วันที่ 5 มิ.ย.2567 นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 กรมโยธาธิการและผังเมือง ร่วมขับเคลื่อนโครงการ “72 พรรษา 7,300 โครงการ พัฒนาตามผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567” โดยมีเป้าหมายการ “พัฒนาโครงการ/กิจกรรมพัฒนาตามผังภูมิสังคมฯ” อย่างน้อย 7,300 โครงการ ภายในปี 2567 ตามที่ ผังภูมิสังคม เป็นผังที่แสดงข้อมูลที่สะท้อนปัญหาด้านต่าง ๆ และความต้องการของประชาชนผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและลดความเสี่ยงจากอุทกภัย ด้วยการน้อมนำศาสตร์พระราชามาเป็นกรอบแนวคิดในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยใช้ข้อมูลสภาพความเป็นจริงของพื้นที่ในเชิงกายภาพและในเชิงสังคมวิทยา มาปรับใช้ในการขับเคลื่อนการจัดทำผังภูมิสังคมฯ ทั่วประเทศ 76 จังหวัด การพัฒนาโดยยึดหลักภูมิสังคมนี้ คือ “หลักสำคัญยิ่งของการพัฒนาอย่างยั่งยืน” เป็นกระบวนการที่หน่วยงานภาครัฐเข้าไปแนะนำ อธิบายให้คนในพื้นที่เข้าใจสภาพความเป็นจริงในพื้นที่ ให้คนในพื้นที่ช่วยกันคิดว่าต้องการอะไรจริงๆ และเขียนบันทึกลงในผังภูมิสังคม เพื่อให้แต่ละหน่วยงานนำข้อมูลไปใช้ในการกำหนดโครงการและกิจกรรม เกิดการพัฒนาเพื่อบรรเทาและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งให้กับประชาชน รวมถึงก่อเกิดการพัฒนาเครือข่ายการทำงานแบบบูรณาการของผู้แทนหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย หน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับผู้นำชุมชน ประชาชน และภาคีเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนา และเกิดการรักษาให้ยั่งยืน เนื่องจากเป็นโครงการและกิจกรรมที่ตนมีส่วนร่วม และได้ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม
นายพงศ์รัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลจากการดำเนินงานโครงการ 72 พรรษา 7,300 โครงการ พัฒนาตามผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 (ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม 2567) ปัจจุบันดำเนินโครงการแล้วเสร็จตามเป้าหมาย รวมจำนวนโครงการทั้งสิ้น 7,856 โครงการ กระจายอยู่ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยโครงการดังกล่าวเป็นโครงการ/กิจกรรมมีความหลากหลายทั้งประเภทโครงการและขนาดโครงการ ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิประเทศทางกายภาพและทางสังคมของแต่ละพื้นที่ รวมถึงปัญหาและข้อเสนอแนะของประชาชนในแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้ วิธีการดำเนินโครงการมีทั้งที่ไม่ใช้งบประมาณของภาครัฐ โดยอาศัยความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายและกิจกรรมเพื่อสังคม (Corporate Social Responsibility, CSR) ของภาคเอกชน และการดำเนินโครงการที่ใช้งบประมาณภาครัฐอย่างประหยัดเฉพาะเท่าที่จำเป็น เช่น เป็นค่าน้ำมันเชื้อเพลิง โดยประสานของบประมาณเหลือจ่ายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และขอสนับสนุนอุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือ ทั้งภาครัฐและเอกชน มาร่วมดำเนินการกับประชาชนในพื้นที่ ตามศักยภาพของแต่ละพื้นที่ อันนำมาซึ่งผลประโยชน์ที่ได้รับในแต่ละพื้นที่จากผลสำเร็จของการดำเนินโครงการพัฒนาตามผังภูมิสังคมฯ ในภาพรวม (ข้อมูล ณ วันที่ 4 มิถุนายน 2567) กล่าวคือ สามารถกักเก็บน้ำได้เพิ่มขึ้นประมาณ 6,280,000 ลูกบาศก์เมตร พื้นที่ป่าไม้เพิ่มขึ้นประมาณ 2,800 ไร่ พื้นที่น้ำท่วมลดลงประมาณ 80,000 ไร่ พื้นที่เกษตรที่ได้รับผลประโยชน์เพิ่มขึ้นประมาณ 117,000 ไร่ จำนวนครัวเรือนที่ได้รับผลประโยชน์เพิ่มขึ้นประมาณ 350,000 ครัวเรือน
“การที่โครงการดำเนินการเป็นไปตามเป้าหมายแล้ว อย่างไรก็ตามก็ยังคงดำเนินการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาตามผังภูมิสังคมฯ อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งผลักดันให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องบรรจุโครงการพัฒนาตามผังภูมิสังคมฯ ในแผนปฏิบัติงานตามภารกิจของหน่วยงาน และดำเนินการจัดทำคำของบประมาณ เพื่อนำไปสู่การดำเนินการโครงการพัฒนาตามผังภูมิสังคมฯ ในแต่ละพื้นที่ ให้เห็นผลได้อย่างเป็นรูปธรรม ก่อเกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนต่อไป”นายพงศ์รัตน์ กล่าว