประชาชน ทำให้ความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น และร้อยละ 1.37 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ด้านความเชื่อมั่นของประชาชนต่อรัฐบาลนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ในการแก้ไขปัญหาของประเทศ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 35.95 ระบุว่า ไม่เชื่อมั่นเลย เพราะ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เกิดขึ้น ผลงานยังไม่ชัดเจน แก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ รองลงมา ร้อยละ 35.04 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อมั่น เพราะ การทำงานไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ แก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด ร้อยละ 22.14 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อมั่น เพราะ มีประสบการณ์ในการทำงาน มีทักษะด้านการบริหาร สามารถทำให้ประเทศพัฒนาขึ้นได้ ร้อยละ 5.42 ระบุว่า เชื่อมั่นมาก เพราะ รัฐบาลมีความตั้งใจในการแก้ไขปัญหา มีการบริหารที่ดีสามารถแก้ไขปัญหาของประเทศได้ และร้อยละ 1.45 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นกับรัฐบาลนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ภายในระยะเวลา 2 เดือน พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 43.44 ระบุว่า นายกฯ เศรษฐา ยังคงอยู่ในตำแหน่งเหมือนเดิม รองลงมา ร้อยละ 15.65 ระบุว่า พรรคร่วมรัฐบาลยังคงเหมือนเดิม ร้อยละ 15.50 ระบุว่า จะมีการปรับคณะรัฐมนตรี ร้อยละ 10.92 ระบุว่า จะมีการยุบสภาเพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ ร้อยละ 10.46 ระบุว่า จะมีการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี แต่ยังคงมาจากพรรคเพื่อไทย ร้อยละ 6.56 ระบุว่า จะมีการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี โดยนายกฯ คนใหม่จะมาจากพรรคฝ่ายค้าน ร้อยละ 6.11 ระบุว่า จะมีการสลับขั้วทางการเมือง เปลี่ยนรัฐบาล ร้อยละ 4.58 ระบุว่า จะมีการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี โดยนายกฯ คนใหม่จะมาจากพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบัน ร้อยละ 3.21 ระบุว่า สส. ฝ่ายรัฐบาลจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.05 ระบุว่า จำนวนพรรคร่วมรัฐบาลจะลดลง ร้อยละ 2.60 ระบุว่า จำนวนพรรคร่วมรัฐบาลจะเพิ่มขึ้น และ สส. ฝ่ายรัฐบาลจะมีจำนวนลดลง ในสัดส่วนที่เท่ากัน และร้อยละ 12.67 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ด้าน  สำนักวิจัยซูเปอร์โพล เสนอผลสำรวจเรื่อง ความมั่นคง การเมือง เงินดิจิทัล กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) รวมจำนวนตัวอย่างในการวิเคราะห์ทางสถิติทั้งสิ้น จำนวน 1,095 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 5–8 มิ.ย.67 

เมื่อถามถึงการสนับสนุนของประชาชนต่อรัฐบาลให้ทำ ระหว่าง ความมั่นคงของชาติ กับ แจกเงินดิจิทัล พบว่าเสียงของประชาชนแตกออกเป็น 3 กลุ่มในสัดส่วนพอ ๆ กันคือ ร้อยละ 35.7 สนับสนุนรัฐบาลให้ทำเรื่องความมั่นคงของชาติ มากกว่า ในขณะที่ ร้อยละ 31.3 สนับสนุนรัฐบาลให้แจกเงินดิจิทัล มากกว่า และร้อยละ 33.0 ไม่มีความเห็น

เมื่อถามถึงกระแสความคิดเห็นของประชาชนต่อประเด็นสำคัญทางการเมืองและความมั่นคง พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 93.6 รู้สึกหมดหวังกับองค์กรอิสระของประเทศไทย รองลงมาคือส่วนใหญ่หรือร้อยละ 87.1 ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง การบริหารราชการ การแก้ไขปัญหาเดือดร้อนของประชาชน และร้อยละ 83.4 ระบุ ปัญหาการเลือกตั้ง สว. จะบานปลาย ในขณะที่ร้อยละ 54.9 ระบุ ประเทศมหาอำนาจต่างชาติพยายามชี้นำฝ่ายการเมืองไทย เอื้อประโยชน์ต่างชาติ และร้อยละ 48.4 ระบุ ประเทศใกล้เคียง ประเทศไทย เช่น กัมพูชา สิงคโปร์ เวียดนาม กำลังพัฒนาขีดความสามารถทางทหาร เติบโตแข็งแกร่งยิ่งขึ้น

ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อถามความคิดเห็นของประชาชนต่อ 40 สว.ยื่นศาลรัฐธรรมนูญจัดการกับ นายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 61.2 ไม่เห็นด้วย ในขณะที่ร้อยละ 38.8 เห็นด้วย

รายงานของซูเปอร์โพล ระบุว่า ผลโพลครั้งนี้ ชี้ให้เห็นว่าการเมืองไทยไม่นิ่งส่งผลกระทบต่ออารมณ์ความรู้สึกและความหวังของประชาชนต่อองค์กรอิสระ ปัญหาการเลือกตั้ง สว. และไม่เห็นด้วยกับ 40 สว.ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญจัดการกับนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ เสียงของประชาชนยังแตกออกเป็น 3 ส่วนเมื่อถามถึงการสนับสนุนรัฐบาลให้ทำเรื่องความมั่นคงของชาติมีสัดส่วนมากพอ ๆ กับการแจกเงินดิจิทัลและกลุ่มที่ไม่มีความเห็น ในขณะที่ ประชาชนเกินครึ่งมองไปยังประเทศมหาอำนาจที่พยายามชี้นำนโยบายของฝ่ายการเมืองเอื้อประโยชน์ต่อต่างชาติ และยังมองไปยังประเทศใกล้เคียง เช่น กัมพูชา เวียดนาม และสิงคโปร์ ที่มีความเจริญเติบโตและการพัฒนาขีดความสามารถทางทหาร

รายงานของซูเปอร์โพล ระบุอีกว่า ในขณะที่การเมืองไทยไม่นิ่ง โดยเห็นได้จากตัวชี้วัดการเมืองที่ก่อตัวเป็นคลื่นทั้งใต้น้ำและบนน้ำ เช่น กรณีพรรคก้าวไกล กรณี 40 สว.ยื่นศาลรัฐธรรมนูญจัดการนายกรัฐมนตรี กรณีปัญหาการเลือกตั้ง สว. แบบฉบับพิเศษ กรณี การนิรโทษกรรม ม.112 และอาการแกว่งตัวของการเมืองที่ถูกรุมเร้าด้วยความเดือดร้อนของประชาชนในเรื่องค่าครองชีพสูง ปัญหาพลังงาน ปัญหาหนี้สินทั้งในระบบและนอกระบบ ปัญหายาเสพติดและอาชญากรรม เป็นต้น

โดยจากผลโพลนี้สะท้อนให้เห็นตัวเลขทางสถิติว่า คนไทยยังไม่ใช่ส่วนใหญ่ที่จะตระหนักถึงความมั่นคงของชาติ โดยขณะนี้ประเทศมหาอำนาจสองประเทศทั้งประเทศจีนที่มีฐานทัพเรือที่กัมพูชาและสหรัฐอเมริกา รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ มาฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางทหารกับประเทศกัมพูชา ทั้งสองประเทศมหาอำนาจนี้ต่างกำลังเร่งเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีกับประเทศกัมพูชาโดยเฉพาะขีดความสามารถทางทหารของกัมพูชาโดยที่คนไทยทุกคนคงทราบดีว่าประเทศไทยกับประเทศกัมพูชายังคงมีความขัดแย้งเรื่องเขตแดนดินแดนและผลประโยชน์ชาติของแต่ละประเทศที่อาจกลายเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ที่ประเทศไทยอาจจะสูญเสียผลประโยชน์ชาติมหาศาล ดังนั้นการเมืองไทยต้องนิ่ง นักการเมืองบางกลุ่มต้องไม่มุ่งแต่จะถอนทุนคืนและต้องหันมาใส่ใจเรื่องความมั่นคงของชาติและช่วยกันออกแบบยุทธศาสตร์ที่ดีระหว่างประเทศไทย ประเทศจีน สหรัฐอเมริกาและกัมพูชา ทั้งยุทธศาสตร์เชิงรุกทางการทูต การทหารการพลเรือนและความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์เพื่อรักษาดุลยภาพและผลประโยชน์ชาติทั้งสองให้ลงตัวทั้งในระยะสั้นและระยะยาว