"มท." ขับเคลื่อน ”โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบอารยเกษตร ตามแนวพระราชดำริ จ.สุรินทร์  ด้วยหัวใจที่มุ่งมั่นทำให้ "ประชาชนมีความสุข หมู่บ้าน ชุมชน ตำบล ประเทศชาติของเรามีความมั่นคง" อย่างยั่งยืน

                 
วันที่ 9 มิ.ย.2567 เวลา 11.30 น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน เปิดกิจกรรม Kick off โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบอารยเกษตร ตามแนวพระราชดำริ บริเวณบ้านตะเคียน หมู่ที่ 14 ตำบลสวาย อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567  โดยมี นายประภาส ศรีจันทร์เวียง นายวสันต์ ชิงชนะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ นายศิริพันธ์ ศรีกงพลี รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นางวาสินี แสนทอง นางแสงดาว ศรีจันทร์เวียง นางอรุณรัตน์ ชิงชนะ รองนายกเหล่ากาชาดจังหวัดสุรินทร์และรองประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดสุรินทร์ นายดุษฎี เจริญลาภ ผู้ตรวจราชการกรมโยธาธิการและผังเมือง นายคมกริช ชินชนะ ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน นายกิตติ สัตย์ซื่อ ปลัดจังหวัดสุรินทร์ นางสาวสุปราณี มหาพัฒนไทย หัวหน้าสำนักงานจังหวัดสุรินทร์ นายกิติชัย เกตุวงษา ท้องถิ่นจังหวัดสุรินทร์ นายธนโชติ เกษตรสิงห์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสุรินทร์ นายโสภณ ยอดพรหม ผู้อำนวยการศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ สุรินทร์ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่ โดยได้รับเมตตาจาก พระครูสิริจันทประสุต รองเจ้าคณะอำเภอเมืองสุรินทร์ พระครูสุวัฒนธรรมวงศ์ พระเถรานุเถระ ร่วมให้การต้อนรับ โดย นายคำพูน ไชยโยธา ปลัดอำเภอประจำตำบลสวาย นายวิโรจน์ กองสนั่น นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสวาย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน พี่น้องประชาชน คณะครู และนักเรียนโรงเรียนบ้านโคกเมือง รวมกว่า 300 คน ร่วมให้การต้อนรับ

