IVL เตรียมออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนฯ เสนอขายต่อประชาชนเป็นการทั่วไป คาดเสนอขายระหว่างวันที่ 1-4 กรกฎาคม 2567 ผ่านสถาบันการเงินชั้นนำ เผยอัตราดอกเบี้ย 5 ปีแรก อยู่ระหว่าง [5.90-6.10]% ต่อปี กำหนดจ่ายดอกเบี้ยทุก 6 เดือน มั่นใจได้รับการตอบรับจากผู้ลงทุนเป็นอย่างดี จากผลตอบแทนที่น่าพอใจ ประวัติการไถ่ถอนหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนฯ ที่ผ่านมาเมื่อครบ 5 ปีอย่างสม่ำเสมอ และอันดับความน่าเชื่อถือหุ้นกู้ครั้งนี้ที่ระดับ ‘A’ แนวโน้ม ‘คงที่’ สะท้อนความแข็งแกร่งในฐานะบริษัทเคมีภัณฑ์ที่ยั่งยืนชั้นนำระดับโลก สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ดีเพื่อสังคม

บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ IVL บริษัทเคมีภัณฑ์ชั้นนำระดับโลกที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน เตรียมออกและเสนอขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน ไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัท ซึ่งผู้ออกหุ้นกู้มีสิทธิไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนกำหนด และมีสิทธิเลื่อนชำระดอกเบี้ยโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ครั้งที่ 1/2567 (“หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนฯ”) โดยอันดับความน่าเชื่อถือของผู้ออกหุ้นกู้อยู่ที่ “AA-” แนวโน้ม “คงที่” และอันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนฯ อยู่ที่ “A”  จัดอันดับโดยบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2567 ทั้งนี้ บริษัทฯ กำหนดอัตราดอกเบี้ยในช่วง 5 ปีแรกไว้ระหว่าง [5.90-6.10]% ต่อปี โดยจะประกาศอัตราดอกเบี้ยที่แน่นอนอีกครั้ง กำหนดจ่ายดอกเบี้ยทุกๆ 6 เดือน ตลอดอายุหุ้นกู้

โดยการออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนฯ ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมการไถ่ถอนหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนฯ ที่ออกเมื่อปี 2562 ซึ่งจะมีอายุครบ 5 ปี ในเดือนพฤศจิกายน 2567 นี้ ทั้งนี้ อินโดรามา เวนเจอร์ส เป็นบริษัทแรกๆ ในประเทศไทยที่ออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนฯ ตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งได้ไถ่ถอนเมื่ออายุครบ 5 ปี ด้วยการออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนฯ อีกครั้งในปี 2562 นับว่าเป็นผู้ออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนฯ ที่มีประวัติการไถ่ถอนสม่ำเสมอและได้รับความเชื่อมั่นจากนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง

สำหรับการเสนอขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนฯ ครั้งนี้ คาดว่าจะเปิดจองซื้อระหว่างวันที่ 1-4 กรกฎาคม 2567 โดยเป็นการเสนอขายให้แก่ประชาชนเป็นการทั่วไป ผ่านสถาบันการเงินชั้นนำ ที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร บริษัทหลักทรัพย์ กรุงไทย เอ็กซ์สปริง บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส และ บริษัทหลักทรัพย์ ธนชาต ปัจจุบัน บริษัทฯ อยู่ระหว่างการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ซึ่งยังไม่มีผลบังคับใช้ โดยผู้ลงทุนสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.sec.or.th

นายดีเค อากาวาล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทฯ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน อินโดรามา เวนเจอร์ส กล่าวว่า “เรามั่นใจว่าหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนฯ ของบริษัทฯ ยังคงเป็นที่ต้องการและน่าสนใจสำหรับผู้ลงทุน ด้วยอันดับความน่าเชื่อถือระดับ ‘A’ และอัตราผลตอบแทนที่น่าพอใจ รวมถึงพื้นฐานธุรกิจ และความแข็งแกร่งทางการเงินของอินโดรามา เวนเจอร์ส จะเป็นปัจจัยสนับสนุนความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนต่อการตัดสินใจลงทุนในหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนฯ ของบริษัทฯ ในครั้งนี้ด้วยดีเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา”

ทั้งนี้อินโดรามา เวนเจอร์ส เป็นหนึ่งในผู้ผลิตเคมีภัณฑ์รายใหญ่ของโลก มีโรงงานมากกว่า 140 แห่ง ตั้งอยู่ใน 34 ประเทศ ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วโลก ทั้งเอเชียแปซิฟิก อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ ยุโรป และแอฟริกา โดยนำเสนอตั้งแต่ผลิตภัณฑ์ขั้นต้น รวมทั้งสารตั้งต้นที่ใช้ในการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ ไปจนถึงผลิตภัณฑ์ขั้นปลายอย่างเส้นใย เส้นด้าย และพลาสติก PET ที่สามารถรีไซเคิลได้ 100% และนิยมใช้ในการผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งผลิตภัณฑ์ทั้งหมดเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของผู้คนนับพันล้านคนทั่วโลก ตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งเข้านอน โดยลูกค้าของอินโดรามา เวนเจอร์ส อยู่ในหลากหลายกลุ่มอุตสาหกรรม ทั้งอาหารและเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขอนามัย ความปลอดภัย ผลิตภัณฑ์เพื่อการดูแลส่วนบุคคล และยานยนต์

