วันที่ 23 พ.ค.2567 เวลา 14.00 น. ที่รัฐสภา กลุ่มอาชีวะราชภักดี พร้อมด้วยเครือข่าย ได้แก่ กลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน(ศปปส.) และกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน(ปภส.) นำโดยนายอัครวุธ ไกรศรีสมบัติ หรือเต้ อาชีวะ แกนนำกลุ่มอาชีวะราชภักดี เข้ายื่นหนังสือต่อนายนิกร จำนงเลขานุการกมธ.ฯวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร เพื่อคัดค้านกรณีที่น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือน้องมายด์ ตัวแทนกลุ่มทะลุฟ้าเรียกร้องให้กมธ.ฯนิรโทษกรรม บรรจุประมวลกฎหมายอาญามาตรา112 เป็นคดีทางการเมือง
โดยนายอัครวุธ หรือเต้ อาชีวะ กล่าวว่า ตนอยากเตือนสติ น.ส.ภัสราวลี ว่า ความผิดตามมาตรา112 เป็นความผิดอาญาและความมั่นคง สิ่งที่มาเรียกร้องถือเป็นความผิดไปแล้ว ขอให้ไปต่อสู้กันในศาล ตามกระบวนการ อย่าทำความผิดแล้วมาขออภัยโทษ หรือนิรโทษกรรม ตนเห็นด้วยกับนิรโทษกรรมคดีทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นคนสีเสื้ออะไรก็เห็นด้วย แต่ความผิดมาตรา 112 ไม่เกี่ยว เพราะไม่ใช่คดีทางการเมือง
“หากไม่หมิ่นจะกลัวอะไรกับมาตรา 112 หากไม่ได้ทำชั่วก็อย่ากลัวกับมาตรานี้ พวกเราอยู่ด้วยกันในสังคมได้เรื่องนี้เพิ่งมีมาได้ไม่นาน เด็กเหล่านี้ไม่ได้ทำเองด้วยความบริสุทธิ์ใจ แต่มีผู้ใหญ่ที่เสี้ยม มีคนอยู่เบื้องหลังมุดอยู่ใต้กระโปรงของเด็ก สั่งให้เด็กออกไปทำให้เกิดความเสียหาย คือคนที่ได้ประโยชน์มากที่สุดจากการนิรโทษกรรมมาตรา112 ก็ขอให้ย้อนกลับไปดูว่าใครมีคดีมาตรานี้ติดตัวอยู่” นายอัครวุธ กล่าว
ด้านนายนิกร กล่าวว่า หนังสือที่ยื่น เราจะรับไว้เพื่อเข้าสู่กมธ.ฯ เรามีหน้าที่ศึกษาไม่ได้มีหน้าที่ในการยกร่าง เราพบว่าจากการศึกษามีฐานความผิดที่อิงมาเกี่ยวกับคดีทางการเมือง 17 ฐานความผิด จากนั้นเราก็จะได้ทำการศึกษาเพิ่มเติมและนำเข้าสู่ที่ประชุมสภาฯว่าควรนิรโทษกรรมฐานความผิดอะไรบ้าง แต่ทั้งนี้ตั้งแต่ที่การพิจารณาเรื่องนี้มายังไม่เคยมีคณะกรรมาธิการฯชุดไหนที่นำคดีมาตรา 112 มาพิจารณา
“เราจึงสรุปความเห็นว่าความผิดตามมาตรา 112 นั้น ยังมีความอ่อนไหวอยู่ แม้จะมีการเสนอให้มีการนิรโทษกรรมเกี่ยวกับความผิดมาตรา 112 หรือคดีที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ด้วย แต่จนถึงขณะนี้ต้องเรียนว่าเรายังไม่ได้มีการตัดสินอะไรว่าจะเอาคดีอะไรเป็นคดีหลักหรือคดีรอง และควรจะมีการดำเนินการอย่างไร ฉะนั้นข้อเสนอที่กลุ่มดังกล่าวมาเรียกร้องก็จะถูกนำเข้าสู่การพิจารณาในกมธ.ด้วย” นายนิกร กล่าว