วันที่ 22 พ.ค.2567 เวลา 11.40 น. (เวลาท้องถิ่นกรุงโตเกียวซึ่งเร็วกว่ากรุงเทพฯ 2 ชั่วโมง) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เดินทางถึงกรุงโตเกียว เพื่อเข้าร่วมการประชุม Nikkei Forum
เมื่อเวลา 18.07 น. (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงโรม ซึ่งช้ากว่ากรุงเทพฯ 5 ชั่วโมง) นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ระหว่างการเดินทางจากสาธารณรัฐอิตาลีไปยังกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ถึงภารกิจเมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้หารือ Four eyes กับนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐอิตาลี ซึ่งเป็นประธาน G7 ด้วย โดยนายกรัฐมนตรีได้พูดคุยเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ดังนี้
1. การยกเว้นการตรวจลงตราเข้าเขตเชงเก้น นายกรัฐมนตรีอิตาลีรับปาก และชื่นชมคนไทยที่มาเที่ยวที่อิตาลี ไม่มีปัญหาเรื่องการหลบหนี หรือก่อปัญหา นายกรัฐมนตรีได้หยิบยกตัวอย่างการค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ที่มีความสะดวกมากขึ้น ทำให้มีการลงทุนและการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนสูงมาก ในขณะที่การขอวีซ่าเชงเก้นต้องใช้ระยะเวลานาน ซึ่งนายกรัฐมนตรีต้องการอำนวยความสะดวกให้การค้าขายระหว่างสหภาพยุโรปกับประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น และนายกรัฐมนตรีอิตาลีก็รับไปผลักดันให้ รวมถึงประธานาธิบดีฝรั่งเศส และนายกรัฐมนตรีเยอรมนี รวมเป็น 3 ประเทศใหญ่ ซึ่งให้คำมั่นสัญญาว่าจะพยายามทำอย่างเต็มที่
2. ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย - สหภาพยุโรป ซึ่งนายกรัฐมนตรีอิตาลีก็เห็นความสำคัญ และรับปากที่จะช่วยดูแล เพราะถ้าภาคเอกชนอิตาลีต้องการไปลงทุนเพื่อขยายฐานการผลิตที่ไทย เพื่อทำให้สินค้าเข้าถึงตลาดทั่วโลก เรื่อง FTA ก็เป็นเรื่องสำคัญ
3.ความมั่นคง ทั้งเรื่องการซื้ออาวุธ และการพัฒนากองทัพร่วมกัน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ นายกรัฐมนตรีได้ให้ผู้ช่วยทูตทหารประสานงานกับฝ่ายความมั่นคงของอิตาลี ซึ่งไม่เฉพาะเพียงเรื่องการซื้ออาวุธ แต่รวมถึงการพัฒนาระบบในการฝึกซ้อม และเทคโนโลยีต่าง ๆ
4. อุตสาหกรรมการออกแบบและแฟชั่น ซึ่งอิตาลีมีศักยภาพมาก โดยนายกรัฐมนตรีต้องการให้มีการแลกเปลี่ยนการจัดนิทรรศการ นักเรียน และผู้เชี่ยวชาญ โดยนายกรัฐมนตรีได้ยกตัวอย่างภาคเอกชนที่ได้พบหารือ เช่น Bvlgari
5. พลังงาน อิตาลีสนใจเรื่องพลังงานสะอาด และการค้นหาแหล่งก๊าซธรรมชาติ
6.แรงงาน นายกรัฐมนตรีอิตาลีเป็นฝ่ายหยิบยกขึ้นมา โดยทางอิตาลีมีความต้องการแรงงานเฉพาะฤดูที่เกี่ยวกับการเกษตร อยากสนับสนุนให้แรงงานเกษตรไทยเข้ามาทำงานที่ประเทศอิตาลี ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการแรงงานไทย ที่เป็นแรงงานที่มีคุณภาพทางด้านการเกษตร และรายได้สูงมาก ถือเป็นอีกทางเลือกให้กับพี่น้องเกษตรกรชาวไทย
ทั้งนี้ มีการพูดคุยเรื่องโครงการ Landbridge การขยายสนามบินซึ่งทางอิตาลีก็มีเทคโนโลยีที่อาจเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาได้ นายกรัฐมนตรีอิตาลีได้เสนอให้ทั้งสองประเทศมีการวางเป้าหมายที่ชัดเจนในการมานั่งคุยกัน และมีการเซ็น MOU ระหว่างภาคเอกชนกับภาคเอกชน หรือเอกชนกับรัฐบาล
นายกรัฐมนตรีเชิญนายกรัฐมนตรีอิตาลีเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ และเชิญชวนให้ไปเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ซึ่งทำให้อาจมีการเดินทางเยือนไทยในช่วงต้นปี 2568 โดยจะมีการนำนักธุรกิจร่วมเดินทางเพื่อจัดเป็น Business Forum
นอกจากนี้ ในวันที่ 1 ก.ค. จะมีการเปิดเที่ยวบินระหว่างกรุงเทพฯ - มิลาน และช่วงฤดูหนาวจะมีการเปิดเที่ยวบินระหว่างกรุงเทพฯ - โรม ถือว่าเป็นเรื่องการมีความเชื่อมโยงที่ดี เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีได้ ซึ่งคาดว่าสายการบินแห่งชาติของอิตาลีก็น่าจะสนใจในเรื่องนี้
นายกรัฐมนตรีย้ำว่า การเยือนสาธารณรัฐอิตาลีในครั้งนี้ ถือว่าสำเร็จเหนือความคาดหวัง เพราะมีการกำหนดขั้นตอนการทำงานอย่างชัดเจน ว่าอนาคตจะมีขั้นตอนอย่างไร จะทำอะไรบ้าง ซึ่งนายกรัฐมนตรีพอใจภาพรวมตลอดเวลาหลายวันที่ผ่านมามาก
นายกรัฐมนตรีเชื่อว่า ความเป็นกลางทางด้านการเมืองของไทยทำให้ไทยมีเสน่ห์ในสายตานานาชาติ เพราะการจะตัดสินใจย้ายฐานการผลิตเข้ามา เขาต้องมั่นใจว่าไทยจะสามารถส่งสินค้าได้โดยที่ไม่เป็นคู่ขัดแย้งกับหลาย ๆ ประเทศ การรองรับด้านพลังงานสะอาดก็เป็นเรื่องสำคัญ และชีวิตความเป็นอยู่ในประเทศไทย ทำให้ไทยมีเสน่ห์ดึงดูดให้มีนักลงทุนเดินทางมา
สำหรับเรื่องความกังวลในเรื่องประเด็นการเมืองภายในประเทศ นายกรัฐมนตรีย้ำว่าผู้นำทั้งสองประเทศไม่ได้กล่าวถึงประเด็นทางการเมืองไทยเลย แต่พูดถึงเรื่องธุรกิจ ฝ่ายอิตาลีมีความมั่นใจในประเทศไทยสูงมาก เป็นรัฐบาลที่มาตามระบอบประชาธิปไตยที่ถูกต้อง มีความชอบธรรม การเดินทางครั้งนี้เป็นทริปที่ 15 แล้ว ได้ไปปรากฏตัวในเวทีโลกหลายเวที และเน้นย้ำเสมอว่า ประเทศไทยเปิดแล้วสำหรับทำธุรกิจ และไม่มีโอกาสและช่วงเวลาไหนดีที่สุดที่จะมาลงทุนในไทยเท่าช่วงเวลาแล้ว