จากการพัฒนาตามนโยบายตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ ร่วมกับผลการพัฒนาภายใต้ระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ เพื่อมุ่งตอบโจทย์การเพิ่มรายได้เกษตรกร 3 เท่าใน 4 ปี และการเป็นผู้ให้บริการทางการเกษตรแบบครบวงจรที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม (Go Green) ด้วย BCG Model ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กลุ่มแปลงใหญ่กาแฟบ้านป๊อก ตำบลห้วยแก้ว อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ถือเป็นกลุ่มแปลงใหญ่ที่ประสบความสำเร็จ เกษตรกรมีการผลิตและกำหนดมาตรฐานอย่างเข้มงวด จนสามารถยกระดับการผลิตกาแฟคั่วปกติ เป็น “กาแฟดริป” และ “กาแฟปรุงสำเร็จบ้านป๊อกชนิดฟรีซดราย” เพื่อเพิ่มมูลค่าและโอกาสทางการค้า อีกทั้งชุมชนยังร่วมกันบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ จนได้รับรางวัล "การพัฒนาชุมชนบนพื้นที่สูงคาร์บอนต่ำและยั่งยืน ระดับดีเยี่ยม" 

นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินการส่งเสริมให้กลุ่มเกษตรกรสร้างเอกลักษณ์สินค้าเกษตรท้องถิ่น โดยมีกลุ่มแปลงใหญ่หลายแห่งประสบความสำเร็จ สามารถสร้างชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะกลุ่มแปลงใหญ่กาแฟบ้านป๊อก ตำบลห้วยแก้ว อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งได้เข้าร่วมโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ ในปี 2561 และได้รับการส่งเสริมการพัฒนาตามแนวทางของโครงการฯ อย่างต่อเนื่อง จากเดิมที่มีการนำผลผลิตกาแฟกะลา มาแปรรูป เป็น “กาแฟคั่ว” เพื่อเพิ่มมูลค่า ซึ่งมีทั้งกาแฟคั่วอ่อน กาแฟคั่วกลาง และกาแฟคั่วเข้มจำหน่ายทั้งแบบเม็ดและแบบบด และเพื่อให้กับเข้ากับยุคสมัยในปัจจุบัน กลุ่มจึงได้ต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ เป็น “กาแฟดริป” ช่วยสร้างรายได้เพิ่มขึ้น และยังได้ยกระดับการผลิตกาแฟคั่วปกติ เป็นกาแฟผงพร้อมชง ด้วยการใช้เทคโนโลยี Freeze Dry ที่เป็นการถนอมอาหารและแปรรูปเพิ่มมูลค่า โดยที่คุณค่าสารอาหาร รสชาติ กลิ่นของอาหารนั้นยังคงถูกรักษาไว้ได้อย่างดี ได้เป็น “กาแฟปรุงสำเร็จบ้านป๊อกชนิดฟรีซดราย (Freeze dry coffee process)” โดยร่วมกับสำนักงานเกษตรอำเภอแม่ออน สำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ และศูนย์นวัตกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์ (Fin) ในการร่วมพัฒนา และทดสอบผลิตภัณฑ์ ซึ่งกาแฟปรุงสำเร็จนี้มีความสะดวกในการพกพา บรรจุในซองฟอยด์ จำนวน 10 ซอง ซองละ 3 กรัม ทำให้ยังคงคุณค่า รสชาติ กลิ่นของกาแฟบ้านป๊อกที่เป็นเอกลักษณ์เอาไว้ได้เป็นอย่างดี ในราคาเพียงกล่องละ 150 บาท 

“กาแฟบ้านป๊อก” ปลูกด้วยความเอาใจใส่ของเกษตรกร จากผลกาแฟสีแดงสด (กาแฟเชอรี่) ที่อยู่บนต้น นำมาผ่านกระบวนการแปรรูปที่หลากหลายขั้นตอนอย่างพิถีพิถัน เพื่อให้ได้มาซึ่งเมล็ดกาแฟกะลาที่มีคุณภาพดี นำมาผ่านกระบวนการคั่วอย่างประณีต และใส่ใจ เกิดเป็น “กาแฟคั่วบ้านป๊อก” ที่มีลักษณะเฉพาะทั้งรสชาติและกลิ่น ซึ่งจะมีอัตลักษณ์เป็นกาแฟ Specialty คือมีรสชาติกลมกล่อมและคุณภาพดี ให้รสสัมผัสคล้ายช็อคโกแลต มีกลิ่นหอมของดอกไม้ป่า ธัญพืช พืชตระกูลเบอรี่ และเสาวรส ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของกาแฟบ้านป๊อก เป็นการยกระดับคุณภาพ สร้างความน่าสนใจและโอกาสเข้าสู่ตลาด Premium ได้มากยิ่งขึ้น

