"ศุภชัย เจียรวนนท์" ซีอีโอเครือซีพี เสนอเทรนด์ 3 เทคโนโลยีมาแรงหนุนระบบสุขภาพและการแพทย์ Data AI - Genomic Testing - Health Food พร้อมชง SI Model ดันไทยสู่ Health Hub ระดับโลก
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ขึ้นปาฐกถาเกียรติยศเวฬา ณ จุฬาลงกรณ์ฯ ในหัวข้อ “Healthy, Well-being, and Longevity: From Local to Global Wisdom” ให้กับหลักสูตรเวฬา (VELA -Vitality Enhancement & Longevity Academy) รุ่นที่ 2 ซึ่งเป็นหลักสูตรสำหรับผู้บริหารระดับสูงด้านการแพทย์และสุขภาพชั้นนำของประเทศ โดยนายศุภชัยได้ฉายภาพให้เห็นถึงเทรนด์วิทยาการลํ้าสมัยด้านสุขภาพและการแพทย์ พร้อมนำเสนอการทรานส์ฟอร์มระบบสุขภาพด้วย SI Model ที่จะนําไปสู่การสร้างสุขภาวะที่ดีทั้งกายและจิตใจรวมถึงการมีอายุยืน ในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็น Health Hub ระดับโลก
ทั้งนี้ภายในงานมี ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร ผู้รักษาการแทนอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเปิดงาน พร้อมด้วย ศ.ดร.สถิรกร พงศ์พานิช ประธานอำนวยการหลักสูตรเวฬา นพ.กิตติพงศ์ แซ่เจ็ง ผู้แทนจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย รวมทั้งผู้บริหารและคณาจารย์ จุฬาฯ ตลอดจนผู้เข้าอบรมหลักสูตรเวฬา รุ่นที่1 และรุ่นที่ 2 พร้อมผู้บริหารและผู้ประกอบการด้านธุรกิจและการให้บริการด้านสุขภาพทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน รวมกว่า 250 คน เข้าร่วมฟังการบรรยายอย่างคับคั่ง ณ หอประชุมใหญ่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร ผู้รักษาการแทนอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงของความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน วิทยาศาสตร์ทางด้านการแพทย์ และประโยชน์ของการพัฒนาทักษะความรู้ที่ดี รวมถึงการต่อยอดองค์ความรู้ทางด้านการบริหารที่เรามักจะคุ้นเคยกันว่า เป็นเรื่องของ Upskill และ Reskill ทางด้านวิทยาศาสตร์ด้านการแพทย์ เป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศไทย ดังนั้นหลักสูตรเวฬา ที่ในตอนนี้มีผู้อบรมรวม 2 รุ่นจึงให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาประเทศ ผ่านการสร้างคุณูปการใน 3 เรื่องคือ 1.การยกระดับมาตรฐานวิชาชีพ บุคลากรทางการแพทย์ของประเทศไทย 2.ช่วยระดมสมองพัฒนา ส่งเสริมพร้อมร่วมกันทำงานทางการแพทย์และสาธารณสุข 3.การเผยแพร่องค์ความรู้ทางด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู และเวชศาสตร์ชะลอวัยให้ประชาชนมีความรู้เพียงพอ สามารถดูแลสุขภาพ และสุขภาวะของตนเองเบื้องต้นได้ก็จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต และชะลอความเสื่อมจากการเกิดโรคภัยไข้เจ็บได้มากขึ้นรวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถของประเทศไทย ให้มีความสามารถในการแข่งขันทางด้าน Medical Tourism ในเวทีโลกได้
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ได้ฉายภาพความท้าทายของระบบอุตสาหกรรมเฮลแคร์ที่กำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงใหญ่ของโลกใน 6 ด้านสำคัญ คือ ความเหลื่อมล้ำ การแบ่งขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจ ความผันผวนทางภูมิอากาศ พลังงานสะอาด วิกฤตโรคระบาดต่างๆ รวมไปถึงการเข้าสู่สังคมสูงวัย ทั้งนี้ประเด็นสำคัญที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากคือ "การปฏิรูปดิจิทัล" ด้วยเทคโนโลยีเอไอ ซึ่งระบบสุขภาพและการแพทย์ต้องปรับตัวให้ทัน เพราะระบบเอไอจะทำให้วิทยาการทางการแพทย์เร็วขึ้นอย่างน้อย 10 เท่า ดังนั้นต้องเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป สิ่งสำคัญต้องมีจุดศูนย์กลางของการเรียนรู้และการปรับตัวที่เริ่มต้นที่รัฐบาลและมหาวิทยาลัยในประเทศซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านเฮลแคร์ได้เร็วมากขึ้น