วันที่ 27 พ.ค.2567 เวลา 12.00 น.ที่รัฐสภา นายสมชาย แสวงการ สว. ให้สัมภาษณ์ถึงกระบวนการเลือกกันเองของผู้สมัคร สว. ที่ล่าสุดจำนวนผู้สมัครเข้ารับการเลือกแต่ละกลุ่มไม่ถึงตามเป้าที่คณะกรรมการการลือกตั้ง (กกต.)หนึ่งแสนคน ว่า การเลือกของ สว. ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญคือ ให้ได้ตัวแทนกลุ่มอาชีพ 20 กลุ่ม แต่ขณะนี้พบว่ามีบางคณะการเมืองที่รณรงค์ให้ไปสมัครเป็นผู้เลือก (โหวตเตอร์) แทนต้องการเป็น สว. ซึ่งผิดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญชัดเจน ขณะเดียวกันระเบียบของกกต.ในการเลือกยังพบว่ามีปัญหา และ กกต.เตรียมอุทธรณ์ต่อศาลปกครอง ซึ่งตนมองว่ากรณีดังกล่าาวถือว่าาอันตราย และจะทำให้การเลือกมีปัญหา ตนเห็นว่าเลขาธิการ กกต.พยายามให้สัมภาษณ์ว่าการเลือกจะเป็นไปตามไทม์ไลน์ ซึ่งตนมองว่าหาก กกต. พยายามจะประกาศรับรองไปก่อน อาจเป็นการกระทำที่ไม่สุจริตและอันตราย เพราะได้ข้อมูลทั้งจากผู้ตรวจการเลือกตั้ง และคนในพื้นที่ ทราบว่ามีกระบวนการทุจริตและฮั้วการเลือกสว. และพบการว่าจ้างให้มาลงสมัครหัวละ 2,000 - 10,000 บาท เช่น บางพื้นที่ มีการจ้าง 5,000 บาท เป็นค่าสมัคร 2,500 บาท ตัวเองได้ 2,000 บาท และให้ลูก 500 บาท รวมถึงการขนคนให้มาสมัคร โดยไม่รู้ว่าตนเองนั้นมาสมัครทำอะไร และจะทราบว่าต้องทำอย่างไรเมื่อถึงเวลา
“ผมอยากให้กกต.ตรวจสอบให้ดี เพราะหากเร่งประกาศ และจะทำตามไทม์ไลน์ เลขา กกต. และ กกต.อาจจะถูกดำเนินคดีเหมือนกับอดีต กกต. ชุดก่อนถูกจำคุก 4 ปีได้ ดังนั้นเมื่อ กกต. มีหน้าที่ต้องทำหน้าที่ ไม่ใช่ปล่อยให้การเลือกที่ผิด ต้องมีหลักฐานชัดเจน ไม่ใช่รับรองไปแล้วสอยทีหลังเหมือนการเลือกสส. เมื่อ 14 พ.ค. ที่พบว่าไม่สามารถเอาผิดได้ ผมมองว่าหากกต.ตรวจสอบให้ดีให้โปร่งใสก่อนประกาศ และใช้เวลาช้ากว่าปฏิทินที่กำหนดไว้ 1-2 เดือนจะดีกว่า เพื่อทำให้ได้สว.ตรงปก และไม่เกิดปัญหา” นายสมชาย กล่าว
นายสมชาย กล่าวด้วยว่า ตนได้รับข้อมูลด้วยว่ามีเจ้าหน้าที่ กกต. ได้บอกกับผู้สมัครสว. ให้เปลี่ยนกลุ่ม เพราะพบว่าในกลุ่มเกษตรกรมีผู้สมัครจำนวนมาก จึงบอกให้เปลี่ยนไปเป็นกลุ่มอื่น ซึ่งทำให้เห็นว่ามีกระบวนการที่ส่อว่าจะฮั้วการเลือก และอาจจะได้ สว.แห่ ที่อาจกลายเป็นปัญหาในอนาคตและตั้งคำถามว่า มีสว.ไว้ทำไม ซึ่งการได้มาซึ่งสว.นั้นอาจทำให้เกิดครหาที่เลวร้ายกว่าที่เคยกล่าวหา สว.สรรหา อีก