71 ผู้เฒ่าไร้สัญชาติปลื้มได้รับบัตรประชาชนไทย พ่อเฒ่าวอนรัฐบาลลดขั้นตอน-ระยะเวลาดำเนินการ เหตุผู้สูงอายุเปราะบาง เลขามูลนิธิ พชภ.แนะรัฐเปิดช่องทางพิเศษสำหรับผู้เฒ่า

เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2567 ณ ห้องประชุมชั้น 4 อาคารศูนย์บริการประชาชนแบบเบ็ดเสร็จ ที่ว่าการอำเภอแม่สาย จ.เชียงราย ได้มีพิธีมอบบัตรประชาชนให้แก่ “ผู้เฒ่าไร้สัญชาติ” จำนวน 71 คน ซึ่งส่วนใหญ่มีเชื้อสายไทลื้อ จีนอพยพ และจีนคณะชาติ โดยทั้งหมดเป็นผู้ซึ่งได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้แปลงสัญชาติเป็นไทย ตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พศ. 2508 ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2567 ซึ่งมีนายณรงค์พล คิดอ่าน นายอำเภอแม่สาย เป็นประธานและผู้มอบบัตรประชาชน พร้อมกับหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ นอกจากนี้ยังมีทีมงานสถานะบุคคลของ มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา(พชภ.) ร่วมแสดงความยินดี

นายณรงค์พล กล่าวว่ารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มอบบัตรประชาชนในวันนี้ ขอให้ทุกท่านตระหนักในศีลธรรมอันดี เคารพในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมากษัตริย์อันเป็นประมุข ประกอบอาชีพสุจริตและปฏิบัติตามกฎหมายของไทย วันนี้เป็นวันที่มอบบัตรประชาชนให้ผู้เฒ่ามากที่สุด รอบนี้มีรายชื่อผู้ได้รับมอบบัตรประชาชนไทยของ อ.แม่สาย มีจำนวนทั้งสิ้น 72 คน มีอายุมากกว่า 70 ปี จำนวน 6 คน แต่เสียชีวิตไปก่อน 1 คนก่อนที่จะได้ถ่ายบัตรประชาชน ขอให้ทุกคนได้เป็นคนไทยอย่างเต็มภาคภูมิ

ทั้งนี้บรรยากาศในห้องประชุมเป็นไปอย่างชื่นมื่น โดยบรรดาผู้เฒ่าต่างสวมเสื้อสีเหลืองกันอย่างพร้อมเพรียง สีหน้าเบิกบานในโอกาสที่ได้เป็นคนไทยวันแรก ขณะที่ลูกหลานต่างมาร่วมแสดงความยินดีกันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง 

นางคำ ทองใจ อายุ 70 ปี ชาวบ้านเวียงพางคำ อ.แม่สาย กล่าวว่าตนได้อพยพมาอยู่ อ.แม่สาย ตั้งตอนสาวๆ อายุประมาณยังไม่ถึง 30 ปี มาทำงานทำสวน รับจ้างต่างๆ ค่าแรงวันละ 15 บาท พอซื้อข้าวเลี้ยงดูชีวิตได้ มีชีวิตมีครอบครัว เลี้ยงลูก 7 คน เป็นคนไทยที่ดีทุกคน มาร่วมพิธีมอบบัตรวันนี้รู้สึกตื่นเต้นดีใจมากๆ ได้บัตรประชาชน

“ได้เป็นคนไทยแล้ว ได้บัตรประจำตัว เป็นคนไทย จะไปเที่ยวกับลูกหลาน ไปที่ไหนก็ไปได้หมด” นางคำ กล่าวด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น 