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงอรรถาธิบายคำว่า "อารยเกษตร" คือ การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่มาประยุกต์สู่อารยเกษตร หรือที่เราเรียกชื่อเล่นแต่เดิมว่า โคก หนอง นา อันเป็นการเรียกตามการปรับปรุงพื้นที่ให้มีหนอง ขุดสระ ขุดหนอง ขุดคลองไส้ไก่ นำดินมาทำเป็นโคก เป็นที่ดอน เป็นที่ลุ่มสำหรับปลูกพืช 5 ระดับ สูง กลาง ต่ำ เตี้ย เรี่ยดิน ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ป่า 3 อย่าง ประกอบด้วย 1 ไม้กินได้ 2 ไม้ทำที่อยู่อาศัย 3 ไม้ใช้สอย เกิดประโยชน์อย่างที่ 4 คือ ทำให้ร่มเย็น เป็นสุข รวมทั้งปฏิบัติตามทฤษฎีบันได 9 ขั้น คือ ขั้นที่ 1-4 พอกิน พออยู่ พอใช้ พอร่มเย็น ขั้นที่ 5 คือทำบุญ ขั้นที่ 6 คือทำทาน ซึ่งสามารถทำได้ด้วยวิธีต่าง ๆ รวมถึงการทำทานด้วยกล้าไม้ ขั้นที่ 7-9 การรู้จักเก็บรักษา การรวมกลุ่มเครือข่ายเพื่อค้าขายผลผลิต ทั้งนี้ คำว่า "อารยะ" แปลว่า สวยงาม  "เกษตร" แปลว่า แผ่นดิน "อารยเกษตร" จึงหมายความว่า แผ่นดินที่สวยงาม อุดมสมบูรณ์  การที่จะทำให้แผ่นดินอุดมสมบูรณ์ได้ เราต้องน้อมนำสิ่งที่พระองค์ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด ด้วยการนำมาทำให้ดีกว่าเก่าโดยไม่ทิ้งรากฐานหรือทฤษฎีที่เป็นฐาน โคกหนองนาบวกกับวัฒนธรรม ขนบ ธรรมเนียม ประเพณี วิถีชีวิต ความเป็นไทย ดังพระราชดำรัส  "อารยเกษตร" ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2564 ความตอนหนึ่งว่า "โคก หนอง นา นอกจากเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ทางด้านเกษตรกรรม แล้วยังเป็นศิลปะ เป็นแบบฝึกหัดที่ดี ในการที่จะรวมเกษตรที่หลากหลายให้มาอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ในเวลาเดียวกัน รักษาความหลากหลาย แต่ความหลากหลายนั้นก็เกื้อกูลซึ่งกันและกัน โคกหนองนา ความหมายดีอยู่แล้ว ก็คือเกษตรเพื่อความอุดมสมบูรณ์ เพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชน และชีวิตของพวกเรา เพราะว่าประเทศของเรานี้ไม่หนีเรื่องการเกษตรคือปากท้อง และเป็นชีวิตของเราตามพระบรมราโชบายของรัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานมา ได้รับพระมหากรุณาธิคุณมามากมายในเรื่องของเกษตร ในเรื่องของการพัฒนา อันนี้ก็เป็นการรวม หรือแสดงตัวอย่าง และเป็นตัวอย่างที่ใช้งานได้จริงๆ นำไปใช้ได้ ไม่ใช่เป็นโมเดลที่แสดงไว้ในตู้ อยู่คงที่ แต่เป็นโมเดลที่ใช้งานได้จริง ๆ นำไปใช้ได้อย่างอ่อนตัว อย่างใช้งานได้จริง ๆ แล้วก็หลากหลายได้...ดังนั้นโคก หนอง นา จึงเป็นการเสริมพื้นที่นี้ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น พวกเราทุกคน ก็ถือว่า สืบสาน ต่อยอด คือ ความต่อเนื่อง และการรู้ความเป็นมา การพัฒนา สืบสาน ต่อยอดให้ดียิ่งขึ้น แล้วก็ต้องรักษาประเพณี รักษาที่มาที่ไปของประเทศไทยไว้..." ซึ่งพระองค์ได้พระราชทานเป็นครั้งแรกให้กับกรมราชทัณฑ์ ในชื่อ โครงการโคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง เพื่อส่งเสริมให้ผู้ต้องขังได้รับการเสริมสร้างทักษะการดำรงชีวิต ทักษะการประกอบอาชีพ และเมื่อพ้นโทษก็จะสามารถมีทักษะในการใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ของตนเอง ทำให้ที่ดินเกิดสิ่งที่เรียกว่าคุณค่า อันจะส่งผลให้ชีวิตของพวกเขามีคุณค่า และไม่กลับไปกระทำผิดอีก ชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเราทุกคน ก็จะมีความสุขไปด้วย


"โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบอารยเกษตร ตามแนวพระราชดำริ แห่งนี้ กระทรวงมหาดไทย โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะมอบเป็นของขวัญให้กับพี่น้องประชาชน วันนี้ชื่นใจว่า เราจะได้ทำเป็นศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืช ทำเป็นสวนสมุนไพร และมีการปลูกผักสวนครัวสร้างความมั่นคงด้านอาหาร เราจะมีปลูกหม่อน ที่กักเก็บน้ำ เพื่อทำให้พี่น้องประชาชน สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในที่ดินของตนเอง ทำให้มีที่อยู่อาศัย มีที่ทำมาหากินที่สวยงาม เพิ่มพูนจากการมีความมั่นคงด้านอาหารการครองชีพ เป็นเหมือนรีสอร์ทที่ทำให้จิตใจเบิกบาน ซึ่งความสำเร็จที่เกิดขึ้นนี้ มีวัตถุประสงค์เดียวกันคือ "การปฏิบัติบูชา" ด้วยการทำความดี ทำให้เกิดสิ่งที่ดี เพื่อประโยชน์สุขเกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคน ด้วยการสนองแนวพระราชดำริที่พระองค์ทรงปรารถนาที่จะให้พวกเราทุกคนช่วยกันแก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มุ่งมั่นทำให้ "ประชาชนมีความสุข หมู่บ้าน ชุมชน ตำบล ประเทศชาติของเรามีความมั่นคง" อย่างยั่งยืน

นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า ตามที่กระทรวงมหาดไทย มอบหมายให้กรมโยธาธิการและผังเมืองร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบอารยเกษตร ตามแนวพระราชดำริ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน ในพื้นที่นำร่อง 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพะเยา จังหวัดนครนายก จังหวัดจันทบุรี จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดสตูล และจังหวัดอุบลราชธานี และมีการขยายผลไปยังทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา วันที่ 28 กรกฎาคม 2567 พร้อมช่วยบรรเทาและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน เกิดการพัฒนาแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน และยังเป็นพื้นที่ การเรียนรู้ในการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ประยุกต์แบบอารยเกษตรมาดำเนินการ


โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบอารายเกษตรตามแนวพระราชดำริ บริเวณบ้านตะเคียน หมู่ที่ 14 ตำบลสวาย อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ มีพื้นที่วางผัง  446 ไร่ เมื่อดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบฯ ตามที่ออกแบบวางผังไว้แล้วเสร็จ จะช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง สร้างแหล่งกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ในชุมชนและพื้นที่เกษตรกรรมเพิ่มขึ้นประมาณ 360,000 ลูกบาศก์เมตร (เดิมกักเก็บได้ 1,024,000 ลูกบาศก์เมตร) บำบัดน้ำเสีย 6.50 ลูกบาศก์เมตร พร้อมทั้งสร้างงานยกระดับคุณภาพชีวิตคนในพื้นที่ มีการปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ทั้งยังเป็นพื้นที่เรียนรู้ต้นแบบการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ศูนย์ฝึกคนตามศาสตร์พระราชา มีการนำภูมิปัญญามาใช้พัฒนาพื้นที่ อนุรักษ์พันธุกรรมพืช สัตว์   โดยครัวเรือนได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้น 274 ครัวเรือน พื้นที่เกษตรกรรมได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้น 100 ไร่ พื้นที่ป่า เพิ่มขึ้น 90 ไร่


นายธนโชติ เกษตรสิงห์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสุรินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จังหวัดสุรินทร์  ได้ดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบอารายเกษตรตามแนวพระราชดำริ ใน 3 พื้นที่ ดังนี้ 1. บริเวณบ้านตะเคียน หมู่ที่ 14 ตำบลสวาย อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ 2. บริเวณโครงการส่งเสริมศิลปาชีพบัวเชด บ้านตาปิม หมู่ที่ 5 ตำบลบัวเชด และบ้านจารย์ หมู่ที่ 5 ตำบลอาโพน อำเภอบัวเชด จังหวัดสุรินทร์ 3. บริเวณบ้านดู่นาหนองไผ่ หมู่ที่ 1 และบ้านไทรงาม หมู่ที่ 14 ตำบลนาหนองไผ่ อำเภอชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์ ทั้ง 3 พื้นที่ดำเนินการโดยความร่วมมือและบูรณาการของทุกภาคส่วน ทั้งองค์กรภาครัฐ องค์กรภาคเอกชน พร้อมด้วยจิตอาสาและภาคีเครือข่าย ร่วมด้วยช่วยกันพัฒนาจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีรากฐานการดำรงชีวิต และพัฒนาสู่อนาคตได้อย่างมั่นคง