เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.67 “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง “ดัชนีการเมืองไทย ประจำเดือนพฤษภาคม 2567” กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 2,352 คน (สำรวจทางออนไลน์และภาคสนาม) ระหว่างวันที่ 23-31 พฤษภาคม 2567 โดยมีตัวชี้วัด 25 ประเด็นที่บ่งบอกถึงความเชื่อมั่นต่อการเมืองไทยในด้านต่าง ๆ ซึ่งแต่ละตัวชี้วัดจะมีคะแนนเต็ม 10 คะแนน สรุปผลเรียงลำดับจากค่าคะแนนสูงสุดไปถึงต่ำสุด ได้ดังนี้

1. “ดัชนีการเมืองไทย” เดือนพฤษภาคม 2567 ภาพรวมคะแนนเต็ม 10 ได้ 4.72 คะแนน (เดือนเมษายน 2567 ได้ 4.63 คะแนน)

2. ประชาชนให้คะแนน 25 ตัวชี้วัด “ดัชนีการเมืองไทย” โดยคะแนนเต็ม 10 เรียงลำดับจากมากไปหาน้อย ได้ดังนี้

* สรุปผลการสำรวจ : “ดัชนีการเมืองไทย” เดือนพฤษภาคม 2567

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง “ดัชนีการเมืองไทย ประจำเดือนพฤษภาคม 2567” กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 2,352 คน (สำรวจทางออนไลน์และภาคสนาม) ระหว่างวันที่ 23-31 พฤษภาคม 2567 พบว่า กลุ่มตัวอย่างให้คะแนนภาพรวมดัชนีการเมืองไทยประจำเดือนพฤษภาคม 2567 เฉลี่ย 4.72 คะแนน เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2567 ที่ได้ 4.63 คะแนน

ตัวชี้วัดที่ได้คะแนนสูงสุด คือ ผลงานของฝ่ายค้าน เฉลี่ย 5.20 คะแนน (เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน) ตัวชี้วัดที่ได้คะแนนต่ำสุด คือ การแก้ปัญหาความยากจน เฉลี่ย 4.32 คะแนน (เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน) นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลที่มีบทบาท โดดเด่นประจำเดือน คือ เศรษฐา ทวีสิน ร้อยละ 45.56 ด้านนักการเมืองฝ่ายค้านที่มีบทบาทโดดเด่นประจำเดือน คือ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ร้อยละ 56.77 ผลงานฝ่ายรัฐบาลที่ชื่นชอบประจำเดือน คือ ตรึงราคาดีเซล ก๊าซหุงต้ม ลดค่าไฟ ร้อยละ 47.61 ผลงานฝ่ายค้านที่ชื่นชอบ คือ ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ร้อยละ 52.05

นางสาวพรพรรณ บัวทอง นักวิจัยสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ระบุว่า จากผลสำรวจสะท้อนว่าประชาชนมองการทำงานของรัฐบาลและฝ่ายค้านที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะฝ่ายค้านที่มีการทำงานเชิงติดตามตรวจสอบอย่างเข้มข้นตั้งแต่การประมูลข้าว 10 ปี ดิจิทัลวอลเล็ต และงานต่าง ๆ ของรัฐบาล ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ได้รับคะแนนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากการตรึงราคาดีเซลและก๊าซหุงต้ม การลดค่าไฟ กระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว และการเพิ่มสิทธิผู้ประกันตน รักษามะเร็ง ก็ถือว่าเป็นผลงานของรัฐบาลที่มองเห็น จับต้องได้ และประชาชนได้ประโยชน์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์อัญชลี รัตนะ อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐศาสตร์ โรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวว่า จากผลการสำรวจแม้คะแนนภาพรวมจะดีขึ้น แต่หากดูในรายละเอียดแต่ละประเด็น กล่าวได้ว่า ตลอดระยะเวลา 8 เดือนของรัฐบาลภายใต้การนำของนายกฯเศรษฐา ทวีสิน จากพรรคเพื่อไทย ยังไม่สามารถตอบสนองความคาดหวังของประชาชนได้มากพอ โดยเฉพาะการกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งเป็นนโยบายเร่งด่วนที่ประกาศไว้ตั้งแต่กันยายน 2566 หรือนโยบายที่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาความยากจนและปัญหาหนี้สิน ผนวกกับช่วงต้นเดือนมีเหตุการณ์การเสียชีวิตของ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองระหว่างอดอาหารในเรือนจำ โดยมีข้อเรียกร้องสำคัญคือการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นในประเด็นสิทธิและเสรีภาพของประชาชน การมีส่วนร่วมของประชาชน ในขณะที่นักโทษทางการเมืองอย่างอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร ได้รับการพักโทษและสามารถเดินทางพบปะประชาชนและเครือข่ายแกนนำทางการเมืองได้โดยเสรี จึงส่งผลต่อบรรยากาศของสภาพสังคมโดยรวม และส่งผลต่อความรู้สึกของประชาชน ขณะที่ความเชื่อมั่นในการทำงานของ ฝ่ายค้านกลับเป็นตัวชี้วัดที่มีคะแนนสูงขึ้น สะท้อนว่าประชาชนยังเห็นว่าพรรคฝ่ายค้านยังเป็นที่พึ่งและยังเป็นความหวังของประชาชน