นายแก้ว จันทร์พร ชาวอำเภอแม่สาย อายุ 76 ปี กล่าวว่า ตนอพยพมาจากสิบสองปันนา ขี่ม้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ อ.แม่สายได้ 58 ปีแล้ว ได้ร่วมกันก่อตั้งสมาคมไทยลื้อจังหวัดเชียงรายและพยายามผลักดันแก้ปัญหาผู้เฒ่าไร้สัญชาติ ซึ่งเดิมต้องมีหลักฐานรายได้และการเสียภาษีสำหรับต่างด้าว ไม่ต่ำกว่า 20,000 บาท ซึ่งเป็นไปไม่ได้สำหรับชาวบ้านอย่างพวกตน ต่อมาได้ร่วมกับนางเตือนใจ ดีเทศน์ อดีตสมาชิกวุฒิสมาชิก จ.เชียงราย ผลักดันจนสามารถแก้ระเบียบการแปลงสัญชาติสำหรับผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี สามารถเข้าถึงกระบวนการแปลงสัญชาติได้

“วันนี้ดีใจมากได้เป็นคนไทยเต็มร้อย ก่อนหน้านี้เราเป็นต่างด้าว ทั้งๆ ที่อยู่บนแผ่นดินไทยมาโดยตลอด อยากให้ลดระบุเวลาดำเนินการ ที่ขณะนี้กำหนดระยะเวลา 730 ยาวนานเกินไปสำหรับคนแก่ หากลดระยะเวลาขั้นตอนการแปลงสัญชาติลงเหลือสัก 1 ปีก็จะช่วยได้มาก” กรรมการสมาคมไทลื้อ กล่าว

นางสาวเพียรพร ดีเทศน์ เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) กล่าวว่าด้วยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทำให้สามารถผลักดันการแก้ปัญหาผู้เฒ่าไร้สัญชาติ วันนี้สามารถเห็นรอยยิ้มของผู้เฒ่าที่ได้เป็นคนไทยในวันบั้นปลาย ท่านเหล่านี้มีภูมิลำเนาในประเทศไทย กลมกลืนกับสังคมไทย มีลูกหลานเป็นประชาชนไทย สร้างคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศไทย แต่ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิและสุขภาวะ ขณะนี้ยังมีอีกกลุ่ม คือผู้ขอแปลงสัญชาติไทยที่ได้รับอนุญาตให้แปลงสัญชาติไทย อีก 408 คน เป็นผู้สูงอายุในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ (อ.เชียงดาว อ.ฝาง อ.เวียงแหง อ.สันทราย) จ.เชียงราย (อ.แม่สาย อ.แม่ฟ้าหลวง อ.แม่สรวย อ.เชียงของ) จ.แม่ฮ่องสอน จ.ตาก (อ.แม่สอด) จ.หนองคาย ซึ่งหวังว่าจะมีการดำเนินการโดยเร็วเนื่องจากเป็นกลุ่มเปราะบางที่ต้องมีการดูแลเป็นพิเศษ ทั้งนี้ในจังหวัดเชียงรายมีกลุ่มผู้สูงอายุไร้สัญชาติ อายุ 60 ปี ขึ้นไป จำนวนรวมทั้งสิ้น 16,598 คน

เลขาธิการมูลนิธิพชภ. กล่าวว่า สำหรับผู้สูงอายุมีเป็นกลุ่มเปราะบาง กลุ่มที่มีคุณสมบัติ ตามมาตรา 10 ของพรบ.สัญชาติ พ.ศ.2508 สามารถยื่นขอแปลงสัญชาติได้ แต่ขั้นตอนการพิจารณามีขั้นตอนที่ซับซ้อนถึง 14 ขั้นตอน ใช้เวลานาน และเกี่ยวข้องกับหน่วยงานหลายแห่ง ก่อนหน้านี้มีการปรับแก้ไขแนวทางประกอบการใช้ดุลพินิจในการอนุมัติการแปลงสัญชาติโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เรื่องเกณฑ์รายได้ การตรวจสอบประวัติและความประพฤติโดยหลายหน่วยงาน และความรู้ภาษาไทย เพื่อลดปัญหาและอุปสรรคในการเข้าถึงสิทธิในการขอแปลงสัญชาติของผู้เฒ่า รัฐบาลจึงควรพิจารณาให้มีกฎหมายเฉพาะหรือช่องทางพิเศษเพื่อผู้เฒ่ากลุ่มนี้จะได้รับสิทธิ์เป็นพลเมืองไทยโดยเร็ว