สำหรับปัจจุบัน อินโดรามา เวนเจอร์ส ดำเนินธุรกิจ 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ (1) กลุ่มธุรกิจ Combined PET ในฐานะผู้ผลิตและรีไซเคิลพลาสติก PET ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยกำลังการผลิตรวมประมาณ 6 ล้านตันต่อปี ทำให้บริษัทฯ กลายเป็นส่วนสำคัญในการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ ขวดคุณภาพสูง ฟิล์มและสิ่งทอชนิดพิเศษ ซึ่งในส่วนของธุรกิจ Packaging กลุ่มลูกค้าหลักคือบริษัทเครื่องดื่มที่มีชื่อเสียงในระดับสากลและผู้ผลิตกลุ่มอุตสาหกรรม FMCG อาทิเช่น บริษัท L’Oreal Pepsi Coca-Cola และ P&G (2) Indovinya ซึ่งเดิมคือกลุ่มธุรกิจ Integrated Oxides and Derivatives (IOD) หรือธุรกิจออกไซด์และอนุพันธ์แบบบูรณาการ ซึ่งมีนวัตกรรมด้านเคมีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสารลดแรงตึงผิว (surfactant) ที่ช่วยให้การกระจายตัวของของเหลวดีขึ้น และช่วยลดแรงตึงผิวระหว่างของเหลวสองชนิด จึงเป็นส่วนประกอบสำคัญของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ใกล้ตัว เช่น ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ผงซักฟอก น้ำยาทำความสะอาดในครัวเรือน สบู่ ยาสีฟัน ยาสระผม รวมถึงผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้าและผิวกาย เครื่องสำอาง ครีมกันแดด ไปจนถึงสารเคมีกำจัดวัชพืช เป็นต้น (3) กลุ่มธุรกิจ Fibers ผลิตเส้นใยที่ครอบคลุมกลุ่มผลิตภัณฑ์สุขอนามัยอย่างผ้าอ้อมเด็ก หน้ากากอนามัย กลุ่มผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ อาทิ เสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ และกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับยานยนต์ทั้งหมด ทั้งเส้นใยที่ใช้ในรถยนต์และยางล้อรถ

“ภายใต้กลยุทธ์ใหม่ของบริษัทฯ ที่เรียกว่า IVL 2.0 เราจะเดินหน้าเสริมความแข็งแกร่งของโครงสร้างการเงิน ไปพร้อมๆ กับการเพิ่มขีดความสามารถของโมเดลธุรกิจของเรายิ่งขึ้นไปอีก เราจะใช้ประโยชน์จากฐานการผลิตทั่วโลกที่ไม่มีใครเทียบได้ และรักษาความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรม รวมถึงสร้างความแข็งแกร่งให้กับโครงสร้างหนี้ เพิ่มคุณภาพรายได้ และสร้างกระแสเงินสดภายใต้นโยบายวินัยด้านเงินทุนที่เข้มงวดและมาตรฐานการจัดการหนี้สินระดับสากล ซึ่งเชื่อว่าจะสร้างความมั่นใจให้กับผู้ที่ลงทุนในหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนฯ ในครั้งนี้ได้อย่างแน่นอน” นายดีเค อากาวาล กล่าว

ทั้งนี้ อินโดรามา เวนเจอร์ส ให้ความสำคัญกับนวัตกรรมและความยั่งยืน โดยได้ตั้งเป้าหมายที่มีตัวชี้วัดความยั่งยืนที่ชัดเจน ผ่านการรีไซเคิล PET การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การใช้พลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยในปี 2566 อินโดรามา เวนเจอร์สได้รับการคัดเลือกเป็นสมาชิกในดัชนีความยั่งยืนของดาวโจนส์ ระดับโลก (Dow Jones Sustainability World Index: DJSI World) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 และสมาชิกในดัชนีความยั่งยืนของดาวโจนส์ กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Dow Jones Sustainability Emerging Markets Index: DJSI Emerging Markets) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 รวมถึงครองอันดับ 1 ใน FTSE4Good Index Series โดยได้รับคะแนนด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environment, Social and Governance หรือ ESG) ที่ 4.5 จาก 5

นอกจากนี้ในปี 2567 MSCI หรือ มอร์แกน สแตนลีย์ แคปปิตอล อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่เชี่ยวชาญด้านการจัดทำดัชนีและบทวิเคราะห์ที่ขับเคลื่อนด้วยการวิจัยชั้นนำได้ปรับอันดับบริษัทเป็น ‘AA’ จาก ‘A’ ตอกย้ำพัฒนาการที่โดดเด่นของบริษัทฯ ในด้านความยั่งยืน และความมุ่งมั่นต่อแนวทางปฏิบัติด้าน ESG อย่างมีความรับผิดชอบ เพื่อประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย