วันที่ 22 พฤษภาคม 2567 สถาบันพระปกเกล้า โดย สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย ร่วมกับ สำนักส่งเสริมการเมืองภาคพลเมือง และศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมือง 76 จังหวัด ได้จัดทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "การรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการเลือก ส.ว. 2567" จาก 1,620 กลุ่มตัวอย่าง โดยทำการเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 7-18 พ.ค. 2567 ใช้วิธีการสัมภาษณ์ตามแบบสอบถาม จากกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง (อายุ 18 ปี บริบูรณ์ขึ้นไป)
โดยผลการสำรวจพบว่า คนไทยเกือบ 1 ใน 4 ยังไม่ทราบว่า กำลังจะมีการเลือก สว.ชุดใหม่
เมื่อสอบถามกลุ่มตัวอย่างว่า "ท่านทราบหรือไม่ว่า กำลังจะมีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดใหม่เร็ว ๆ นี้" ผู้ตอบแบบสอบถาม ร้อยละ 76.5 ระบุว่า ทราบแล้ว ร้อยละ 23.5 ระบุว่า ยังไม่ทราบเลย
เมื่อทำการวิเคราะห์ผลการสำรวจลงไปในแต่ละกลุ่มประชากร ปรากฏว่า ผู้ตอบเพศหญิงที่ระบุว่า ยังไม่ทราบ (ร้อยละ 27.2) มีสัดส่วนสูงกว่าผู้ตอบเพศชายที่ระบุว่า ยังไม่ทราบ (ร้อยละ 19.5)
ผู้ตอบที่มีอายุ 36-45 ปี เป็นกลุ่มที่ระบุว่าทราบแล้ว มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 81.5 ใกล้เคียงกับผู้ตอบที่มีอายุ 46-60 ปี (ร้อยละ 79.4) และผู้ตอบที่มีอายุตั้งแต่ 61 ปีขึ้นไป (ร้อยละ 79.0) ในขณะที่ผู้ตอบที่มีอายุ 18-25 ปี เป็นกลุ่มที่ยังไม่ทราบว่ากำลังจะมีการเลือก สว.ชุดใหม่มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 34.3
ผู้ตอบที่มีระดับการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี เป็นกลุ่มที่ระบุว่า ทราบแล้วมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 92.8 ในขณะที่ผู้ตอบที่มีการศึกษาระดับประถมศึกษา เป็นกลุ่มที่ยังไม่ทราบมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 35.9
คนไทย 70% ยังไม่ทราบวิธีการเลือก สว.
เมื่อสอบถามกลุ่มตัวอย่างว่า "ท่านทราบวิธีการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) หรือไม่" ผู้ตอบแบบสอบถาม
ร้อยละ 28.3 เท่านั้นที่ระบุได้ถูกต้องว่า "เป็นการเลือกกันเองของผู้สมัคร"
ร้อยละ 21.5 ยังเข้าใจว่าการได้มาซึ่ง สว. รอบนี้ เป็นการ "คัดสรร สว. จากกลุ่มอำชีพ"
ร้อยละ 15.5 เข้าใจว่าเป็นการเลือกตั้ง สว. โดยตรงของประชาชน
ร้อยละ 34.7 ยังไม่ทราบวิธีการได้มาซึ่ง สว. ชุดใหม่
เมื่อทำการวิเคราะห์ผลการสำรวจลงไปในแต่ละกลุ่มประชากร ปรากฏว่า ผู้ตอบเพศหญิงที่ระบุว่ายังไม่ทราบ หรือยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับวิธีกำรเลือก สว. (ร้อยละ 75.7) มีสัดส่วนสูงกว่าผู้ตอบเพศชาย ที่ระบุว่ายังไม่ทราบหรือยังเข้าใจผิด (ร้อยละ 67.4)
ผู้ตอบที่มีอายุตั้งแต่ 61 ปีขึ้นไป เป็นกลุ่มที่ทราบวิธีการได้มาซึ่ง สว. ชุดใหม่ที่ถูกต้องแล้วมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 30 ใกล้เคียงกับผู้ตอบที่มีอายุ 46-60 ปี (ร้อยละ 28.5) ผู้ตอบที่มีอายุ 36-45 ปี (ร้อยละ 28.4) และผู้ที่มีอายุ 26-35 ปี (ร้อยละ 28.0) ตามลำดับ ในขณะที่ผู้ตอบที่มีอายุ 18-25 ปี เป็นกลุ่มที่ยังไม่ทราบหรือยังเข้าใจผิด เกี่ยวกับวิธีการเลือก สว. ชุดใหม่มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 73.9
ผู้ตอบที่มีระดับการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี เป็นกลุ่มที่ทราบวิธีการได้มาซึ่ง สว. ชุดใหม่ที่ถูกต้องแล้ว มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 35.4 ในขณะที่ผู้ตอบที่มีการศึกษาระดับประถมศึกษา เป็นกลุ่มที่ยังไม่ทราบหรือยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับวิธีการเลือก สว. มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 79.3