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า ด้วยกระบวนการแปรรูป เพื่อให้ได้มาซึ่งเมล็ดกาแฟคั่วที่มีคุณภาพดีนั้น ในแต่ละขั้นตอนจะมีวัสดุเหลือทิ้งจำนวนมาก ทางกลุ่มฯ จึงวางแผนในการจัดการวัสดุเหลือทิ้ง โดยพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น กระถางปลูกต้นไม้ และถ่านอัดแท่งคุณภาพสูงจากเปลือกกะลากาแฟ ช่วยเพิ่มรายได้และเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์และมีประสิทธิภาพสูงสุด จากการที่กลุ่มร่วมกันบริหารจัดการทรัพยากรแบบมีส่วนร่วมของชุมชนจนประสบความสำเร็จ และได้รับรางวัล "การพัฒนาชุมชนบนพื้นที่สูงคาร์บอนต่ำและยั่งยืน ระดับดีเยี่ยม" จากมหาวิทยาลัยมหิดล และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีประเด็นในการพิจารณา ใน 4 มิติ คือ มิติ 1 การเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มิติ 2 การฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าไม้ มิติ 3 การจัดการสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัยชุมชน มิติ 4 ความเข้มแข็งของชุมชนในการรองรับการเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้พื้นที่ยังคงสภาพป่าไม้และเป็นแหล่งทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์อีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย สอดคล้องกับแนวทางการส่งเสริมการเกษตรให้มีความยั่งยืนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG Model 

ทั้งนี้ กาแฟ ยังเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มแบบก้าวกระโดด ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตร ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟตลอดห่วงโซ่การผลิต เพื่อยกระดับคุณภาพกาแฟไทยให้มีอัตลักษณ์ของกาแฟเฉพาะถิ่น และเพิ่มมูลค่าสินค้า รวมถึงการหาตลาดหรือช่องทางสำหรับการกระจายสินค้าเกษตรใหม่ๆ ตามนโยบาย ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ มุ่งหวังตอบโจทย์การเพิ่มรายได้เกษตรกร 3 เท่าใน 4 ปี ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นายเจริญ พิมพ์ขาล เกษตรจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า กาแฟบ้านป๊อก ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลห้วยแก้ว อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ มีการปลูกกาแฟบนภูเขาสูงจากระดับน้ำทะเล 1,200 เมตร ซึ่งเป็นป่าต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์ ทำให้มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการผลิตกาแฟคุณภาพ และในปี พ.ศ. 2524 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จมาในพื้นที่ตำบลห้วยแก้ว และได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับก่อสร้างศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก เป็นศูนย์สาธิตและส่งเสริมการปลูกกาแฟอาราบิก้า เพื่อสร้างอาชีพและรายได้นอกจากการปลูกเมี่ยงให้แก่ราษฎรในพื้นที่ นับเป็นจุดเริ่มต้น “กาแฟบ้านป๊อก กาแฟของพ่อ ที่ปลูกในป่าของแม่” โดยได้ทำการปลูกกาแฟผสมผสานไปกับการทำสวนเมี่ยงมากกว่า 30 ปี ปลูกภายใต้ร่มไม้ใหญ่ เพื่อรักษาป่าให้ยังคงอยู่ มีความอุดมสมบูรณ์ ถือว่าเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ไปพร้อมกับการประกอบอาชีพซึ่งก่อให้เกิดความยั่งยืนในอาชีพ 

สำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มในการผลิต การแปรรูป และการตลาด โดยส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มและบริหารจัดการในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน และแปลงใหญ่ โดยมุ่งเน้นในการส่งเสริมการผลิตกาแฟตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อให้เกษตรกรสามารถบริหารจัดการกลุ่ม ร่วมกับการรักษาป่า และสามารถต่อยอด สร้างมูลค่าเพิ่มจากการท่องเที่ยว โดยจัดกิจกรรมฐานเรียนรู้ในแปลง และชุมชน เกิดเป็นโปรแกรมการท่องเที่ยวของหมู่บ้าน ช่วยสร้างอาชีพและรายได้ตลอดทั้งปีอย่างยั่งยืน