เพราะในตอนนี้เรากำลังเข้าสู่ยุค SI 5.0 เป็นยุคที่เน้นไปเรื่องของเทคโนโลยี คน และความยั่งยืน หรือเรียกว่า Sustainable Intelligence ซึ่งเป็นยุคที่ให้ความสำคัญกับเอไอที่จะต้องมีคุณธรรมควบคู่กัน ดังนั้นการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลด้านระบบสุขภาพและการแพทย์ จึงต้องมีความเจริญของจิตใจและทันกับเทคโนโลยีที่เติบโต สิ่งเหล่านี้เป็นแรงผลักที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบสาธารณสุขไทย
นายศุภชัย กล่าวอีกว่า การจะลดความเหลื่อมล้ำ และให้ทุกคนในสังคมเข้าถึงระบบสุขภาพจำเป็นต้องคำนึงใน 4 ปัจจัยใหม่ คือ 1.ต้องเกิดการปฏิรูปการศึกษาสู่ยุค 5.0 ที่ให้ความสำคัญกับการให้ความรู้ควบคู่ไปกับจริยธรรม 2.สนับสนุนด้านการเงิน คือการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่จะทำให้ระบบสุขภาพเกิดการพัฒนามากขึ้น 3.การสื่อสาร ผ่านการสนับสนุนคอมพิวเตอร์ให้เด็กทุกคนได้เข้าถึงเพื่อให้เด็กได้เกิดการเรียนรู้ ค้นคว้าตามความสนใจ เด็กสามารถท่องโลกได้ทุกที่ ทุกเวลา เพราะคอมพิวเตอร์เปรียบเสมือนห้องเรียนขนาดใหญ่ และควรจะมี Learning Center เรื่องสุขภาพ ซึ่งจะทำให้เกิด Lifelong Learning ในด้านสุขภาพและการแพทย์ และ 4.ระบบประกันภัย ประกันสังคมด้านสุขภาพและอุบัติเหตุ ที่ควรต้องเข้าถึงได้ทุกคน และหากเปิดข้อมูลการเติบโตรายจ่ายด้านสุขภาพของไทยที่สูงถึง 8.7% ซึ่งสูงกว่า GDP/CAPITA ของประเทศถือเป็นทั้งวิกฤตและโอกาสของการทำธุรกิจด้านสุขภาพ เพราะคนจะลงทุนด้านบั้นปลายชีวิตที่มีคุณภาพมากขึ้น
"ระบบเฮลแคร์จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากต้องเกิดการหลอมรวม 3 เทคโนโลยี คือ Data/AI เข้ามาพัฒนาเรื่องยาและการรักษาโรคที่เร็วขึ้น และนำ Genomic Testing มาใช้ในการวินิจฉัยและรักษาโรค ไปพร้อมกับการนำเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนา Health Food และ Supplement เพราะอาหารคือยาที่ดีที่สุด ดังนั้น การดูแลสุขภาพจะต้องกินถูก ใช้ชีวิตถูก และมี Mindfulness ก็จะอายุยืน"
ซีอีโอเครือซีพี ปิดท้ายด้วยการเสนอการทรานส์ฟอร์มระบบสุขภาพด้วย SI Model หรือโมเดลสังคมแห่งภูมิปัญญาที่ยั่งยืน ที่จะต้องมี 1. Transparency มีตัวชี้วัดใหม่ทางการแพทย์ เช่น การทดสอบและวินิจฉัย (Testing&Diagnose) ที่ควรจะได้รับการเข้าถึงทุกคน 2.Market Mechanism สร้างกลไกตลาด ประเทศไทยมีจุดแข็งด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ รวมไปถึงผลักดันให้เกิด Hospital at Home และทำให้คนในประเทศเข้าถึงระบบประกันสุขภาพ ซึ่งควรต้องได้รับการสนับสนุนและอาจต้องให้ Incentive ในการผลักดันนโยบายให้เร็วขึ้น ควบคู่กับการใช้นโยบายสาธารณะมาช่วย พร้อมทั้งสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในแบบ PPP เพื่อผลักดันระบบสุขภาพและสุขภาวะที่ดีให้คนในสังคมได้เข้าถึงทุกคน
3.Leadership ผู้นำจะต้องมีกรอบความคิด สร้างความศรัทธาให้คนในองค์กรมีความเชื่อและพร้อมที่จะร่วมมือด้วยการลงมือทำให้เห็นและเป็นตัวอย่างที่ดี ขณะเดียวกันผู้นำจะต้องสร้างทักษะด้านเทคโนโลยีให้เท่าทันกับยุคสมัยด้วย 4.Empowerment คือการสร้าง People Centric ข้อมูลต้องเป็นของประชาชน เพื่อให้เกิดการเข้าถึงระบบการแพทย์ที่มีคุณภาพ 5.Technology จะต้องมีการทำ R&D ด้านเอไอ เพิ่มทักษะการเรียนรู้ด้านระบบสุขภาพให้บุคลากรทางการแพทย์ พร้อมผลักดันให้ประเทศไทยเกิด Innovation Hub ด้านการแพทย์ให้ได้ ซึ่งจุฬาฯ มีศักยภาพอย่างมากในเรื่องนี้ โดยเครือซีพีพร้อมที่จะร่วมมือกับจุฬาฯ ในการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อการเรียนรู้ และยกระดับด้านการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อสร้างอายุที่ยืนยาว